K WEALTH /
บทความ /
Wealth Management / ขอสินเชื่อ ใช้กองทุนค้ำได้จริงหรอ
24 พฤศจิกายน 2564
3 นาที
ขอสินเชื่อ ใช้กองทุนค้ำได้จริงหรอ
“
• หลายสถาบันการเงิน รับกองทุนรวมเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อธุรกิจ โดยมีความแตกต่างกับเงินฝากค้ำประกัน ด้วยวงเงินเท่ากัน เช่น วงเงิน 1.0 ล้านบาท จะใช้เงินฝาก (1.0 ล้านบาท) น้อยกว่ามูลค่ากองทุนรวม (1.15 ล้านบาท)
• ลูกค้าควรใช้กองทุนรวมเป็นทางเลือกหลักประกันในสินเชื่อธุรกิจ โดยเฉพาะกองทุนเปิดตราสารหนี้ (มีความเสี่ยงต่ำ, ไม่กำหนดระยะเวลาลงทุน) เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น
“
เมื่อมีเราไปขอยืมเงินแล้วมีหลักประกันไปด้วย ย่อมเพิ่มโอกาสได้ยืมเงินมากขึ้น เช่นเดียวกับขอสินเชื่อธุรกิจให้ได้รับการอนุมัติ ส่วนหนึ่งมาจากเรื่อง หลักประกัน ไม่ว่าจะเป็นจดจำนองที่ดินเป็นประกัน จำนำเครื่องจักร ให้บุคคลที่น่าเชื่อถือหรือใช้บัญชีเงินฝากค้ำประกัน จะช่วยให้(ว่าที่)เจ้าหนี้อุ่นใจมากขึ้น ยิ่งเป็นบัญชีเงินฝากที่เสมือนเป็นเงินสดด้วยแล้ว ยิ่งทำให้มั่นใจว่า หากไม่คืนก็นำเงินฝากมาหักกลบหนี้ได้ โดยทั่วไปก็จะได้วงเงิน 100% ของเงินฝากที่ค้ำฯ ส่วนหลักประกันอื่นๆ ก็จะได้วงเงินลดหลั่นกันลงไป
กองทุนรวมทางเลือกหลักประกัน สำหรับสินเชื่อธุรกิจ
ปัจจุบันสถาบันการเงินหลายแห่งรับกองทุนรวม เป็นหลักประกัน แต่ยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยหลักการใกล้เคียงกับการใช้เงินฝากค้ำประกัน ยกตัวอย่างการใช้เงินฝากค้ำประกัน คือ เจ้าของเงินฝากยังมีความต้องการถือกรรมสิทธิในเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ ในขณะที่ธุรกิจต้องการวงเงินสินเชื่อธุรกิจ เพื่อให้ Win-Win ทั้ง 2 ฝ่าย ดังนั้น การใช้เงินฝากหรือกองทุนรวมเป็นหลักประกัน จะช่วยให้ตอบโจทย์ทั้ง 2 เรื่องในเวลาเดียวกัน ส่วนกองทุนรวมจะมีความเสี่ยงจากการลงทุนมากหรือน้อยเพียงใด ก็เป็นประเด็นที่ตัดสินใจต่อมา แม้ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำอย่าง กองทุนตราสารหนี้ ซึ่งเหตุผลของผู้ถือกองทุน คือ ผู้ถือกองทุนที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องการผลตอบแทนจากการลงทุน จึงไม่ต้องการขายออกมาได้ ในขณะที่กิจการในนามบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลต้องการเงินทุนหมุนเวียน หรือเงินลงทุนในกิจการ ก็จะนำกองทุนดังกล่าวมาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อธุรกิจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามมีข้อระวังคือ หากมูลค่าตลาดกองทุนลดลง เจ้าหนี้อาจเรียกให้วางหลักประกันเพิ่ม หรือลดวงเงินลง
เงื่อนไขของกองทุนรวมเป็นหลักประกัน
กองทุนรวมที่ใช้เป็นหลักประกัน สำหรับสินเชื่อธุรกิจ จะมีลักษณะดังนี้ 1. ความเสี่ยงต่ำ เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้
2. เป็นกองทุนที่ไม่กำหนดระยะเวลาลงทุน
