ช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออกไทยสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีของสหรัฐฯ หรือ GSP (Generalized System of Preferences) ทำให้สินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปยังสหรัฐฯ มีแต้มต่อในการทำตลาดได้ในระดับหนึ่ง แต่ขณะนี้เป็นช่วงรอยต่อที่ทางการสหรัฐฯ กำลังพิจารณาทบทวนการต่ออายุสิทธิ GSP ที่ให้แก่ประเทศต่าง ๆ จากรอบที่เพิ่งสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นปี 2560 ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าส่งออกจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เดิม รวมถึงไทย ต้องเผชิญอัตราภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติในช่วงการพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP ดังกล่าวของทางการสหรัฐฯ
ในปี 2561 นี้เป็นปีที่มีการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญกับประเด็นเศรษฐกิจในประเทศเป็นลำดับต้น ๆ ทำให้การพิจารณาต่ออายุสิทธิ GSP มีช่วงเวลาไม่ชัดเจนซึ่งมีความเป็นไปได้ใน 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 การขาดช่วงสิทธิ GSP เป็นการชั่วคราวของไทยไม่เกิน 6 เดือน ก็จะไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ในปี 2561
กรณีที่ 2 การขาดช่วงสิทธิ GSP กินเวลายาวนานออกไป อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในสินค้าบางประเภท
ดังนั้นการขาดช่วงสิทธิ GSP ที่ไม่ต่อเนื่องในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ในกลุ่ม GSP บางส่วนเผชิญความท้าทายระหว่างรอเวลาการต่ออายุสิทธิ GSP ดังนี้
กลุ่มสินค้าที่ไม่น่ากังวลนัก คือ เลนส์และถุงมือยาง เพราะไทยครองตลาดในสหรัฐฯ และไทยมีส่วนแบ่งตลาดทิ้งช่วงห่างคู่แข่งพอสมควร แม้ราคาสินค้าจะปรับเพิ่มขึ้นทันทีตามการเก็บภาษีที่ MFN แต่สินค้าไทยก็น่าจะยังไปได้
กลุ่มสินค้าที่มีความอ่อนไหวอย่างมาก เผชิญอัตราภาษี MFN ที่ค่อนข้างสูงทำให้ต้องปรับราคาเพิ่มขึ้นรุนแรง อีกทั้งไทยมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ค่อนข้างน้อย จึงมีความเสี่ยงที่ผู้นำเข้าสหรัฐฯ จะหันไปนำเข้าจากแหล่งอื่นทันที ได้แก่ กุญแจรถยนต์ มอเตอร์ อาหารปรุงแต่ง เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่เป็นเซรามิก วาล์วสำหรับยางใน ของที่ทำด้วยพลาสติก ลิ้นจี่กระป๋อง และแผงควบคุมไฟฟ้า เป็นต้น
กลุ่มสินค้าที่ต้องเฝ้าระวัง เพราะ คำสั่งซื้ออาจค่อย ๆ ลดลง ซึ่งขึ้นอยู่กับตัวสินค้าเป็นหลัก หากเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาสินค้าจากแหล่งอื่นมาทดแทนได้ยาก ก็มีโอกาสที่สินค้าไทยจะยังคงรักษาตลาดไว้ได้ แต่ถ้าหากเป็นสินค้ากลุ่มอุปโภคบริโภคที่มีส่วนแบ่งกำไรต่ำ ผู้ประกอบการนำเข้าทางฝั่งสหรัฐฯ อาจไม่สามารถแบกรับภาษีนำเข้าที่เพิ่มขึ้นได้ จนอาจจะตัดสินใจไปสั่งซื้อสินค้าจากแหล่งอื่นได้โดยง่าย
หากการต่ออายุสิทธิ GSP เป็นไปอย่างราบรื่นและรวดเร็วก็น่าจะช่วยขับเคลื่อนการส่งออกของไทยในภาพรวมไปสหรัฐฯ ในปี 2561 ให้มีภาพเติบโตต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงมุมมองเดิมว่า การส่งออกไปสหรัฐฯ น่าจะเติบโตที่ร้อยละ 5.3 มีมูลค่าการส่งออกราว 27,700 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการร้อยละ 4.8-5.8) แต่ถ้าการขาดช่วงของ GSP กินเวลายาวนานออกไป ก็อาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ร้อยละ 0.5 -1.0 ของคาดการณ์การส่งออก ซึ่งการเติบโตดังกล่าวอาจชะลอลงจากปี 2560 ที่มีฐานค่อนข้างสูงเพราะการส่งออกที่เร่งตัวตลอดปี โดยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เติบโตร้อยละ 8.1 (YoY) มีมูลค่าการส่งออก 24,335 ล้านดอลลาร์ฯ
โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มา: กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2894