Display mode (Doesn't show in master page preview)
Skip Ribbon Commands
Skip to main content

​        ภาพรวมของเศรษฐกิจปี 2022 นอกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ยังคงมีอีก 2 ตัวแปรหลัก คือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และทิศทางค่าเงินบาท ที่ต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือ


จำนวนนักท่องเที่ยว ตัวแปรสำคัญขับเคลื่อนเศ​รษฐกิจไทยปี 2022 

        ตัวแปรหลักที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีหรือไม่นั้น คือจำนวนนักท่องเที่ยว โดยสิ่งที่ต้องจับตาคือ นักท่องเที่ยวจีน ซึ่งเป็นรายใหญ่ถึง 1 ใน 3 ของไทย (11 ล้านคนในปี 2019) เนื่องจากรัฐบาลจีนจะยังคงเข้มงวดต่อการเดินทางออกนอกประเทศ
        ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2021 ดีขึ้นหลังจากมีการเปิดประเทศในวันที่ 1 พ.ย. จากคาดการณ์เดิม 1.8 แสนคน มาเป็น 3.5 แสนคน และ มองเศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ที่ 1% 

        อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ยังเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยในปี 2022 แม้ขณะนี้จะมีการรายงานว่าผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ Omicron มีอาการของโรคไม่รุนแรง แต่คงยังไม่สามารถด่วนสรุปได้ว่าสายพันธุ์ Omicron จะไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกรวมถึงเศรษฐกิจไทย 
หากการระบาดของสายพันธุ์ Omicron ไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจ ทิศทางการลงทุนในปีหน้าคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดี สามารถฟื้นตัวได้ที่ 3.7% และ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยอาจฟื้นตัวมาแตะ 4 ล้านคน แต่หากการระบาดรุนแรงการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2022 ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2.8% 


ทิศทางค่าเงินบาทอีกหนึ่งตัวแปรเสี่ยงที่สำคัญในปี 20​22 

        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ค่าเงินบาทในปี 2022 จะยังเคลื่อนไหวในกรอบที่กว้างอย่างที่เกิดขึ้นในปี 2021 โดยตลาดได้ตอบรับข่าวการส่งสัญญาณของเฟดที่จะปรับลดวงเงิน QE เร็วขึ้น และปรับขึ้นดอกเบี้ยถี่ขึ้นเป็น 3 ครั้งในปี 2021 ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจแกว่งตัวในกรอบที่กว้างขึ้นจากความเสี่ยงดังต่อไปนี้

  • ​ทิศทางนโยบายการเงินของเฟด : 
        ความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่เฟดยังคงเผชิญแรงกดดันจากเงินเฟ้ออย่างมากจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทานที่ยืดเยื้อ ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง และการจ้างงานเต็มศักยภาพ มีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมากกว่าที่ได้ส่งสัญญาณไว้ว่า ในขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะยังมีความจำเป็นที่จะต้องคงดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ 
        ช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยไทยกับดอกเบี้ยสหรัฐฯ อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศไทย และส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิมได้ 

  • ปัจจัยพื้นฐานในประเทศ : 
       แนวโน้มดุลบัญชีเดินสะพัดขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว หากสถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากจากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ Omicron ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจขาดดุลต่อเนื่องไปอีกปี ซึ่งจะไปเป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงกว่าเดิมได้

        ทั้งนี้ การที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจะยิ่งไปเร่งให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นผ่านทางต้นทุนสินค้านำเข้าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคในไทย อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่อ่อนแอในประเทศอีกด้วย


สรุปมุมมองเศรษฐ​กิจและการลงทุนโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

        ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยปี 2022 ยังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 สายพันธุ์ Omicron ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์เดลต้า แต่ยังต้องติดตามความรุนแรงของไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน เนื่องจากส่งผลถึงนโยบายการเปิดประเทศและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย

        ภาวะการลงทุนทั่วโลกในแต่ละสินทรัพย์จะได้รับความเสี่ยงจากไวรัส Omicron ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เช่น สหรัฐฯ และยุโรปที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ด้านจีนมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้สวนทางกับทิศทางนโยบายการเงินทั่วโลก ในขณะที่ทิศทางค่าเงินบาทมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบอ่อนค่าในช่วงครึ่งปีแรก โดยธุรกิจควรรับมือกับภาวะที่เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบกว้าง

ผู้เขียน
นางสาวจิรดา ภักดิ์วิไลเกียรติ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย


กลับ