Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​​​จุดหมาย คือ ลดความเหลื่อมล้ำในประเทศจีน


ในช่วงที่ผ่านมาคำกล่าวว่า “Common Prosperity” หรือ นโยบายเจริญรุ่งเรืองร่วมกันของจีนได้ถูกพูดถึงเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก หลังทางการจีนได้ประกาศนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ โดยข้อมูลจากทางการจีนระบุว่ารายได้ของคนเมืองมากกว่าคนในชนบทถึง 2.5 เท่า ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างครอบคลุม เป้าหมายดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 14 (2564 – 2568) ที่เริ่มใช้ปีนี้เป็นปีแรกเพื่อวางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจจีนในรูปแบบใหม่ มุ่งเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืนมากกว่าการเติบโตเชิงปริมาณ

จีนออกกฎหมายและเข้าควบคุมธุรกิจต่าง ๆ 

ทางการจีนได้เพิ่มบทบาทในการออกกฎหมายและควบคุมธุรกิจต่างๆ  โดยเริ่มขึ้นอย่างเด่นชัดเมื่อช่วงปลายปี 2563 ที่ทางการจีนสั่งระงับการขายหุ้น IPO ของผู้ให้บริการ
ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่นแห่งหนึ่ง เนื่องจากความกังวลเรื่องการปล่อยสินเชื่อรายย่อยผ่านแอปพลิเคชั่นที่เติบโตอย่างรวดเร็วว่าอาจกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของจีน ขณะที่ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทางการจีนได้เริ่มขยายขอบเขตการออกกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการศึกษา โดยกำหนดให้ธุรกิจกวดวิชา ติวเตอร์ และ แพลตฟอร์มให้บริการคอร์สเรียนเปลี่ยนเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และ ล่าสุดมีการหารือกับบริษัทเกมส์ของจีนในการกำหนดแนวทางปฎิบัติเพื่อยุติการมุ่งเน้นกำไรและให้ความสำคัญกับคุณภาพของเยาวชนเป็นหลัก ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลกระทบกับหุ้นกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยี / เกมส์ของจีนให้ผันผวนเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา 



ที่มา: Bloomberg​

3 กลุ่มธุรกิจหลักที่ต้องเฝ้าระวังในการลงทุน

        ในระยะข้างหน้า สามกลุ่มธุรกิจที่สำคัญที่ทางการจีนจะดูแลปรับเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่ 
  • กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เพื่อป้องกันการผูกขาดของกลุ่มทุน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับข้อมูล ให้สอดรับกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PIPL) ที่ผ่านสภาประชาชนแห่งชาติจีนไปเมื่อวันที่ 20 ส.ค. 64 
  • กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของประชาชน ภาระค่าใช้จ่ายหลัก อันได้แก่ การศึกษา อสังหาริมทรัพย์ และ บริการทางการแพทย์ จะถูกกำกับดูแลโดยทางการมากขึ้นทั้งแง่ของการตั้งราคาและการแสวงหาผลกำไร โดยเฉพาะธุรกิจบริการทางการแพทย์ ที่คาดว่าจะเป็นอุตสาหกรรมต่อไปที่ทางการจีนจะเข้าไปดูแล สอดรับกับนโยบายลูก 3 คน ของจีนที่หวังให้ประชากรมีบุตรมากขึ้น โดยการลดภาระค่าใช้จ่ายของครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาโครงสร้างประชากรจีนและปัญหาความเหลื่อมล้ำ 
  • กลุ่มธุรกิจที่ไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน อาทิ กลุ่มธุรกิจที่มีการปล่อยมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมที่สูง กลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่ยั่งยืน


ผลกระทบระยะสั้น – ยาว ของการลงทุนในจีน

        เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะสามารถเติบโตได้ 8.0 - 8.5% ในปี 2564 ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับภูมิภาค และ เป็นการเติบโตที่สูงกว่าตัวเลขที่ระบุไว้ในแผนพัฒนา ฉบับที่ 14 (ซึ่งระบุไว้ที่ 6%) ดังนั้น ความพยายามของจีนในการออกมาตรการต่าง ๆ มาควบคุมและจัดระเบียบเศรษฐกิจใหม่ อาจสร้างความผันผวนให้ตลาดในระยะสั้น โดยนักลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวังใน 3 ขอบเขตธุรกิจที่กล่าวไปข้างต้น ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์ด้านความมั่นคงและแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมพลังงานสะอาด อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเข้มข้นยังมีความน่าสนใจ ขณะที่ในระยะยาวหากทางการจีนสามารถจัดระเบียบเป็นไปในระดับที่เหมาะสม และหาสมดุลระหว่างการควบคุมและการส่งเสริมด้านนวัตกรรมได้ เชื่อว่าจะเป็นผลดีในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

ผู้เขียน 
พลอยไพลิน เกียรติสุรนนท์ (นักวิจัย) 
จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย




กลับ