3. ผลตอบแทนจากการลงทุนจะสะสมอยู่ในกองทุน และถอนออกก่อนไม่ได้ ยกเว้นเงินปันผล
ภายใต้เงื่อนไขนี้จะเลือกกองทุนลักษณะไหนเป็นหลักประกันดี
สำหรับการเลือกกองทุนรวมตราสารหนี้เป็นหลักประกันจาก 2 วัตถุประสงค์ใหญ่ๆ ก็คือ
1.เน้นระยะเวลาลงทุนสอดคล้องกับระยะเวลาใช้วงเงิน เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนคาดหวังตามระยะเวลาลงทุนที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ต้องการวงเงินหนังสือค้ำประกัน (LG) ระยะเวลาใช้วงเงิน 1 ปี รับความเสี่ยงต่ำ ให้เลือกกองทุนประเภทตราสารหนี้ที่มีระยะเวลาลงทุนไม่เกิน 1 ปี มีระดับความเสี่ยง 4 จาก 8 เช่น กองทุน K-CBOND ซึ่งผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี และ 5 ปี** อยู่ที่ 1.42% และ 1.79% ต่อปี ซึ่งก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยฝากประจำในระยะเวลาที่เท่ากัน แต่ข้อควรระวัง จากสถิติผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี* จำนวน 1,218 วันทำการ จะมีจำนวนวันที่ราคาเปลี่ยนแปลงจากวันทำการก่อนหน้า เป็นลบ 413 วัน (คิดเป็น 33.90%) คงที่ จำนวน 8 วัน (คิดเป็น 0.66%) และผลตอบแทนรายวันติดลบรวมกัน มากกว่า 5% ซึ่งมีโอกาสที่จะถูกปรับลดวงเงินสินเชื่อ หรือ เพิ่มหลักประกันระหว่างทางด้วย ดังนั้น การเลือกแนวทางนี้มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝากประจำ แต่ระหว่างทางต้องระวังการเปลี่ยนแปลงด้านวงเงิน หรือ หลักประกันด้วย
2.เน้นไม่กระทบวงเงินสินเชื่อ ควรเลือกกองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด ระดับ 1 จาก 8 เช่น กองทุน K-CASH ซึ่งจากการดูผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี* จำนวน 1,218 วันทำการ จะมีจำนวนวันที่ราคาเปลี่ยนแปลงจากวันทำการก่อนหน้า เป็นลบเพียง 12 วัน (คิดเป็น 1%) คงที่ จำนวน 53 วัน (คิดเป็น 4.35%) และผลตอบแทนรายวันติดลบรวมกันของทั้ง 12 วัน ยังไม่ถึง 0.02% ในขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี และ 5 ปี** อยู่ที่ 0.25% และ 0.95% ต่อปี ดังนั้น ที่ผ่านมาจะไม่ทำให้มีการปรับลดวงเงินสินเชื่อ หรือ ต้องเพิ่มหลักประกันเลยตลอด 5 ปี
สุดท้ายจะมีคำถามที่ว่า ควรใช้เงินฝากค้ำ หรือ กองทุนรวมค้ำ อันไหนดีกว่ากัน ก็ต้องตอบว่า ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการลงทุน หากต้องการเน้นผลตอบแทนที่แน่นอนกว่า ควรเลือกใช้เงินฝากค้ำประกัน โดยอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำ ของธนาคารกสิกรไทย อยู่ในช่วง 0.25%-0.40% ต่อปี หากต้องการเน้นผลตอบแทนที่สูงกว่า ควรเลือกใช้กองทุนตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำค้ำประกัน โดยมีผลตอบแทนย้อนหลัง 1 ปี** อยู่ในช่วง 0.14%-1.42% ต่อปี
*ข้อมูลผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ย. 59 - 22 พ.ย. 64
** ข้อมูลย้อนหลัง ณ วันที 19 พ.ย. 64
บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ (CFP®)