Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

       ​​​​ ​ผ่านมาแล้วกว่า 1 ปีครึ่ง ตั้งแต่มีการระบาดของ COVID-19 ซึ่งแต่ละประเทศได้มีแผนจัดการ และ การควบคุมที่แตกต่างกันไป รวมถึงมีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน  เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ย มาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) รวมถึงใช้นโยบายการคลังเข้ามาเพื่อเยียวยา และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ จนในช่วงปลายปี 2563 ที่วัคซีน COVID-19 เริ่มได้รับการอนุมัติขึ้นทะเบียนการใช้ฉุกเฉิน ทำให้หลายประเทศที่เริ่มมีการระดมฉีดวัคซีนในอัตราที่รวดเร็วจึงเริ่มมีแนวโน้มทิศทางเศรษฐกิจ และ สถานการณ์ COVID-19 ภายในประเทศที่กลับมาดีขึ้น เช่น อิสราเอล และ สหรัฐฯ โดยจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัว แม้ในช่วงเดือน ก.ค.64 ที่ผ่านมาจะเริ่มเห็นการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าแต่ประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับสูงยังมีแนวโน้มรุนแรงน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่บางประเทศโดยเฉพาะในโซนเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดรุนแรงทำให้มาตรการควบคุมการระบาดถูกนำกลับมาใช้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่อเนื่องจากปีก่อน 



สหรัฐฯ เตรียมปรับแผนนโ​ยบาย หลังสามารถดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจได้ปกติ

        “สหรัฐฯ” เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอย่างรวดเร็ว ล่าสุดสามารถบรรลุเป้าหมายในการฉีดวัคซีนต้าน COVID-19 อย่างน้อย 1 โดสให้แก่ชาวอเมริกันซึ่งเป็นผู้ใหญ่จำนวน 70% ของประชากร แม้ปัจจุบันมาตรการควบคุมการระบาดที่สหรัฐฯ เริ่มผ่อนคลาย เช่น การยกเลิกการสวมใส่หน้ากาก กำลังจะถูกนำกลับมาใช้หลังมีการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้น แต่หัวหน้าคณะทำงานด้านการควบคุมโรค COVID-19 ออกมาระบุว่า แม้จำนวนผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า แต่สถานการณ์จะไม่รุนแรงเท่ากับในปีก่อน (มีรายงานที่ระบุว่า จำนวนผู้ป่วยที่ถูกส่งตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล และ จำนวนผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มของคนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน)  โดยมองว่า
  • สหรัฐฯ มีจำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนมากเพียงพอแล้วจนอาจจะไม่ต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อีก แต่มาตรการการสวมใส่หน้ากากยังมีความจำเป็น บ่งชี้ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจหลัก ๆ สามารถดำเนินได้ปกติ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นอยู่ที่ 63.4 ในเดือน ก.ค. จากระดับ 62.1 ในเดือน มิ.ย. ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับขยายตัว (50) 
  • อัตราเงินเฟ้อยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือน ก.ค. จาก 3.4% 
  • ตลาดแรงงานของสหรัฐฯ ยังไม่สามารถกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิด COVID-19 ได้ แต่เริ่มส่งสัญญาณขยายตัวแข็งแกร่งโดยในเดือนก.ค. ซึ่งอัตราการว่างงานปรับลดลงอยู่ที่ 5.4% โดยอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวต่อเนื่องจนอยู่เหนือระดับเป้าหมายที่ 2% และ ตลาดแรงงานที่เริ่มฟื้นตัวแข็งแกร่ง 

        ส่งผลให้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า Fed อาจการปรับลดวงเงินในโครงการ QE เร็วกว่าคาดการณ์เดิม รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ Fed เริ่มมีการออกมาส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะปรับลดวงเงิน QE ในช่วงเดือน ต.ค. ของปีนี้ อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยจะยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไปจนถึงกลางปีหน้า 
อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี่ที่ Fed ยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องของนโยบายการเงิน อาจทำให้มีผลกระทบต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของไทย (Fund Flow) ซึ่งเห็นได้จากช่วงที่เริ่มมีการส่งสัญญาณปรับลดวงเงินในโครงการ QE นั้น เป็นปัจจัยสำคัญกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ล่าสุดทางธนาคารกสิกรไทยได้ปรับประมาณการค่าเงินบาทของไทย ณ สิ้นปี 2564 อยู่ที่ 32.75 จาก 30.50 บาทต่อดอลลาร์ (ประเมินในเดือนมิ.ย. 2564)  

