K WEALTH / บทความ / Product Review / ธีมลงทุน 2024 ภาค 2 เจาะลึกกองทุนตามธีม
14 กุมภาพันธ์ 2567
5 นาที

ธีมลงทุน 2024 ภาค 2 เจาะลึกกองทุนตามธีม


​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“

• หุ้นไทยยังไม่สดใส หุ้นใหญ่สหรัฐฯ เริ่มดูแพงไปแต่ยังมีโอกาสลงทุนอยู่ 4 ธีมในปีนี้ โดยในบทความนี้ขอแนะนำกองทุนหุ้น 2 ธีมแรกของปี 2024


• กลุ่มแรก: หุ้น Megatrend ฟื้นตัว แนะนำซื้อ K-HIT-A(A) และ K-CHANGE-A(A) รวมถึง K-CHANGE-SSF KCHANGERMF เนื่องจากหุ้น Mid-Small Cap มีแนวโน้มฟื้นตัวได้รับประโยชน์จาก Fed ลดดอกเบี้ย และกลุ่มสอง: ดาวรุ่งพุ่งแรงเอเชีย แนะนำซื้อ K-VIETNAM รวมไปถึง K-VIETNAM-SSF และ K-VIETNAM-RMF และ K-JPX-A(A) มูลค่าหุ้นยังถูกและการเติบโตกลับมาอีกครั้ง


• ไม่ว่านักลงทุนมีมุมมองแบบไหน กองทุนที่ควรมีติดพอร์ตคือ Balanced fund เพื่อรักษาสมดุลของพอร์ตการลงทุน แนะนำ WP-BALANCED และ WP-ULTIMATE รวมไปถึง WP-BALANCEDRMF และ WP-ULTIMATERMF




เข้าสู่เดือนที่ 2 ของปีมังกรทองนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยยังดูไม่ค่อยสดใสแต่ตลาดหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะฝั่งประเทศพัฒนาแล้วมีโมเมนตัมดีต่อเนื่องจากปลายปีที่แล้ว โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม 2024 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.59% ขณะที่ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ดัชนี TOPIX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.81% นับจากสิ้นปี 2023 หลายท่านที่กำลังอ่านบทความนี้คงได้เห็นโพย “ธีมลงทุน 2024 ไปท่าไหนมงจะลง ฝ่าความผันผวน” จากทาง K WEALTH และบางส่วนคงได้ลงทุนตามกันแล้ว แต่หากท่านใดพลาดบทความตอนต้นปีสามารถตามไปอ่านตามลิงก์นี้ได้เลย ​คลิกที่นี่ และวันนี้เราจะพาทุกท่านมาเจาะลึกกองทุนมงลงในแต่ละธีมสำหรับนักลงทุนที่กำลังมองหาโอกาสลงทุนกันครับ​



กลุ่มแรก: หุ้น Megatrend ฟื้นตัว

​หากนักลงทุนกำลังคิดเหมือนกับเราว่า Fed จะทยอยลดดอกเบี้ยในปีนี้โดยไม่ได้สนใจว่าจะเกิด recession หรือไม่ และต้องการกลับเข้าลงทุนหุ้น Megatrend ขนาดกลาง-เล็กคุณภาพสูง พลาดไม่ได้กับธีมนี้…. บริษัทฯ เหล่านี้หลายแห่งได้พิสูจน์ผ่านงบการเงินแล้วว่าในเชิงปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่งกว่าที่นักลงทุนกังวลแม้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง กองทุนรวมที่น่าสนใจ ได้แก่ กองทุน K-HIT-A(A)* และ K-CHANGE-A(A)* มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากมุมมองดังกล่าว ตัวแรก K-HIT มีสัดส่วนหุ้นที่ปรับตัวขึ้นช้ากว่า Magnificent 7 เช่น พลังงานสะอาด และ เฮลท์แคร์เทคโนโลยี ซึ่ง Allianz Thematica fund กองทุนหลัก K-HIT มีการลงทุนอยู่ กลยุทธ์ของกองทุนหลัก เน้นลงทุนกระจายตัว มัดรวมธีมหุ้นยอดฮิตต่างๆ 5-7 ธีมในกองทุนเดียว มีแนวโน้มเติบโตเด่นและลงทุนหุ้นทั่วโลกกว่า 200 ตัว ช่วยลดความผันผวนหากราคาหุ้นตัวใดตัวนึงปรับตัวลงแรงไม่ว่าจะมาจากภาวะตลาดหรือจากปัจจัยพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลง โดยกองทุนมีผลขาดทุนสูงสุดนับตั้งแต่จัดตั้งอยู่ที่ -31.26% ซึ่งน้อยกว่าการลงทุนเดี่ยวๆในกองทุนบางธีมในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลังนับตั้งแต่จัดตั้ง (23 ก.ค. 2019) อยู่ที่ 9.89% ต่อปี (ที่มา KAsset ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2024)


