Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​​​​​​​จิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ (นักวิจัย) 

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด


        วัคซีน COVID-19 กลายเป็นตัวแปรที่สำคัญต่อทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก ซึ่งในปัจจุบันการแจกจ่ายวัคซีนในต่างประเทศเริ่มมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยได้มีการแจกจ่ายไปแล้วถึง 78 ประเทศ นอกจากนี้บริษัทอื่น ๆ ที่กำลังพัฒนาวัคซีน ทั้ง Novavax และ Johnson&Johnson เริ่มทดลองในมนุษย์แล้วออกมามีประสิทธิผลค่อนข้างดี หากสำเร็จจะช่วยให้กำลังการผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเชื้อไวรัสได้เริ่มมีการกลายพันธุ์และมีการแพร่กระจายของสายพันธ์ใหม่มากขึ้น ส่งผลต่อการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในระยะข้างหน้า จึงต้องติดตามต่อว่าวัคซีนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะสามารถป้องกันการกลายพันธุ์ของไวรัสได้หรือไม่ หรืออาจต้องใช้จำนวนโดสที่เพิ่มขึ้น

สหรัฐฯ เร่งออกนโยบาย แ​ละ กระจายวัคซีนเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด พร้อม ๆ กับมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในสหรัฐฯ หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ได้มีการใช้คำสั่ง Executive order ในหลากหลายด้าน รวมถึงมีแผนการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น ร้อยละ 9.0 ของ GDP พร้อมทั้งการเริ่มโครงการ 100 Days Masking Challenge กระตุ้นการสวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่อง เว้นระยะห่างเพื่อลดอัตราการติดเชื้อ 
       ล่าสุดประชากรสหรัฐฯ ได้รับวัคซีนในอัตราที่เร็วขึ้น โดยปัจจุบันมีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ  2 โดสแล้วเป็นจำนวนร้อยละ 4.7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด (ข้อมูลจาก Bloomberg Vaccine Tracker) โดยจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯ เริ่มปรับลดลง ขณะที่สหภาพยุโรป (European Union) มีประชากรที่ได้รับวัคซีนครบ 2 โดสแล้วคิดเป็นร้อยละ 1.7 (ข้อมูลจาก Bloomberg Vaccine Tracker) โดยล่าสุดจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันเริ่มมีสัญญาณลดลง แม้จะเห็นความคืบหน้าในเรื่องของวัคซีนแล้ว แต่ยังคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะจนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ที่จะช่วยหยุดยั้งการระบาดจะสามารถเกิดขึ้นเมื่อประชากรจำนวนราวร้อยละ 40 ถึง 60 ได้รับวัคซีน 

คาดการณ์ปี 64 เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจปรับตัวขึ้นได้ถึง ร้อยละ 5.1 จากมาตรการกระตุ้น และ แผนการกระจายวัคซีน

        ในปี 64 เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นแรงจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐของรัฐบาลทรัมป์ โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาปรับเพิ่มการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ที่ร้อยละ 5.1 (จากร้อยละ 3.1) ในการประมาณการครั้งก่อน นอกจากนี้แผนการกระจายวัคซีนที่ทำให้ได้ระยะเวลารวดเร็วขึ้นจะยิ่งสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะที่เศรษฐกิจในยูโรโซนมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน โดย IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในยูโรโซนจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2 
        อย่างไรก็ตาม เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของของ COVID-19 ที่มีการกลายพันธ์ และ แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ในขณะที่วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งทำให้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและธนาคารกลางของแต่ละประเทศจึงยังคงมีความจำเป็นต่อเนื่อง

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 63 ดีกว่าที่คาด และ ปี 64 คาดการณ์ขยายตัวร้อย​ละ 2.6

        ด้านเศรษฐกิจในประเทศ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 หดตัวที่ร้อยละ 6.1 ซึ่งหดตัวน้อยกว่าที่คาด ได้รับปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นหลัก ในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 (กรอบประมาณการที่ ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 4.5) โดยมีสมมติฐานว่าแผนการแจกจ่ายวัคซีนเป็นไปตามคาดการณ์ส่งผลให้สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ในไตรมาส 4 ปี 64 
        การแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่จะส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยใช้เวลามากขึ้น  ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวยังมีความเสี่ยงที่จะปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะเพิ่มความเปราะบางให้กับตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูของภาครัฐมีส่วนช่วยประคองภาวะการครองชีพของครัวเรือน และยังมีความจำเป็นอย่างต่อเนื่องจนกว่าวัคซีนจะเข้ามามีบทบาทให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึงปลายปีนี้เป็นอย่างน้อย

อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้​น

แม้ว่าเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยง นโยบายการเงินทั่วโลกยังมีแนวโน้มผ่อนคลาย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับเดิมตลอดทั้งปี แต่ในระยะข้างหน้าอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากที่อัตราผลตอบแทนของตลาดพันธบัตรในสหรัฐฯ ระยะกลางถึงยาวอาจมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และ ปริมาณพันธบัตรรัฐบาลไทยที่จะออกมาเพิ่มขึ้นเพื่อระดมทุนสำหรับมาตรการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ 
        โดยธนาคารกสิกรไทยมีมุมมองว่า ในปี 64 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ร้อยละ 1.4 (จากร้อยละ 0.94 ในปี 63) และ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยจะอยู่ที่ร้อยละ 1.5 (จากร้อยละ 1.28 ในปี 63) ดังนั้นต้นทุนการระดมทุนในระยะกลางถึงยาวดังกล่าว หรือ ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้น การบริหารต้นทุนทางการเงินจึงเป็นอีกโจทย์สำคัญสำหรับภาคธุรกิจในปีนี้




กลับ