Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​        สถานการณ์ COVID-19 ระลอกที่ 3 ในประเทศที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นเดือน เม.ย. และยังคงมีการระบาดเป็นคลัสเตอร์อยู่หลายจุด ในขณะที่ภาครัฐได้มีการดูแลผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากการออกมาตรการเพื่อช่วยเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 โดยจะเริมดำเนินการในเดือน ก.ค. และ สิ้นสุดในเดือน ธ.ค. 2564 มีทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่ โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม โครงการเพิ่มกำลังซื้อแก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และ ผู้ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ รวมถึงโครงการใหม่ที่มีเป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีเงินออมอย่างโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ 


        เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 พบว่ามาตรการต่าง ๆ มีความต่อเนื่องมาจากช่วงปีก่อนทั้งโครงการคนละครึ่ง และ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดย "โครงการคนละครึ่งระยะที่สาม" มีการขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นแต่หลักการต่าง ๆ ยังคงเป็นการที่ภาครัฐช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ 50% และ ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน แบ่งเป็นสองช่วง คือ ก.ค. - ต.ค. จำนวน 1,500 บาท และ ต.ค. - ธ.ค. จำนวน 1,500 บาท รวมวงเงินทั้งสิ้น 3,000 บาท 

        ขณะที่โครงการ “ยิ่งใช้ยิ่งได้” เป็นโครงการใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในปีนี้เป็นโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านผู้มีเงินออมโดยเน้นให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่ใช้จ่ายผ่านผู้ให้บริการที่จดทะเบียน VAT ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับโครงการช้อปดีมีคืนในปีก่อน แต่แตกต่างกันที่โครงการช้อปดีมีคืนจะได้รับสิทธิประโยชน์ตามฐานภาษี ส่วนโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้จะได้รับเป็น e-voucher ตามจำนวนเงินที่ใช้จ่าย (สูงสุดยอดใช้จ่ายไม่เกิน 60,000 บาท ได้รับ e-voucher คืน 15%) 

เปรียบเทียบมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และ 256​4

ที่มา : แถลงข่าวกระทรวงการคลัง, รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

        ในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีเริ่มในช่วงเดือน ต.ค. ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายวันในระดับหลักหน่วย ธุรกิจและประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ อยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมามีส่วนช่วยให้ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี โดยในไตรมาส 4/2563 ขยายตัวที่ 0.9% 
ขณะที่ในปัจจุบันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเริ่มต้นขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดระลอก 3 ที่ยังไม่จบ จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับไม่ได้มีการออกมาตรการการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่ยังไม่ฟื้นตัวดีการระบาดในระลอกที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบซ้ำจากการระบาดในระลอกนี้

KR คาดมาตรการรัฐหนุนกำลังซื้อครัวเรือน
        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐในรอบนี้ครอบคลุมประชากรกลุ่มเป้าหมายจำนวนเพิ่มขึ้นและ จะเข้ามาช่วยประคับประคอง รวมถึงช่วยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือนไม่ให้หดตัวจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทั้งในส่วนของ
      • รายได้ที่ปรับตัวลดลง
      • ภาวะการจ้างงานที่มีแนวโน้มเปราะบาง 
      • รวมถึงภาระค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น
        ทั้งนี้มาตรการต่าง ๆ ที่ออกมาจะส่งผลบวกต่อกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน ส่วนหนึ่งยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 รวมถึงความคืบหน้าในการฉีดวัคซีนภายในประเทศ ที่เริ่มฉีดมาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. และ ปูพรมฉีดทั่วประเทศในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา



วัคซีน ตัวช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย
        ​เรียกได้ว่า “วัคซีน” เป็นตัวแปรสำคัญในการพลิกฟื้นสถานการณ์อย่างแท้จริง โดยในปัจจุบันตั้งแต่การปูพรมฉีด 7 มิ.ย. – 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีอัตราการฉีดเฉลี่ยอยู่ที่ 280,000 โดสต่อวัน หากสามารถรักษาอัตราการฉีดวัคซีนต่อวันให้เป็นไปในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์การระบาดที่คาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นในเดือน ก.ค. ก็น่าจะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของครัวเรือน และ ธุรกิจ ซึ่งในจังหวะสถานการณ์ดังกล่าว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่น ๆ น่าจะทยอยตามมา โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว 

        โดยสรุปแล้วปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจรวมถึงผลของมาตรการจากภาครัฐยังคงเป็นสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และ อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งยังคงต้องติดตามมาตรการควบคุมและแผนการจัดหาและการกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่นอนภายในประเทศ อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมองภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ตามคาดการณ์ตามเดิมที่ 1.8%

จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อบถามข้อมูลการลงทุน หรือ ผลิตภัณฑ์ธนาคารเพิ่มเติมได้ง่าย ๆ 
เพียง​​​สมัครบริการเพื่อรับสิทธิ์บน 

​​​​



กลับ