Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​ เรียกได้ว่าในช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมากระแสความนิยมของ “Cryptocurrency” ภายในประเทศไทยนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเห็นได้จากบัญชีผู้ลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลภายในประเทศไทยในเดือนมกราคม 2565 เติบโตสูงขึ้นกว่า 300% เมื่อนับจากเดือนมีนาคมปีก่อนหน้า และ ส่วนใหญ่จะเป็นบัญชีประเภทบุคคลธรรมดา ทำให้เห็นได้ว่าประชาชนสนใจกับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่เพิ่งเข้ามาในตลาดไม่นาน อีกทั้งหลักเกณฑ์ และ วิธีในการลงทุนมีความแตกต่างไปจากสินทรัพย์ที่คุ้นเคยอย่าง หุ้น หรือ กองทุนรวมเป็นอย่างมาก ทำให้การเข้าลงทุน รวมไปถึงการวิเคราะห์ไม่สามารถใข้วิธีการมองปัจจัยพื้นฐาน หรือ ปัจจัยทางเทคนิคที่เคยใช้กันมาได้


ความรู้ที่จำเป็น เ​มื่อเทรดคริปโตฯ

        ดังนั้นการวิเคราะห์เพื่อที่จะเข้าลงทุนใน Cryptocurrency จะต้องมีความรู้ทางด้านการเงินควบคู่ไปกับความรู้ต่าง ๆ เช่น 
    • ความรู้ในการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ให้บริการ - ไม่ว่าจะเป็น Custodian ศูนย์รับฝาก Wallet 
    • ความรู้เรื่อง Coding – เพื่อสามารถอ่านเทคโนโลยี หรือ เงื่อนไขทางเทคนิคได้มากขึ้น ทำให้ช่วยประเมินโอกาสการเติบโตของเหรียญและการใช้งาน
นอกจากนี้ “กระแสข่าว” และ “ความเชื่อมั่น” เช่น การเข้าซื้อ - ขาย ของนักลงทุนรายใหญ่ หรือ ท่าทีของผู้ประกอบการรายใหญ่และทางการของแต่ละประเทศจึงมีผลต่อการเคลื่อนไหวของสินทรัพย์ประเภทนี้ และ เป็นเหตุทำให้ราคาของการลงทุนใน Cryptocurrency มีความผันผวนเป็นอย่างมาก


หลายประเทศยังคัดค้านสกุลเงินดิจิทัล

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาปัจจัยสำคัญต่อค่าเงิน Cryptocurrency คือ การที่หลาย ๆ ประเทศมีท่าทีต่อการลงทุน และ การซื้อ - ขาย แตกต่างกันออกไป โดยมีทั้งสนับสนุนสกุลเงินดิจิทัลนี้ ในขณะที่บางประเทศเองกลับมีท่าที่ไม่สนับสนุน ซึ่งมีตัวอย่างดังนี้

ตัวอย่างกลุ่มประเทศที่สนับสนุน
    • ​ประเทศเอลซัลวาดอร์ - เป็นชาติแรกที่อนุมัติให้สกุลเงิน “บิตคอยน์” สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ตัวอย่างกลุ่มประเทศที่ไม่สนับสนุน
    • ประเทศจีน – รัฐบาลได้ออกคำสั่งห้ามสถาบันการเงิน หรือ บริษัทที่ให้บริการชำระเงิน และ มีการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับ Cryptocurrency
    • ประเทศไทย – ธปท. เคยออกสัญญาณเตือนเกี่ยวกับการใช้สกุลเงินดิจิทัลประเภท Stablecoin(*) ที่อ้างอิง หรือ เทียบเท่าสกุลเงินบาท ว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
* Stablecoin คือ Cryptocurrency ประเภทหนึ่งที่มีการตรึงมูลค่า (peg) ไว้กับสินทรัพย์ที่มีความมั่นคง เช่น ทองคํา พันธบัตร สกุลเงินต่าง ๆ หรือ แม้แต่ Cryptocurrency ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น กําหนดให้ 1 เหรียญ stablecoin มีมูลค่าเท่ากับ 1 บาท
ทั้งนี้การสนับสนุน และ คัดค้านต่าง ๆ รวมถึงกฎหมายของแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency ยังมีความไม่แน่นอนสูง และ เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง 

ตัวอย่างท่าทีไม่สนับสนุนของทางการ​ประเทศต่างๆ ต่อคริปโทเคอร์เรนซี

​​ประเทศ​
ท่าทีการค้านกระแสค​ริปโทเคอร์เรนซี

จีน
​ห้ามสถาบันการเงิน และ บริษัทที่ให้บริการชำระเงิน ทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Cryptocurrency ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย การชำระหนี้ รวมไปถึงการออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน

