K WEALTH / บทความ / Wealth Management / โอกาสทำเงินจากตลาดรถ EV
06 มกราคม 2565
3 นาที

โอกาสทำเงินจากตลาดรถ EV


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• กระแสของรถยนต์พลังงานไฟฟ้า EV (Electric Vehicle) กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก รวมถึงในไทยที่ผู้ผลิตรถยนต์ Great Wall Motor เผยยอดจองรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat สูงถึง 4,296 คัน หลังเปิดจองเพียง 24 ชั่วโมง แม้จะยังไม่ได้เปิดเผยราคา 

• ภาครัฐเองก็มีการออกนโยบายต่างๆ ทั้งในเรื่องของการลดภาษีนำเข้า และการซื้อรถ EV เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ต่างก็มีการขยับขยายและพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เช่น ปตท. ซีพี ออลล์ เป็นต้น 

• นักลงทุนสามารถมองหาโอกาสลงทุนไปกับแนวโน้มการเติบโตของตลาดรถ EV ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนทางตรงด้วยการซื้อหุ้นบริษัทผู้นำโลกด้านรถไฟฟ้า หรือบริษัทจดทะเบียนในไทยที่ปรับตัวรับตลาดรถ EV หรือลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้นด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์โลก

​“


         เมื่อพูดถึงผู้นำด้านรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (รถ EV: Electric Vehicle) หลายคนจะนึกถึง Tesla ผู้นำด้านนวัตกรรมรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ารายแรกของโลก ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2003 โดย Elon Musk ซึ่งเป็นคนที่มีอิทธิพลในโลกการลงทุนและนวัตกรรมอีกคนของโลก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความต้องการผลิตรถยนต์ที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมัน ซึ่งมีมูลค่าตลาดเป็นเบอร์หนึ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ แซงหน้าแชมป์เก่าอย่าง Toyota

          สำหรับประเทศไทย กระแสรถยนต์ไฟฟ้าก็กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก สิ่งที่สะท้อนให้เห็นชัด คือ การที่คนเริ่มสนับสนุนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือการที่หลายภาคส่วนหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยมลพิษด้วยการหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีข้อมูลทางสถิติจากศูนย์วิจัยอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่สถาบันยานยนต์ ระบุว่า ในปี 2563 มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ 36,750 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13% และผู้ผลิตรถยนต์ Great Wall Motor เปิดเผยว่าจากการเปิดจองรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น Ora Good Cat มียอดสั่งจองเข้ามาถึง 4,296 คัน ในเวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น


ความพร้อมของไทยกับรถ EV​​​​

          ไม่ว่าจะภาครัฐหรือเอกชน ต่างก็เริ่มมีการเตรียมความพร้อมรับกระแสการเข้ามาของรถ EV ไม่ว่าจะเป็นมติการประชุม COP26 ที่นายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายในปี 2608 หรือการออกนโยบายเพื่ออุดหนุนการซื้อรถ EV และการลดภาษีนำเข้าตามที่รัฐบาลกำหนดเพื่อเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมไปถึงการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่คาดการณ์ว่ารัฐจะออกมาตรการสำหรับกิจการผลิตรถไฟฟ้าแบบแบตเตอรีเป็นหลัก (Battery Electric Vehicle: BEV) จะได้รับสิทธิละเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาก็สามารถได้รับสิทธิเพิ่ม เป็นต้น

การตื่นตัวของบริษัทต่างๆ ในไทย

          การที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นนวัตกรรมที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว 100% ในการขับเคลื่อน และสามารถชาร์จไฟได้อย่างสม่ำเสมอเมื่อแบตเตอรี่หมด ดังนั้น องค์ประกอบหลักสำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าจะอยู่ที่แบตเตอรี่ อุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้า และมอเตอร์ไฟฟ้า ส่งผลให้อุตสาหกรรมหรือผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ต่างก็มีการขยับขยายและพัฒนาการให้บริการอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับกระแสของรถ EV 

