K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน: GDP US ต่ำกว่าคาด น่ากังวลจริงหรือ?
26 เมษายน 2567
2 นาที

ประเด็นร้อน: GDP US ต่ำกว่าคาด น่ากังวลจริงหรือ?


​​​​​​​​​​​​“

• สหรัฐฯ ได้เปิดเผยประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ 1.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.4% และลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ขยายตัว 3.4% จากตัวเลขสินค้าคงคลังที่ลดลงและการนำเข้าเพิ่มขึ้น ซึ่งกลับสะท้อนว่าการบริโภคภายในของสหรัฐฯ ยังคงมีความแข็งแกร่งมาก


• K WEALTH มีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) ต่อการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ระดับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ รับข่าวทั้งความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและกระแส AI ไปแล้ว ขณะเดียวกันตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดการณ์และแนวโน้มการลดลงที่ช้ากว่าคาด เป็นอีกปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้มีความผันผวนในระยะข้างหน้า




เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 สหรัฐฯ ได้เปิดเผยประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2567 ขยายตัวที่ 1.6% ต่ำกว่าคาดการณ์ที่ 2.4% และลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2566 ที่ขยายตัว 3.4% โดยภาคการบริโภคภายใน การลงทุนทั้งอสังหาฯ และนอกภาคอสังหาฯ และการลงทุนจากภาครัฐเป็นปัจจัยหนุน ส่วนสินค้าคงคลังและการนำเข้าเป็นปัจจัยกดดันตัวเลข GDP ไตรมาสนี้



นอกจากนี้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ ยังเปิดเผยดัชนีราคาใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ไตรมาส 1 ปี 2567 เพิ่มขึ้น 3.4% สูงกว่าไตรมาส 4 ปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนดัชนีราคาใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เพิ่มขึ้น 3.7% สูงกว่าไตรมาส 4 ปี 2566 ที่เพิ่มขึ้น 2.0%



นักลงทุนกังวลเศรษฐกิจแย่กว่าคาด เงินเฟ้อสูง ส่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วง

โดยทั้งตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาน่าผิดหวังและตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงทำให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้ ส่งให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงในวันทำการที่ 25 เม.ย. 67 เทียบกับวันทำการก่อนหน้า ดังนี้ - ดัชนี Dow Jones -0.98% - ดัชนี S&P 500 -0.46% - ดัชนี Nasdaq -0.64% ​



GDP สหรัฐฯ ต่ำกว่าคาด น่ากังวลจริงหรือ?

ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 ปี 2567 ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ เกิดจากสินค้าคงคลังลดลงและการนำเข้าเพิ่มขึ้น แต่ตัวเลขสินค้าคงคลังที่ลดลงกลับแสดงว่าบริษัทต่างนำสินค้าในคลังออกมาขายให้ผู้บริโภค ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการบริโภคสินค้าที่แข็งแกร่ง นอกจากนี้การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นอีกตัวเลขที่ยืนยันในเวลาเดียวกันได้ว่าความต้องการในประเทศยังสูงอยู่มาก ดังนั้นโดยรวมสำหรับเศรษฐกิจไตรมาสนี้ของสหรัฐฯ ยังมีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะการบริโภคภายใน



มุมมองภาพรวมตลาดหุ้นสหรัฐฯ

K WEALTH มีมุมมองเป็นกลาง (Neutral) ต่อการลงทุนหุ้นสหรัฐฯ โดยมีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในลักษณะ Soft Landing ซี่งยังหนุนการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ


อย่างไรก็ตามด้วยระดับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นมาตลอดไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ได้รับข่าวทั้งความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจและกระแส AI ไปแล้ว ขณะเดียวกันตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่สูงกว่าคาดการณ์และแนวโน้มการลดลงที่ช้ากว่าคาด เป็นอีกปัจจัยที่จะกดดันตลาดหุ้นสหรัฐฯ ทำให้มีความผันผวนในระยะข้างหน้า เนื่องจากนักลงทุนมีความกังวลว่า Fed มีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนานกว่าที่คาดไว้



คำแนะนำการลงทุน

จากแรงกดดันด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีความไม่แน่นอนและอาจผิดไปจากที่นักลงทุนคาดไว้ รวมถึงปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นสร้างความกังวลเพิ่มเติมต่อตลาดหุ้นผ่านตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ จึงมีคำแนะนำการลงทุนดังนี้



- สำหรับลูกค้ารับความเสี่ยงได้สูงสามารถทยอยเข้าลงทุนกองทุน K-GHEALTH, K-EUROPE และ K-VIETNAM ซึ่งเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่ากองทุนที่เน้นลงทุนหุ้นสหรัฐฯ เป็นหลัก 

- ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง เเนะนําทยอยลงทุนกองทุนรวมผสม K-WPSPEEDUP หรือ K-WPBALANCED ซึ่งเหมาะกับการลงทุนในภาวะที่มีความไม่แน่นอนและความผันผวนสูง 

- ผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ แนะนำทยอยลงทุนกองทุนตราสารหนี้ K-FIXEDPLUS หรือ K-SFPLUS



ขอขอบคุณข้อมูลจาก CNBC, กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ, KAsset 

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH Trainer

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!