กองทุนตราสารหนี้ ลงทุนได้ โดยเน้นลงทุนตราสารหนี้ที่มี Duration ยาวขึ้น เพื่อได้ประโยชน์จากแนวโน้มราคาตราสารหนี้ที่ปรับขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลง
กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี
กนง. มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.5% ต่อปี โดย 2 เสียงเห็นว่าควรลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ต่อปี โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจากภาคการส่งออกและภาคการผลิต เนื่องจากอุปสงค์โลกและเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า รวมถึงปัจจัยเชิงโครงสร้างกระทบการขยายตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวมากกว่าที่เคยประเมินไว้ แต่อุปสงค์ในประเทศยังขยายตัวต่อเนื่องและเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ด้านอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเข้าสู่กรอบเป้าหมายช้ากว่าที่ประเมินไว้
เศรษฐกิจที่ขยายตัวชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เกิดจากแรงส่งจากภาคต่างประเทศที่น้อยลงและผลกระทบจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การบริโภคยังขยายตัวดีต่อเนื่อง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินซึ่งเป็นรากฐานสำคัญสำหรับการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว กรรมการส่วนใหญ่จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่กรรมการ 2 ท่าน เห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง
ทั้งนี้ กนง. เห็นว่ายังมีความไม่แน่นอนสูงในระยะข้างหน้าจากปัจจัยวัฏจักรเศรษฐกิจและปัจจัยเชิงโครงสร้าง โดยการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะพิจารณาให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ
การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 2566 ชะลอลงกว่าคาด ฉุดเศรษฐกิจปี 2567 เติบโตลดลง
จากการส่งออกสินค้าและภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้า ตามภาวะการค้าโลกและสินค้าคงคลังในประเทศที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทำให้รายรับต่อคนน้อยกว่าในอดีต และการลงทุนภาครัฐที่ลดลงในช่วงที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ล่าช้า แรงส่งทางเศรษฐกิจที่ลดลงในช่วงปลายปี 2566 ส่งผลให้คาดการณ์แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 จะปรับลดลงอยู่ในช่วง 2.5-3% โดยยังมีการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ
ขณะที่การส่งออกสินค้าและภาคการผลิตมีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไป ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์โลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ไทยที่ฟื้นช้ากว่าคาด มองไปข้างหน้า ปัญหาเชิงโครงสร้างโดยเฉพาะด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศจะเป็นอุปสรรคมากขึ้น หากไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
มุมมองการลงทุนต่อตลาดหุ้นไทย
ทาง K WEALTH มองว่า จากมติที่ไม่เป็นเอกฉันท์ในรอบนี้ มีโอกาสมากขึ้นที่ กนง. อาจปรับลดดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้ สอดคล้องกับทางศูนย์วิจัยกสิกรที่คาดว่า กนง.จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 1-2 ครั้งในช่วงกลางปีนี้เช่นกัน อัตราดอกเบี้ยจะอยู่กรอบ 2.00-2.25% ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุมกนง. ออกมา ค่าเงินบาทอ่อนค่าจากระดับ 35.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ราว 35.60 บาทต่อดอลลาร์
• อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ผ่านจุดสูงสุดแล้วจะช่วยลดแรงกดดันในเชิง Valuation โอกาสที่จะปรับลดดอกเบี้ยมีสูงขึ้น การลดดอกเบี้ยถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง ประกอบกับมูลค่าหุ้นซื้อขายในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต ได้สะท้อนความกังวลจากปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นในปี 66 ไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้นทำให้ Flow ต่างชาติกลับเข้ามาในประเทศ
• อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยตอนนี้เป็นการฟื้นตัวเพียงบางกลุ่มอย่างกลุ่มการท่องเที่ยวหรือการบริโภคในประเทศ แต่กลุ่มที่ฟื้นตัวได้ช้า คือกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจาก Global Economy และหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีโอกาสปรับตัวลง จึงยังมีมุมมองเป็นกลางต่อตลาดหุ้นไทย
มุมมองการลงทุนต่อตราสารหนี้
• เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยลบกระทบจากปัญหาเชิงโครงสร้าง ความไม่แน่นอนทางการเมือง และความหวังมาตรการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ทำให้มีโอกาสการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มมากขึ้นในปีนี้ ตราสารหนี้โดยเฉพาะที่มีอายุเฉลี่ยกลาง-ยาว จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มราคาตราสารหนี้ที่ปรับขึ้น หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับตัวลง
อย่างไรก็ดี จังหวะการปรับลดดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับตัวเลขทิศทางเศรษฐกิจในการประชุมแต่ละรอบซึ่งยังมีความไม่แน่นอนสูง
คำแนะนำการลงทุน
• นักลงทุนที่มีการลงทุนในกองทุนหุ้นกลุ่มหุ้นไทย เช่น กองทุน K-VALUE , K-STAR, K-STEQ ทีม K WEALTH ยังมีมุมมอง Neutral หรือมีมุมมองเป็นกลาง โดยสามารถถือลงทุนได้ แต่ไม่ควรมีสัดส่วนมากกว่า 30%ของเงินลงทุน
หากมีสัดส่วนมากกว่า 30%ของเงินลงทุน
o กำไร/ขาดทุน มากกว่า 10% แนะนำขายทยอยลดสัดส่วน โดยนำเงินค่าขายคืนไปลงทุนในกองทุนแนะนำอื่น เช่น K-HIT-A(A) , K-CHANGE-A(A) , WEALTHPLUS FUND เป็นต้น
• นักลงทุนที่ยังไม่มีกองทุนหุ้นไทย แนะนำกระจายการลงทุนที่มีโอกาสเติบโตสูงในกองทุนแนะนำอื่น เช่น K-HIT-A(A) , K-CHANGE-A(A) หรือ WEALTHPLUS FUND ตามระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้
• นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อย แนะนำให้เข้าลงทุนกองทุนตราสารหนี้โดยเน้นลงทุนที่มีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น และควรเลือกกองทุนที่เหมาะสมกับระยะเวลาที่ถือลงทุนได้
o K-SF ที่เหมาะกับการลงทุน 1-3 เดือน
o K-SFPLUS ที่เหมาะกับการลงทุน 3-6 เดือน
o K-FIXED-A , K-FIXEDPLUS-A(A) , K-GB-A(B) หรือ Term Fund ที่เหมาะกับการลงทุน 1 ปีขึ้นไป
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”