สห​ราชอาณาจักร ปรับลด QE และออกมาตรการคลายล็อกดาวน์

        ในฝั่งยุโรป อัตราการฉีดวัคซีนเป็นไปอย่างรวดเร็วเช่นกัน โดยเฉพาะในสหราชอาณาจักรมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อย 1 โดส อยู่ที่ 69.3% (ณ 8 ส.ค.64)  ซึ่งใกล้เคียงกับในสหรัฐฯ ล่าสุดทางสหราชอาณาจักรได้ออกมาตรการคลายล็อกดาวน์ (Freedom Day) ในวันที่ 19 ก.ค. 64 ที่ผ่านมา แม้จะมีจำนวนผู้ติดเชื้ออยู่ในระดับสูงจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าแต่อัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำกว่าการระบาดในระลอกก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารดำเนินได้ปกติสะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นที่ 2.4% ซึ่งอยู่เหนือเป้าหมายของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ส่งผลให้ในการประชุม BoE ล่าสุดมีแถลงการณ์ถึงแผนการปรับลด QE ว่าจะเริ่มปรับลดวงเงิน QE เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.5% และ จะเริ่มขายพันธบัตรที่ถือครองอยู่ออกไปเมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.0% (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 0.1%) บ่งชี้ว่าการดำเนินนโยบายการเงินจะเริ่มส่งสัญญาณการเปลี่ยนทิศทางมากขึ้นหลังเศรษฐกิจขยายตัวแข็งแกร่ง 


ที่มา: International Monetary Fund 



ฝั่งเอเชียยังน่าเป็นห่วง จีน​สั่งล็อคดาวน์บางจังหวัดเพิ่มเติม

        ขณะที่ภาพในฝั่งเอเชียมีความแตกต่างออกไป โดยญี่ปุ่นเผชิญการระบาดของ COVID-19 ค่อนข้างรุนแรง มีการประกาศภาวะฉุกเฉินในจังหวัดที่เสี่ยงต่อเนื่องมาตั้งแต่ เม.ย.64 ​จนถึงปัจจุบันมีการขยายออกไปจนถึงสิ้นเดือน ส.ค.64 จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาเป็นปกติ สะท้อนผ่านดัชนี PMI ภาคบริการและการผลิตในเดือน มิ.ย.64 ที่อยู่ที่ 48.9 ซึ่งเป็นระดับต่ำกว่าอัตราการขยายตัว (50) โดยเศรษฐกิจญี่ปุ่นในช่วงครึ่งหลังของปียังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดว่าจะเริ่มดีขึ้น และ กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติได้เมื่อไร 
        ในฝั่งของจีน แม้ในช่วงครึ่งปีแรกจะสามารถจัดการสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ได้ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัวลงจาก

  • ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนในเดือน ก.ค. อยู่ที่ 50.4 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน โดยได้รับปัจจัยกดดันจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 
  • ธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราส่วนความต้องการสำรอง (RRR) สำหรับธนาคาร โดยปล่อยสภาพคล่องระยะยาวประมาณ 1 ล้านล้านหยวน (1.54 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 

        นอกจากนี้ในช่วงต้นเดือน ส.ค. จีนได้เผชิญกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า และ มีการล็อกดาวน์ในบางจังหวัดเพื่อทำการควบคุมการระบาด ทั้งนี้ จีนน่าจะควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ได้อย่างรวดเร็ว และ ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการใช้จ่ายในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

คำแนะนำสำหรับนักลงทุ​น

        ในภาพรวมของเศรษฐกิจโลกคาดว่าได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในปี 2563 และแม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แต่การที่เศรษฐกิจหลักได้กระจายวัคซีนให้ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจหลักจะเข้าสู่ภาวะถดถอยจากผลกระทบของการแพร่ระบาดจึงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของแต่ประเทศจะแตกต่างกันไปตามแต่ละประเทศซึ่งขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาด อัตราการฉีดวัคซีน รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ภายในประเทศนั้น ๆ ซึ่งระดับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีผลต่อการดำเนินนโยบายการเงิน และ ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาวะตลาดเงินและตลาดทุน เช่น การลดปริมาณการซื้อสินทรัพย์ของสหรัฐฯ อาจทำให้ความน่าสนใจของทองคำลดน้อยลง เป็นต้น ดังนั้นการติดตามสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องจะช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ทัน และ ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม 

จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


กลับ