Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

        ​​​​​ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2564 ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างกว้าง แต่มีทิศทางอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 หลายระลอกมีผลกระทบต่อปัจจัยพื้นฐานของค่าเงิน ทั้งในมิติของความเปราะบางทางเศรษฐกิจและความอ่อนแอของสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด ทั้งนี้ นับจากต้นปี 2564 เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบประมาณ 29.84-33.99 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ตุลาคม 2564) โดยอ่อนค่าลงประมาณ 10% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ สหรัฐฯ นับเป็นสกุลเงินที่อ่อนค่ามากที่สุดในเอเชีย



2 ประเด็นจากนอกประเทศ ที่นักลงทุนต้องจับตา 
        จุดจับตาสำคัญในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2564 จะอยู่ที่ 2 ประเด็นหลัก ๆ คือ 
      • ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ต่อมาตรการซื้อสินทรัพย์ (หรือ มาตรการ QE) 


        เหตุการณ์สำคัญที่ต้องติดตาม คือ การประชุมนโยบายการเงินของเฟดในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมีการประกาศแนวทางการลดวงเงินซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE อย่างเป็นทางการ โดยอาจเริ่มการทยอยลดการซื้อพันธบัตร และ MBS รวมกันเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งก็น่าจะทำให้กระบวนการ QE Tapering สิ้นสุดลงในช่วงกลางปี 2565 ทั้งนี้สัญญาณการถอนตัวออกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินดังกล่าวเป็นปัจจัยที่อาจหนุนให้เงินดอลลาร์ฯ มีทิศทางแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี ตลาดน่าจะปรับตัวรับรู้ข่าวไปค่อนข้างมากพอสมควรแล้ว ซึ่งทำให้โอกาสการอ่อนค่าเพิ่มเติมของเงินบาทในระยะข้างหน้าจะขึ้นอยู่กับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และข้อมูลตลาดแรงงานจะออกมาดีกว่าคาดหรือไม่เพียงใด

      • ​​​ทิศทางเม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ 


        ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ COVID-19 และ แนวโน้มการทยอยฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจไทย ในกรณีที่ทางการสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของไวรัสได้ จนทำให้ความเสี่ยงในเรื่องนี้ลดระดับลงมาอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสามารถเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ของประเทศได้ตามแผน รัฐมีการทยอยคลายล็อกเศรษฐกิจ และ มีการเปิดประเทศก็คงมีผลหนุนให้มีการไหลกลับมาบางส่วนของกระแสเงินลงทุนจากต่างชาติท่ามกลางความหวังต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ คาดว่าจะหนุนให้เงินบาทเคลื่อนไหวในฝั่งที่แข็งค่าขึ้นได้


ไทยเปิดประเทศ ประเด็นสำคัญ​ที่ต้องตามติด
        ประเทศไทยจะเริ่มเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ซึ่งจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้วเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าน่าจะช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 นี้ ขยับขึ้นมาที่ 1.8 แสนคน จากเดิมคาดการณ์ที่ 1.5 แสนคน แม้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ได้เปลี่ยนภาพ และ มุมมองต่อเศรษฐกิจ แต่มาตรการดังกล่าวจะเป็นหมุดหมายสำคัญที่สะท้อนถึงความพยายามจากทุกภาคส่วนที่จะพลิกฟื้นภาคการท่องเที่ยวให้กลับมาเดินหน้าต่อได้ นอกจากนี้หากเหตุการณ์ต่าง ๆ มีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะเป็นส่วนที่จะปูทางไปสู่การฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวในปีหน้า 

ศูนย์วิจัยฯ ประเมินค่าเงินบา​ทยังคงผันผวน
        ทั้งนี้ ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น ประเมินว่า ค่าเงินบาทจะยังมีกรอบการเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวนตลอดช่วงที่เหลือของปี 2564 โดยเงินบาทอาจเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 32.75 - 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ดังนั้นแล้ว สำหรับมุมของผู้ประกอบการทั้งส่งออก - นำเข้า การปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นเรื่องสำคัญ โดยอา​จต้องพิจารณาทยอยทำสัญญาฟอร์เวิร์ดเพื่อให้รู้ถึงกระแสรายได้และต้นทุนในรูปเงินตราต่างประเทศที่แน่นอน และ เพื่อจำกัดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับกำไรของภาคธุรกิจ เพราะแม้จะไม่สามารถควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่สามารถบริหารจัดการให้ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันแปรของค่าเงินให้ลดน้อยลงได้

ผู้เขียน
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ (นักวิจัย)
จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

กลับ