         โดยปัจจุบันพบว่ามีบริษัทจดทะเบียนในไทยที่เกี่ยวข้องกับรถ EV โดยตรงแล้วกว่า 29 บริษัท ซึ่งหลายบริษัทก็มีแผนการขยายธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมมือกับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป จากไต้หวัน สร้างโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทยโดยจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มรถ EV พร้อมขึ้นไลน์ผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศและส่งออกไปยังประเทศในอาเซียน ด้วยกำลังการผลิตปีละ 150,000-200,000 คัน หรือ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มีการติดตั้งสถานีชารจ์รถยนต์ไฟฟ้าบริเวณพื้นที่หน้าร้านเซเว่นเพื่ออำนวยความสะดวก และตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของลูกค้าทุกกลุ่มตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้โครงการ 7 Go Green ตามยุทธศาสตร์ด้านการอนุรักษ์พลังงานสิ่งแวดล้อมของบริษัท หรือ บริษัท อมิตา เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด เป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนและระบบสำรองไฟฟ้าแห่งนี้ของกลุ่มพลังพลังงานบริสุทธิ์ (EA) เป็นโรงงานที่มีระบบการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยและกำลังผลักดันให้มีกำลังผลิตขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อรองรับกระแสของยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เช่นกัน

โอกาสทำเงินจากตลาดรถ EV​​​​

          สำหรับผู้ที่สนใจและกำลังมองหาโอกาสจากกระแสรถยนต์ไฟฟ้า สามารถลงทุนทางตรงด้วยการซื้อหุ้นบริษัทที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้ หากเป็นบริษัทต่างประเทศ อย่างเช่น Tesla ซึ่งจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ประเทศสหรัฐฯ นักลงทุนสามารถเปิดพอร์ตลงทุนหุ้นต่างประเทศได้ หรือหากเป็นบริษัทจดทะเบียนในไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับรถ EV ก็สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นกับทางบริษัทหลักทรัพย์ได้เช่นกัน 

          อีกทางเลือกในการลงทุนคือ ลงทุนผ่านกองทุนรวมที่เน้นลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่รับการมาของกระแสรถยนต์ไฟฟ้า อย่างเช่น กองทุน K-CHANGE ที่เน้นด้านนวัตกรรมและสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์โลก ที่มีกองทุนหลักคือ Baillie Gifford Positive Change Fund - Class B ซี่งลงทุนในบริษัทนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่น Moderna (8.6%)* ASML (8.3%)* และ Tesla (6.4%)* เป็นต้น หรือ กองทุน K-ATECH ที่เน้นลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีทั่วเอเชียครอบคลุมทั้ง จีน ญี่ปุ่น ใต้หวัน เกาหลีใต้ มีกองทุนหลักคือ JPMorgan Pacific Technology - Class C (acc) - USD ที่ถึงแม้ไม่ได้ลงทุนในรถไฟฟ้าแต่ก็ลงทุนในบริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและน่าสนใจ เช่น Sea Ltd. Singapore (7.4%)** Tencent Holdings Ltd. (4.6%)** และ Samsung Electronics Co., Ltd. (4.5%)** เป็นต้น ทั้งนี้ตลาดรถยนต์เป็นตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั่วโลก นักลงทุนจึงควรพิจารณาความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนอย่างละเอียด

Disclaimer : “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” 

หมายเหตุ 
* ข้อมูลจาก Fund Fact Sheet ณ วันที่ 30 พ.ย. 2564 ของกองทุนหลัก Baillie Gifford Positive Change Fund - Class B 
** ข้อมูลจาก Fund Fact Sheet ณ วันที่ 30 พ.ย. 2564 ของกองทุนหลัก JPMorgan Pacific Technology - Class C (acc) - USD 

ขอบคุณข้อมูลจาก : KS 
​​


บทความโดย K WEALTH GURU พธพร รัตนสิโรจน์กุล
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