Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​

        ​ตำนาน เรื่องเล่าขาน ล้วนแล้วแต่อยู่คู่กับมนุษย์มาเนิ่นนาน ก่อให้เกิดประเพณี วัฒนธรรม และ เทศกาลมากมาย เช่นเดียวกับเทศกาลที่จะเกิดขึ้นในเดือนนี้ เทศกาลไหว้พระจันทร์ เทศกาลของชาวจีนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของจากตรุษจีน เป็นเรื่องราวเกี่ยวโยงกับเทพธิดาฉางเอ๋อ เทพธิดาแห่งจันทรา ซึ่งเนื้อหาจะแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่องเล่า หนึ่งในนั้นจะเป็นเรื่องเล่าในยุคของฮั่นเหวินตี้ แห่งราชวงศ์ฮั่น ได้ทรงพระสุบินว่า พระองค์ได้ขึ้นไปเทีย่วชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และ ได้พบกับพระนางฉางเอ๋อกำลังร่ายรำอย่างงดงาม สร้างความเกษมสำราญต่อพระองค์เป็นอย่างมาก ครั้นเมื่อตื่นจากบรรทมจึงโปรดให้สุบินนั้นเป็นความจริง ได้รับสั่งให้นางสนมแต่งตัวร่ายรำเลียนแบบเทพธิดา และจากนั้นก็ได้แพร่หลายไปสู่ราษฎร กลายเป็นประเพณีสืบต่อมา ซึ่งชาวจีนในอดีต โดยเฉพาะหญิงสาว จะสวดขอพรจากฉางเอ๋อ เพื่อขอให้มีความเยาว์วัย และ งดงาม


        นอกเหนือจากตำนาน เรื่องเล่าขาน ที่ก่อให้เกิดเป็นเทศกาลแล้ว เหล่าความเชื่อ ความศรัทธา ในบางอย่าง ยังส่งผลก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ และ กลายมาเป็นธุรกิจขึ้น เช่น ธุรกิจขนมไหว้พระจันทร์ หรือ ธุรกิจเครื่องรางของขลังมงคล ดังที่เคยเกิดเป็นกระแสในประเทศไทย เริ่มจากช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ในการเคารพบูชาเครื่องรางจตุคามรามเทพ ที่มาจากการพระราชทานเพลิงศพของอดีตนายตำรวจผู้ร่วมจัดสร้างวัตถุมงคลจตุคามรามเทพรุ่นแรก จนกลายเป็นแรงศรัทธาในการจับจองเช่าบูชา และ เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างเม็ดเงินในธุรกิจวงการพระเครื่องและวัตถุมงคลอย่างมากมายมหาศาล แต่ท้ายที่สุดแล้วกระแสนี้ก็จางหายลงในเวลาไม่นาน และ ช่วงไล่เลี่ยกัน ก็เกิดความนิยมเครื่องรางชนิดใหม่ขึ้นมา นั้นคือ 

        หินทิเบต หรือ หินภูเขาไฟ ซึ่งว่ากันว่า ผู้ที่นำเทรนด์นี้มาสู่ชาวไทยโดยไม่ตั้งใจ คือ สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังซุก แห่งภูฏาน จากการที่ทรงสวมเครื่องประดับหินทิเบต ในขณะที่ทรงเป็นมกุฏราชกุมาร และ เสด็จร่วมงานพระราชพิธีครองราชย์ 60 ปี ของในหลวงรัชกาลที่ 9 กลายเป็นจุดสนใจ และ นำไปสู่การศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ซึ่งอาจเรียกได้ว่า หินทิเบตนี่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านวัตถุมงคลมาเป็นเครื่องประดับนำโชคในประเทศไทย



        และเมื่อไม่นานมานี้กระแสเครื่องประดับเครื่องรางที่ถูกกล่าวถึงในโซเชี่ยลอย่างกว้างขวางในประเทศไทย ที่เรียกกันว่า “มูเตลู” หรือ สายมู ก็เริ่มมาจากคนดังจำนวนมากในวงการบันเทิงได้พากันสวมใส่สร้อยข้อมือที่เป็นตะกรุดเพื่อเสริมดวงชะตา และ มีการพูดคุยเกี่ยวกับความเชื่อนี้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นบรรดาดีไซน์เนอร์เครื่องประดับก็ได้ออกแบบเครื่องรางสายมูนี้ให้กลายเป็นเครื่องประดับ ให้ดูทันสมัย และ หลายระดับราคา พร้อมด้วยการกระจายต่อของความเชื่อ ทำให้ความนิยมของเครื่องรางชนิดนี้ขยายออกไปเป็นวงกว้าง

        นอกจากนี้การนำความเชื่อไปออกแบบให้กลายเป็นเครื่องประดับนั้น ต่างประเทศเองก็มีเช่นกัน อย่างที่สหรัฐฯ เคยมีกระแสนิยมใน “Evil Eye ที่เชื่อว่าเป็นเครื่องรางในการป้องกันอำนาจมืดจากสิ่งชั่วร้ายนานัปการ
        ความเชื่อเรื่อง Evil Eye อาจจะมีมานานแล้ว แต่ที่เป็นกระแสล่าสุดถูกจุดขึ้นโดยบรรดาเซเลบริตี ในวงการบันเทิงสหรัฐฯ อย่างเช่น คิม คาร์เดเชียน ที่ชอบสวมสร้อยคอ หรือ เครื่องประดับศีรษะที่มีสัญญลักษณ์ Evil Eye ขณะที่ จีจี้ ฮาดิค นางแบบสุดฮอตก็เปิดตัวรองเท้ารุ่น EyeLove ที่เป็นลวดลายดวงตาปีศาจ การปรากฏภาพตามสื่อต่าง ๆ โดยสวมใส่เครื่องประดับที่มีสัญลักษณ์ Evil Eye ของคนเหล่านี้ ล้วนดึงดูดความสนใจของประชาชนทั่วไปจนเกิดการเลียนแบบ และ ส่งผลให้สินค้าที่มีสัญลักษณ์ Evil Eye ไม่ว่าจะสร้อยข้อมือ สร้อยคอ หรือ พวงกุญแจ พลอยขายดี และ ได้รับความนิยมสูงตามไปด้วย



        จากที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้ว่ากระแสของเครื่องรางแนวแฟชั่น เป็นกระแสที่มาเร็วไปเร็ว ที่เรียกกันว่า Fad ซึ่งการจับธุรกิจสายนี้จะต้องระมัดระวังกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ด้วย เพราะ แม้ทางการตลาดที่เกี่ยวกับโชคลาง หรือ ที่เรียกว่า Superstitious Marketing จะสร้างโอกาสทางธุรกิจได้ไม่ยาก เนื่องจากมีแรงจูงใจในการซื้อ คือ เพื่อความสบายใจ กลุ่มลูกค้าต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจเพื่อปกป้องคุ้มครองให้ตนเองปลอดภัยจากสิ่งเลวร้าย แต่การเป็นกระแส Fad ไม่ใช่ Trend ก็จะเป็นกระแสเพียงสั้น ๆ เท่านั้น ดังนั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงต้องมีสัญชาตญาณของการเป็น Trend Setter มองทิศทางกระแสให้ออกว่า ไอเท็มไหนกำลังมา แล้วเข้าไปยึดตลาดทันที เพราะ การเป็น “ผู้บุกเบิก” ย่อมมีแต้มต่อที่เหนือกว่า สามารถโกยรายได้เนิ่นนานกว่า ในขณะที่ผู้ที่เข้ามาทีหลัง นอกจากเหนื่อยกับการแข่งขันแล้วยังต้องรีบทำเวลาก่อนที่กระแสจะถดถอยลงไป

        มากไปกว่านั้น มีธุรกิจมากมายที่เกาะเกี่ยวกับเรื่องของกระแส ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเครื่องรางของขลังเท่านั้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะต้องดูให้ออกด้วยความอะไร คือ Fad อะไรคือ Trend และ เลือกวางกลยุทธ์การตลาดให้สอดรับไปกับธุรกิจของตนเอง เพื่อที่ว่าจะสามารถวางเกมรุก รับ และ ถอยได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์

        บทความข้างต้นเป็นบทความของ Fad หรือ Trend จากเครื่องรางสู่เครื่องประดับนำโชค “สายมู” จาก นิตยสารออนไลน์ K SME INSPIRED และ ยังมีบทความน่าสนใจอีกมากมาย โดยท่านสามารถอ่านเนื้อหาเพิ่มเติมใน K SME INSPIRED ได้ ที่นี่

ที่มาตำนานเทศกาลไหว้พระจันทร์
กลับ