การเร่งตัวของโดยเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสที่ 4 ประจำปี 2560 ตามราคาพลังงานและผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต
ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกอยู่ที่ร้อยละ 0.66 โดยในเดือนพฤศจิกายน 2560 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.99 YoY เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อน ซึ่งเป็นผลมาปัจจัยราคาพลังงานและผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต นอกจากนี้ ยังเป็นผลมาจากการยกเลิกมาตรการรถเมล์และรถไฟฟรีที่ส่งผลให้คำนวณค่าโดยสารสาธารณะในตะกร้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวน่าจะยังส่งผลต่อเนื่องไปยังเดือนธันวาคม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2560 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 0.7
เนื่องจากราคาอาหารสดปรับตัวลดลงมากกว่าที่คาด แต่จากราคาพลังงานในประเทศที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงผลจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตก็เป็นปัจจัยที่เป็นแรงหนุนของเงินเฟ้อในปี 2560
ทิศทางอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 2561 คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 1.1 (กรอบประมาณการที่ร้อยละ 0.6 - 1.5)
ตามทิศทางราคาพลังงานและต้นทุนแรงงานที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลของปัจจัยฐานจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตในช่วงปลายปี 2560 ที่ยังสะท้อนเข้ามาในดัชนีราคาสินค้าผู้บริโภคในช่วงปี 2561
ทิศทางเงินเฟ้อในปี 2561 เร่งตัวขึ้นส่วนใหญ่มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของฝั่งต้นทุนทั้งพลังงานและแรงงาน มากกว่าจะเป็นผลจากความต้องการใช้จ่ายของผู้บริโภค
เพราะกำลังซื้อของผู้บริโภคในภาพรวมที่ยังถูกกดดันด้วยหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะที่รายได้ของครัวเรือนยังไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ภาพรวมการจ้างงานล่าสุดในเดือนตุลาคม 2560 ยังไม่ได้ส่งสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวดี ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันกำลังซื้อในภาพรวมไปอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ดี หากภาพเศรษฐกิจไทยสามารถรักษาระดับการเติบโตได้ดีต่อเนื่องและมีการกระจายการเติบโตให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้ภาพการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นตาม ซึ่งจะเป็นสัญญาณบวกต่อภาพกำลังซื้อในประเทศ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย