Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​ สำหรับสายแฟชั่นแล้วเมื่อพูดถึงภาพยนตร์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา น่าจะต้องเคยได้ยิน หรือ ได้รับชมกับภาพยนตร์ที่มีชื่อของแบรนด์เนมดังจากอิตาลีอย่าง House of Gucci กันมาบ้าง โดยภาพยนตร์นี้เป็นภาพยนตร์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องราวของครอบครัวผู้ก่อตั้งแบรนด์ GUCCI ขึ้นมา อีกทั้งเมื่อยิ่งอ่านยิ่งพบว่า "รูปแบบของครอบครัว" รวมไปถึง "การจัดการธุรกิจครอบครัวอิตาเลียน" มีความคล้ายคลึงการรูปแบบครอบครัวของไทยค่อนข้างมาก ทั้งข้อดี และ ข้อด้อย ทำให้เรื่องราวของธุรกิจครอบครัวนี้สะท้อนภาพปัญหาของธุรกิจครอบครัวของไทยได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว​




    • แบรนด์ GUCCI เริ่มต้นมาจากร้านเครื่องหนังเล็ก ๆ มีรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์จนสามารถกลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหมู่ชนชั้นสูง จึงมีการเติบโตอย่างรวดเร็วจนสามารถเข้าไปตั้งร้านในเมืองใหญ่ ก่อนที่จะประสบความสำเร็จจนกลายเป็น Global Brand ในช่วงการบริหารของทายาทรุ่นที่ 2
    • ช่วงทายาทรุ่นที่ 3 ต้องการปรับภาพลักษณ์ของแบรนด์ และเป็น Boutique ของตนเอง ทำให้เกิดความขัดแย้งภายในครอบครัวเป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวนั้นอยู่ในสภาพย่ำแย่ นอกจากนั้นยังมีข่าวฉาวต่าง ๆ จนส่งผลต่อภาพลักษณ์ของแบรนด์ในช่วงเวลานั้น
    • เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อหนึ่งในทายาทรุ่นที่ 3 ได้เข้ามารวบรวมกิจการครอบครัว เปลี่ยนบอร์ดบริหาร และ ฟื้นภาพลักษณ์ได้สำเร็จ
    • อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับอำนาจการบริหารสูงสุด ภาพลักษณ์แบรนด์ฟื้นฟูกลับมา แต่ด้านธุรกิจนั้นดูจะไปได้ไม่ดีนักทำให้มียอดขายขาดทุนที่มหาศาล จนสุดท้ายต้องมีการขายหุ้นให้กับนักลงทุนภายนอก กลายเป็นบทสุดท้ายของการบริหารแบรนด์ GUCCI (*) ภายใต้ครอบครัวตระกูลแฟชั่นนี้ในที่สุด

​​(*) ปัจจุบัน Gucci อยู่ภายใต้การบริหารของ Pinault-Printemps-Redoute หรือ PPR ที่เป็นเจ้าของแบรนด์หรูมากมายอย่าง Yves Saint Laurent , Boucheron หรือ Bottega Veneta นั่นเอง


คุณพิระพัฒน์ เหรียญประยูร
Managing Director – Wealth Planning and Non-Capital Market Head,
Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย

จากเรื่องราวปัญหาข้างต้นของครอบครัวตระกูลแฟชั่นนี้ คุณพิระพัฒน์ กล่าวไว้ว่ามันเป็น Classic Case ที่แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการธุรกิจที่มาในรูปแบบครอบครัว ซึ่งมีประเด็นที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น 3 ประเด็นใหญ่ ๆ ดังนี้


