อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ย. 2560 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.86 YoY สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 8 เดือนแรกที่อยู่ที่ร้อยละ 0.56 และเป็นการเพิ่มขึ้นเดือนต่อเดือน เร่งตัวเร็วที่สุดในรอบ 66 เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2555 ตามการปรับขึ้นของค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าในหมวดพลังงาน รวมถึงราคาสินค้าในหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ยังมีหลายปัจจัยที่เข้ามาผลักดันราคาสินค้าบางกลุ่มให้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น
- ราคาทางด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น ตามทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วง 50-53 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ซึ่งนับเป็นระดับที่สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 47.9 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งจะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศ รวมไปถึงราคาก๊าซ LPG-NGV สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
- ค่าโดยสารสาธารณะมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทั้งค่าโดยสารรถไฟฟ้า BTS ที่ปรับขึ้น 1-3 บาท / คน / เที่ยวเดินทาง มีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีการให้สวัสดิการทางด้านการเดินทางโดยรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถโดยสารประจำทางไม่ปรับอากาศ และรถไฟชั้น 3 ที่แต่เดิมประชาชนทุกคนสามารถโดยสารฟรีได้ เปลี่ยนเป็นการหักมูลค่าออกจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย อาจส่งผลให้ดัชนีราคาสินค้าหมวดค่าโดยสารสาธารณะในตะกร้าเงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้น
- ผลของการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต อาจสะท้อนเข้ามาที่ดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในเดือน ต.ค. 2560 อีกบางส่วน
ผลจากปัจจัยเหล่านี้อาจผลักดันอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาสที่ 4 ให้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 1.0 ซึ่งคาดว่าผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตจำกัด เนื่องจากฝั่งของผู้บริโภคบางส่วนได้รับแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐในการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ซึ่งจะช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าได้ส่วนหนึ่ง อีกทั้งสภาวะตลาดในปัจจุบันยังทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย จึงคาดว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงไม่ปรับราคาสินค้าและบริการ ส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2560 ยังคงประมาณการไว้ที่ร้อยละ 0.8
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย