K WEALTH / บทความ / Wealth Management / 8 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ NAV ก่อนลงทุนกองทุนรวม
18 เมษายน 2567
4 นาที

8 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ NAV ก่อนลงทุนกองทุนรวม


​​​​​​​​​​​​​​“

• ราคามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : Net Asset Value (NAV) เป็นราคามูลค่าสินทรัพย์ของกองทุนที่มีการหักค่าใช้จ่ายต่างไปแล้ว ซึ่งมักจะใช้อ้างอิงเป็นราคาซื้อ-ขายกองทุน และเป็นราคาปิดสิ้นวันทำการ


• ราคา NAV ต่ำน้อย ไม่ได้แปลว่าราคาถูกเสมอ ตรงกันข้าม ราคา NAV สูง ก็ไม่ได้แปลว่า ราคาแพงเช่นกัน




เมื่อจะซื้อ-ขายสินค้าอะไรก็แล้ว หนึ่งในปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ-ขาย นั่นคือ ราคา หากสินค้าเป็นกองทุนรวมแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องเข้าราคา NAV (Net Asset Value) หรือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจซื้อ-ขายกองทุน และส่งผลต่อกำไร-ขาดทุนของเงินลงทุนด้วย ดังนั้น ก่อนจะเริ่มต้นลงทุนในกองทุนรวม มีสรุป 8 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ NAV มาให้ ดังนี้



1. NAV คืออะไร?

คือ มูลค่าสินทรัพย์สุทธิ ของกองทุน หากเปรียบเทียบจะเป็น ราคาตามบัญชีของกองทุน ซึ่งจะใช้ในการซื้อ-ขายกองทุนกับ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) ​



2. ราคา NAV คำนวณอย่างไร?

จะใช้มูลค่าสินทรัพย์ตามราคาตลาด และเงินสด หักด้วย ค่าใช้จ่ายต่างๆของกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ และหนี้สินของกองทุนรวม กล่าวคือ เป็นราคามูลค่าสินทรัพย์ที่ได้สะท้อนค่าใช้จ่ายต่างๆของกองทุนทุกอย่างไปแล้ว ซึ่งใช้ในการคำนวณผลตอบแทนของกองทุนต่อไป



3. ความสำคัญของราคา NAV รายวัน

จะใช้ราคา NAV รายวันในการคำนวณจำนวนหน่วยลงทุนที่จะได้รับ ซึ่งมาจากสูตร มูลค่าลงทุน = ราคา NAV คูณด้วย จำนวนหน่วยลงทุน ยกตัวอย่างเช่น ซื้อกองทุนหุ้น AAA ด้วยเงิน 100,000 บาท ณ ราคา NAV วันนี้ที่ 10 บาท จะได้รับหน่วยลงทุน 10,000 หน่วย ในทางกลับกัน ผ่านมา 1 ปี กองทุน AAA ราคา NAV ปรับขึ้นไปที่ 10.50 บาท แปลว่า มูลค่าเงินลงทุนจะเป็น 10.50 x 10,000 หน่วย เท่ากับ 105,000 บาท


ส่วนการขายคืนหน่วยลงทุน ทำได้ 2 รูปแบบ คือ 1.ขายเป็นจำนวนเงิน เช่น ขายออกมา 100,000 บาท ซึ่งเหมาะกับการขายกองทุนเปิดทั่วไปและต้องการระบุจำนวนเงินที่ต้องการขาย รูปแบบที่ 2.ขายเป็นจำนวนหน่วย เช่น ขายออกมา 10,000 หน่วย ซึ่งเหมาะกับการขายกองทุนประเภทลดหย่อนภาษีที่จะต้องระบุว่าจำนวนหน่วยลงทุนที่ครบเงื่อนไขทางภาษีและมีสิทธิขายได้ โดยจะทราบผลการจัดสรรหน่วยลงทุนตอนสิ้นวันทำการ



4. NAV ไม่เท่ากับราคาตลาด

​ราคามูลค่าสินทรัพย์สุทธิ : Net Asset Value (NAV) เป็นราคาตลาดของสินทรัพย์ ณ ช่วงสิ้นวันทำการ ซึ่งจะรู้เมื่อทราบราคาปิดของตลาด ณ สิ้นวันทำการ ยกตัวอย่างเช่น กองทุนหุ้นไทย BBB มีราคา NAV ณ สิ้นวันทำการ อยู่ที่ 10.50 บาทต่อหน่วย แต่ผู้ลงทุนส่งคำสั่งซื้อ-ขายกองทุนหุ้น BBB ตั้งแต่ก่อน 15.30 น. เพื่อให้ได้รับราคา NAV ในวันเดียวกัน แต่จะทราบราคา NAV ที่เป็นราคาปิดของตลาดหุ้นไทย (ตลาดปิดเวลา 16.30 น.) ซึ่งทาง บลจ. จะมาคำนวณราคา NAV ณ ช่วงสิ้นวันทำการ และประกาศให้ทราบในช่วงเย็นของวันเดียวกัน เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากราคาตลาดของสินทรัพย์ทั่วๆไป ที่จะมีความเคลื่อนไหวแบบ Real Time



5. ผลกระทบของ NAV ต่อการซื้อและการขาย

ราคา NAV เป็นราคา ณ สิ้นวันทำการ ที่ใช้ในการจัดสรรหน่วยลงทุน กรณีราคา NAV เพิ่มขึ้นเทียบกับราคา NAV เมื่อวานจะทำให้ผู้ซื้อได้จำนวนหน่วยน้อยลง หรือ กรณีราคา NAV ลดลงเทียบกับราคา NAV เมื่อวาน จะทำให้ผู้ซื้อได้จำนวนหน่วยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับผู้ขาย เฉพาะที่ส่งคำสั่งขายเป็นจำนวนเงิน เท่านั้น นอกจากนี้ยังมีราคา NAV ของกองทุนที่จดทะเบียนในต่างประเทศ ที่จะมีเรื่องราคาปิดของตลาดในต่างประเทศ ทำให้มีช่วงเวลาทำการที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อการทราบราคา NAV ช้าลงและอาจมีผลต่อราคาซื้อ-ขายได้ ควรศึกษาเรื่องราคา NAV ได้จากหนังสือชี้ชวน ทำให้มีผลที่จะใช้ราคา ณ สิ้นวันทำการ



6. NAV และผลการดำเนินงานของกองทุน

ราคา NAV เป็นตัวสะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุน โดยทั่วไปจะแสดงผลย้อนหลัง ซึ่งไม่ได้เป็นตัวยืนยันถึงผลตอบแทนในอนาคตว่ากองทุนจะทำผลการดำเนินงานได้เหมือนเดิมหรือแตกต่างจากเดิม จะขึ้นอยู่กับแนวโน้มราคาสินทรัพย์ ที่กองทุนมีนโยบายลงทุน เช่น กองทุนหุ้น ก็กองทุนจะมีผลการดำเนินงานขึ้นหรือลง ตามราคาของหุ้นที่กองทุนนั้นๆ ลงทุนไปเช่นกัน โดยทั่วไป จะดูผลการดำเนินงานย้อนหลัง 3, 6 เดือน 1, 3, 5 และ 10 ปี ตามลำดับ



7. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ NAV

7.1 NAV ของกองทุนยิ่งต่ำ แสดงว่า ซื้อได้ราคาถูก เช่น NAV ของกองทุนหุ้น AAA ต่ำกว่ากองทุนหุ้น BBB แปลว่ากองทุน AAA ราคาถูกกว่า และน่าซื้อมากกว่ากองทุน BBB ไม่ถูกเสมอไป ต้องดูว่า เป็นกองทุนมีนโยบายลงทุนอะไร เนื่องจากราคาเปลี่ยนแปลงตามราคาสินทรัพย์ที่กองทุนไปลงทุน และมีนโยบายจ่ายเงินปันผล เนื่องจากกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผล จะทำให้ราคา NAV ปรับตัวลดลง 