ไม่มีการวางแผน กำหนดบทบาทที่แน่ชัด

จากเรื่องราวที่กล่าวมานั้น จะเห็นได้ว่ารูปแบบการสืบทอดการบริหารจะเป็นแบบปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ส่งต่ออำนาจผ่านลูกชายคนโตโดยไม่ได้พิจารณาความเหมาะสม อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดบทบาทของสมาชิกคนอื่น ๆ ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ที่จะตามมา คือ
    • สมาชิกคนอื่น ๆ ไม่รู้สิทธิ์ของตน
    • ไม่มีระบบตรวจสอบผู้มีอำนาจในการบริหาร
    • เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม
    • เกิดความขัดแย้งในครอบครัวได้ง่าย
ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาต่าง ๆ จึงจำเป็นจะต้องมีการวางแผนในการจัดการทรัพย์สินของครอบครัว สร้างข้อกำหนด และ แบบแผนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่ทุกคนในครอบครัวได้เห็นพ้องต้องกันเพื่อลดความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งการวางแผนต้องมีการใช้เวลากว่าจะสามารถได้ข้อสรุปออกมาได้ ฉะนั้น ยิ่งเริ่มได้ไวเท่าไหร่ก็จะเป็นการลดความขัดแย้งได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น
* นอกเหนือจากนั้นในเรื่องราวของตระกูลแฟชั่นนั้นยังมีเหตุที่เกิดจากการให้สะใภ้เข้ามามีอิทธิพลในการทำงานของสามี และ กลายเป็นอีกปัญหาครอบครัวด้วย


ขาดกติกาของครอบครัว และ ความชัดเจนในการส่งต่อหุ้น

การขาดกติกาสำหรับสมาชิกในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการส่งต่อหุ้น ทำให้หุ้นตกไปอยู่ในมือของสมาชิกคนใดคนหนึ่งมากเกินไป ส่งผลให้สิทธิ์ของความเป็นเจ้าของรวมถึงการบริหารมีมากกว่าสมาชิกครอบครัวคนอื่น ๆ นอกจากนี้อาจจะทำให้สมาชิกในครอบครัวบางคนแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเองมากกว่าการทำประโยชน์เพื่อธุรกิจครอบครัวได้ ดังเช่น ตัวอย่างของแบรนด์ดังข้างต้นที่หนึ่งในทายาทมีการออกไปเปิดแบรนด์ย่อยของตนเองมาแข่งกับกงสีนั่นเอง
ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน หรือ การมีอำนาจในการบริหารที่ไม่เทียมกันของสมาชิกจึงควรมีการ “กำหนดกรอบกติกา” และ “กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นให้เท่า ๆ กัน” อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้หลายครอบครัวจึงเลือกการจัดการแบบกงสี ที่มีรูปแบบ คือ หากครอบครัวย่อยไหนมีการถือหุ้นมากกว่าก็จะถูกริบส่วนที่สูงเกินไปให้เป็นของกงสี เพื่อจำกัดสิทธิ์ในการบริหารให้อยู่ในสัดส่วนที่เท่า ๆ กัน (แต่ผลตอบแทนจะยังได้รับเท่ากับหุ้นที่ตนถือเพื่อความยุติธรรม)


มุ่งไปทิศทางเดียวกัน ด้วยการสร้างความผูกพันในครอบครัว

เรียกได้ว่าเมื่อครอบครัวมีขนาดใหญ่ขึ้น ความผูกพันของสมาชิกในครอบครัวก็จะค่อย ๆ จางหายไป ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอด และ เติบโตได้อย่างยั่งยืน จึงจำเป็นจำต้องมี 3 สิ่งเหล่านี้ ได้แก่
    • การรักษาคุณค่าของครอบครัว
    • ความสามัคคี
    • การสร้างเป้าหมาย และ การทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
นอกจากนี้การเตรียมความพร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ และ ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญ เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วมกัน 

​การวางกติกาครอบครัว จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกทุกรุ่น ดังนั้นคนกลางที่ทำหน้าที่ประสานทุกคนเข้าด้วยกัน จึงจำเป็นจะต้องมีประสบการณ์ในการวางแผนอย่างเป็นระบบ

เรียกได้ว่าเมื่อรับชมภาพยนตร์จบแล้ว ชวนให้มองย้อนกลับมาที่ตัวเอง โดยเฉพาะ ครอบครัวที่มีธุรกิจเป็นของตัวเอง ว่ามีสิ่งใดที่อาจจะเป็นข้อผิดพลาดเหมือนกับตระกูลแฟชั่นดังหรือไม่ หรือ มีสิ่งใดที่สามารถนำมาปรับใช้ให้ธุรกิจครอบครัวดียิ่งขึ้นได้นั่นเอง


กลับ