​แต่ถ้าหากใครชอบการลงทุนแบบกระจุกตัว เติบโตสูง (แต่ก็อาจผันผวนสูงบางช่วงเวลา) เรามี K-CHANGE ที่กองทุนหลัก Baillie Gifford Positive Change fund ลงทุนหุ้นทั่วโลกเพียง 25-50 ตัว โฟกัสการลงทุนแบบ ESG มีสัดส่วนหุ้นที่สร้างผลกระทบเชิงบวกไม่ใช่แค่สิ่งแวดล้อม แต่รวมไปถึงในแง่สังคม อาทิ การเข้าถึงบริการการเงิน ความเท่าเทียมด้านการศึกษา การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิตอล การดูแลสุขภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดย K-CHANGE ยังมี SSF และ RMF ให้เลือกลงทุนสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนหลักที่เน้นลงทุนระยะยาวอีกด้วย



กลุ่ม 2: ดาวรุ่งพุ่งแรงเอเชีย

​นักลงทุนที่กังวลมูลค่าหุ้นสหรัฐฯ โดยเฉพาะหุ้น Magnificent 7 ซึ่งเริ่มแพง แต่ก็ไม่อยากเพิ่มสัดส่วนตราสารหนี้ตอนนี้เพราะคิดว่าหุ้นภูมิภาคอื่นๆยังพอไปต่อได้ ควรหันมาโฟกัสหุ้นเอเชีย…. คำตอบของภูมิภาคนี้คือ เวียดนามและญี่ปุ่น ซึ่งมีค่า P/E ที่ 12.2 เท่า อ้างอิงดัชนีหุ้นเวียดนาม VNI และ 15.4 เท่า อ้างอิงดัชนี TOPIX ณ 31 ธ.ค. 2023 กองทุนรวมที่น่าสนใจ ได้แก่ K-VIETNAM* เน้นลงทุนตรงในหุ้นเวียดนามที่มีความสามารถในการแข่งขันเติบโตไปกับเศรษฐกิจเวียดนามที่เป็นดาวเด่นของเอเชีย คัดเลือกหุ้นโดยผู้จัดการกองทุน KAsset มีผลตอบแทนย้อนหลังนับตั้งแต่จัดตั้ง (25 ต.ค. 2018) อยู่ที่ 4.09% ต่อปี ชนะดัชนีชี้วัดที่ -0.81% ต่อปี (ที่มา KAsset ข้อมูล ณ วันที่ 31 ม.ค. 2024) โดยปัจจุบัน K-VIETNAM ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักลงทุน มีขนาดกองทุนที่ 9.1 พันล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย ในหมวดหมู่ Thailand Fund Vietnam Equity ของ Morningstar (ข้อมูล ณ 31 ม.ค. 2024) แต่เนื่องจากเวียดนามเป็นตลาด Frontier จึงต้องระมัดระวังความผันผวนระยะสั้น แนะนำให้ลงทุนระยะยาว 5 ปีขึ้นไป และเช่นเดียวกับ K-CHANGE เรามี SSF และ RMF ของ K-VIETNAM ให้เลือกลงทุนพร้อมลดหย่อนภาษีเช่นกัน


สำหรับทางเลือกตลาดประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย แนะนำ K-JPX-A(A)* ลงทุนล้อไปกับดัชนี TOPIX ซึ่งเน้นหุ้นขนาดใหญ่ ฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดสูงที่สามารถนำไปลงทุนสร้างการเติบโต หรือใช้ซื้อหุ้นคืน ช่วยผลักดันราคาหุ้น หุ้นในกองทุนมีสัดส่วนรายได้ในประเทศญี่ปุ่นสูงกว่า Nikkei 225 (TOPIX 50% vs Nikkei 40%*) ซึ่งได้ประโยชน์จาก 1.การใช้จ่ายบริโภคในประเทศฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และ 2.ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวสู่ระดับก่อน Covid-19 ช่วยหนุนการใช้จ่ายในประเทศอีกต่อ อีกทั้งเงินเยนอ่อนค่าจากระดับ 110 เยน (ช่วงก่อน Covid-19) มาสู่ระดับแถวๆ 150 เยน* ซึ่งสูงสุดในรอบกว่า 30 ปี หนุนบริษัทที่มีสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศอีกครึ่งหนึ่งของกองทุนเช่นกัน ซึ่งแม้ BOJ มีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่โอกาสที่ค่าเงินเยนจะกลับไปที่ระดับก่อน Covid-19 มีค่อนข้างน้อย แต่ด้วยเงินเฟ้อระดับปัจจุบัน เรามองว่า BOJ จะยังไม่เร่งรีบขึ้นดอกเบี้ยเนื่องจากเงินเฟ้อเป็นสิ่งที่ญี่ปุ่นตามหามาตลอดกว่า 30 ปี นับแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจช่วงปี 1990 * ที่มา Morningstar และ Investing.com ณ 31 ธ.ค. 2023



Core Portfolio สัดส่วนการลงทุนที่ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ควรมีติดพอร์ต

แม้กองทุนที่เราเลือกมาแนะนำทั้งหมดเป็นกองทุนคุณภาพดี มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว แต่จะเห็นว่านักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นมีมุมมองตลาดแตกต่างกันไปในปีนี้ ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีคนที่มองถูกและมองผิด “ในระยะสั้น” ดังนั้นเพื่อป้องกันความผันผวนของเงินลงทุนทั้งหมด นักลงทุนควรกระจายการลงทุนไปยังกองทุนผสมเป็นสัดส่วนหลัก (Core Portfolio) อาทิ WP-BALANCED เหมาะสำหรับนักลงทุนที่อยากเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้ แต่ไม่ต้องการเห็นความผันผวนสูงเท่าหุ้น โดยกองทุน WP-BALANCED มีกระจายลงทุนไปยังหุ้นไทยและต่างประเทศสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของกองทุน หรือ WP-ULTIMATE ที่เน้นลงทุนหุ้นเกือบ 100% แต่กระจายการลงทุนไปหลากหลายภูมิภาคทั่วโลก



อย่าพลาดอีก 2 ธีมเด่น….ธีมเศรษฐกิจชะลอตัว และธีมแนวโน้มดอกเบี้ยขาลง

ในตอนถัดไปเราจะมาเจาะลึกกองทุนในธีมเด่นอีก 2 กลุ่มที่เหลือ คือ กลุ่ม 3 สำหรับนักลงทุนมองว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ตลาดคาดจนนำไปสู่ปัญหาในระบบเศรษฐกิจและเกิด recession ท้ายที่สุด ขณะที่กลุ่ม 4 สำหรับนักลงทุนมองเหมือนตลาดว่า Fed บรรลุเป้าหมายในการต่อสู้เงินเฟ้อและ Fed จะทยอยลดดอกเบี้ยตั้งแต่ปีนี้โดยไม่เกิดภาวะ recession


* ผลการดำเนินงานในอดีต/ ผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต โปรดทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน


บทความโดย K WEALTH Trainer สุกฤษฎิ์ กิตติธนโสภณ

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!