7.2 ราคา NAV สูงๆ แปลว่า กองทุนนี้ราคาแพงไปแล้ว ไม่ควรซื้อ ซึ่งไม่ถูกเสมอไป เช่น กองทุนที่มีนโยบายสะสมมูลค่า (ไม่จ่ายปันผล) ก็จะมีราคาสูงกว่า กองที่จ่ายปันผล โดยมีนโยบายการลงทุนเหมือนกัน หรือ กองทุนที่มีนโยบายคล้ายกัน กองที่ NAV สูงกว่า ก็แปลได้ว่า มีผลการดำเนินงานที่ดีกว่าได้ 


7.3 ดูผลตอบแทนย้อนหลังจากกองทุน แล้วคาดการณ์ว่าจะได้ผลตอบแทนแบบนี้ในอนาคตด้วย จะไม่เหมือนผลตอบแทนจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ระบุได้แน่นอน หากไม่มีการผิดนัดชำระ ดังนั้น การลงทุนในกองทุนรวมไม่สามารถระบุได้ว่าจะได้ผลตอบแทนเท่าไหร่แน่นอน


8. ตัวชี้วัดอื่นที่ใช้ตัดสินใจลงทุน นอกจากราคา NAV

8.1 Total Return เป็นการคำนวณผลตอบแทนที่มาจากกำไร/ขาดทุนจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) และ เงินปันผล เข้าไปแล้ว ทำให้ไม่ว่ากองทุนนั้นจะมีนโยบายจ่ายเงินปันผลหรือไม่มีก็สามารถนำผลตอบแทนมาเปรียบเทียบกันได้ 


8.2 Expense Ratio เป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายเทียบกับราคา NAV ซึ่งค่าใช้จ่ายจะถูกเก็บจาก 2 ส่วน คือ 1) เรียกเก็บจากกองทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุน (Management Fee) กับ 2)เรียกเก็บจากผู้ลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมในการซื้อ-ขาย (Front-End Fee, Back -End Fee) จะถูกหักจากเงินลงทุน ทำให้เงินลงทุนน้อยกว่า ที่ตั้งใจไว้ เช่น ลงทุน 100,000 บาท มีค่าธรรมเนียมในการขาย (Front-End Fee) 1.5% แปลว่า จะมีเงินลงทุนเหลือ 98,500 บาทไปลงทุนในกองทุน และถูกหักค่าธรรมเนียมฯ 1,500 บาทไว้ 


8.3 Sharpe Ratio เป็นอัตราส่วนผลตอบแทนเทียบต่อ 1 หน่วยความเสี่ยง จะช่วยให้นักลงทุนประเมิน ผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงจากการลงทุน เพื่อใช้ตัดสินใจลงทุนที่ 1 หน่วยความเสี่ยงเท่ากัน แต่ได้ผลตอบแทนสูงที่สุด มักจะเปรียบเทียบกองทุนตั้งแต่ 2 กองทุน แปลว่า ยิ่งค่า Sharpe Ratio ยิ่งสูง ยิ่งดี


จาก 8 ข้อต้องรู้เกี่ยวกับ NAV จะช่วยให้ผู้ลงทุนเข้าใจเกี่ยวกับกองทุนรวมมากขึ้น เช่น ประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร หรือต้องดูจากตัวชี้วัดไหนบ้าง อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมนั้นมีนโยบายให้เลือกหลากหลาย ทั้งกองทุนที่ลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ หรือทองคำ ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มจาก หนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนรวม (Fund Fact Sheet) ที่จะมีข้อมูลนโยบายการลงทุนของกองทุน ผลการดำเนินงานของกองทุน รวมถึงตัวชี้วัดของกองทุน เปรียบเทียบตามช่วงระยะเวลาลงทุน ซึ่งจะเป็นข้อมูล ณ วันใดวันหนึ่ง



บทความโดย K WEALTH Trainer สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!