​อินเดีย
​ห้ามประชาชน / นักลงทุน ทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Cryptocurrency เช่น ขุด ถือครอง ซื้อขาย หรือ ใช้แทนเงินสกุลท้องถิ่น

​ตุรกี
​ห้ามประชาชน / นักลงทุนทำธุรกรรมเกี่ยวกับ Cryptocurrency โดยเฉพาะบิตคอยน์ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขาย หรือ การใช้เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการ​

​มาเลเซีย
​ส่งสัญญาณเตือนประชาชน / นักลงทุน ว่าการใช้หรือการลงทุนใน Cryptocurrency มีความเสี่ยง และ ไม่สามารถนำมาชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย

​เวียดนาม
​เตือนประชาชน / นักลงทุนให้หลีกเลี่ยงการครอบครอง ซื้อขาย รวมถึงการใช้ Cryptocurrency เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง และ ไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

​อิหร่าน (*)
​ห้ามประชาชน/ นักลงทุนขุด Cryptocurrency

​ไทย
​ธปท. ไม่ต้องการเห็นสินทรัพย์ดิจิทัลใด ๆ ถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Means of Payment)
        * หมายเหตุ :  สาเหตุของการส่งห้ามประชาชน / นักลงทุนของทางการอิหร่าน อาจแตกต่างจากทางการในประเทศอื่น ๆ โดยการสั่งห้ามครั้งนี้ เป็นเพราะต้องการประหยัดพลังงาน เนื่องจากการขุดเหมือง Cryptocurrency จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก
ที่มา : รวมรวบโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย


ทิศทางของประเทศไทยต่อ Cryptocurrency

        อย่างไรก็ตามในประเทศไทยนั้นเพิ่งได้มีประกาศเกี่ยวกับการเก็บภาษี Cryptocurrency เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมาจากทางกรมสรรพากร ซึ่งเป็ฯปัจจัยสำคัญที่นักลงทุนไทยต่างจับตามอง โดยหลัก ๆ แล้วประกาศดังกล่าวจะครอบคลุมอยู่ 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 

    • สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกำไรในปีภาษีเดียวกันได้
    • ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย กรณีที่สามารถระบุตัวตนผู้รับเงิน หรือ ไม่ทราบผลกำไรจากการลงทุนของผู้ลงทุน
    • ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

สำหรับแนวทางการปฏิบัติทางด้านภาษีต่าง ๆ นั้นจะเกิดขึ้นภายใต้การทำธุรกรรมผ่านทางผู้ประกอบการธุรกิจ ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน ก.ล.ต. และ สินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เท่านั้น (เช่น Zipmax หรือ Bitkub เป็นต้น) 

​ในประเทศไทยกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ Cryptocurrency อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ซึ่งจะเข้ามากำกับดูแลธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล


คำแนะนำการลงทุนจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย​

        ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประกาศการเก็บภาษี Cryptocurrency ก่อนหน้านี้นั้น ได้มีการคลายความกังวลในประเด็นของการหักภาษี ณ ที่จ่าย และ การคิดผลกำไรเพื่อคำนวนภาษี ให้เหล่านักลงทุนที่ให้ความสนใจ อย่างไรก็ตามแม้ว่า Cryptocurrency จะเข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ในการลงทุน แต่โดยปัจจุบันแล้ว Correlation ของ Cryptocurrency เช่น Bitcoin หรือ Ethereum ไม่ได้มีทิศทางที่ชัดเจนเมื่อเที่ยวกับหุ้น (ดังภาพประกอบที่ 1) ดังนั้นการจะนำ Cryptocurrency มาจัดพอร์ทเพื่อเพิ่ม หรือ ลดความเสี่ยงของการลงทุนจึงอาจจยังทำได้ไม่ชัดเจนนัก 


ภาพประกอบที่ 1 : Correlation ของ Cryptocurrency 
ที่มา : กลต.

อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นสินทรัพย์ที่ใหม่มาก นักลงทุนจำนวนไม่น้อยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจมากพอ ประกอบกับระดับราคาที่ผันผวน และ ปัจจัยอื่น ๆ ข้างต้นที่เข้ามาเกี่ยวข้องทำให้การลงทุนทางเลือกนี้อาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่คาดหวังได้ทุกครั้งไป ดังนั้นผู้ที่สนใจลงทุนจึงไม่ควรเข้ามาลงทุนเพียงเพราะตามกระแส แต่ควรจะต้องศึกษาลักษณะของสินทรัพย์ที่เลือกไว้อย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจถึงความเสี่ยง และ เงื่อนไขเฉพาะของการลงทุน เพราะโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงนั้น ก็มาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากเช่นกัน
ผู้เขียน
นางสาวจิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย​




กลับ