K WEALTH / บทความ / Wealth Management / DCA ดีจริง หรือแค่การตลาด
31 มกราคม 2567
2 นาที

DCA ดีจริง หรือแค่การตลาด


​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“

• DCA ไม่เพียงแต่เป็นการเฉลี่ยต้นทุน ลดความเสี่ยงในช่วงที่ตลาดหรือราคากองทุนอยู่ในระดับสูง แต่ยังเป็นการช่วยให้มั่นใจว่าผู้ลงทุนจะมีการทยอยสะสมเงินลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยการ DCA ที่ดี ควรเลือกกองทุนที่มีอนาคตหรือมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่ทยอยลงทุน


• การลงทุนแบบ DCA ในกองทุนลดหย่อนภาษี มีรูปแบบการลงทุนและข้อจำกัดที่ต่างออกไปจากกองทุนรวมทั่วไป ที่ผู้ลงทุนควรรู้ เพื่อเลือกลงทุน DCA ให้เหมาะสมได้ตั้งแต่ต้นปี




DCA ดีจริงไหม? แล้วหากอยากลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง SSF/RMF/TESG ยังควรลงทุนแบบ DCA หรือไม่ เชื่อว่าเป็นคำถามในใจของหลายคน วันนี้ K WEALTH มีคำตอบให้กับคำถามนี้แน่นอน


DCA (Dollar-Cost Averaging)

หมายถึง การทยอยลงทุนสม่ำเสมอ เช่น ลงทุนเดือนละ 5,000 บาท ทุกเดือน เป็นต้น โดยประโยชน์หลักของ DCA มีอยู่ 2 อย่าง ได้แก่ (1) การเฉลี่ยต้นทุน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้ต้นทุนแพงเกินไปเมื่อเทียบกับลงทุนครั้งเดียวที่ผิดจังหวะ และ (2) การทยอยสะสมเงินอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้มีเงินเก็บ ไม่หมดไปกับการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น​



เฉลี่ยต้นทุน ดีจริงหรือ?

กองทุน K-JPX-A(A) หรือกองทุนเปิดเค ดัชนีหุ้นญี่ปุ่น-A ชนิดสะสมมูลค่า หนึ่งในกองทุนหุ้นแนะนำของ K WEALTH ประจำเดือน ม.ค. 67 ที่มีผลตอบแทนในช่วงปีปฏิทิน 66 สูงถึง 25.96% ซึ่งหากลงทุนครั้งเดียว 60,000 บาท ณ วันทำการสุดท้ายของเดือน ธ.ค. 66 จะได้ต้นทุน NAV ที่ 18.4871 บาทต่อหน่วย โดยปัจจุบัน เงินลงทุนได้กลายเป็น 63,999 บาท หรือคิดเป็นผลกำไรที่ 6.66% (ณ 29 ม.ค. 67)


แต่หากในช่วงปี 66 ลงทุนแบบ DCA เดือนละ 5,000 บาท ในกองทุน K-JPX-A(A) ทุกวันทำการสุดท้ายของเดือน โดยแต่ละครั้งจะได้ต้นทุน NAV ต่างกัน ซึ่งมีอยู่ถึง 10 ครั้ง (ม.ค.-ต.ค.) ที่ได้ต้นทุน NAV ถูกกว่าการลงทุนปลายปีที่ 18.4871 บาทต่อหน่วย และมี 5 ครั้ง ที่ได้ต้นทุนต่ำกว่า NAV เฉลี่ยที่ 17.0174 บาทต่อหน่วย (= เงินลงทุน 60,000 บาท ÷ หน่วยลงทุนที่ได้รับ 3,525.7952 หน่วย) โดยปัจจุบัน เงินลงทุนส่วนนี้ได้กลายเป็น 69,526 บาท หรือคิดเป็นผลกำไรที่ 15.88% (ณ 29 ม.ค. 67) ซึ่งสูงกว่าการลงทุนครั้งเดียวตอนสิ้นปี 66




อย่างไรก็ตาม การ DCA ในช่วงที่ราคากองทุนมีแนวโน้มลดลง มีความเสี่ยงที่จะได้ต้นทุนเฉลี่ยแพงกว่าการลงทุนสิ้นปี เช่น การลงทุนแบบ DCA ในกองทุน K-JPX-A(A) ช่วงปีปฏิทิน 61 ที่กองทุนมีผลตอบแทนขาดทุน -15.18% จะได้ต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 12.5845 บาทต่อหน่วย ซึ่งแพงกว่าการลงทุนครั้งเดียวตอนสิ้นปี 61 ที่ NAV 11.1213 บาทต่อหน่วย อยู่ที่ 13.16%


​ดังนั้นการลงทุน DCA ที่ดี ควรเลือกลงทุนในกองทุนที่มีแนวโน้มเติบโตไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง หรือมีมุมมองเชิงบวกจากสถาบันการเงินต่างๆ อย่างกองทุนหุ้นแนะนำของ K WEALTH ประจำเดือน ม.ค. 67 เช่น K-HIT-A(A), K-GHEALTH, K-VIETNAM, K-CHANGE-A(A)และ K-JPX-A(A) เป็นต้น


หรือหากยังไม่มั่นใจในสถานการณ์การลงทุนที่ผันผวนและมีความไม่แน่นอน การกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายพร้อมกับเฉลี่ยต้นทุนด้วยการลงทุนแบบ DCA ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะได้ต้นทุนที่แพง รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงหรือผลกระทบจากการขาดทุนลงได้



DCA กองทุนลดหย่อนภาษีดีไหม

​สำหรับคนที่มีแผนลงทุนกองทุนลดหย่อนภาษีอยู่แล้ว การ DCA เพื่อวัตถุประสงค์นำเงินไปลดหย่อนภาษี K WEALTH มีคำแนะนำ สำหรับกองทุนแต่ละประเภทมาฝากกันตั้งแต่ต้นปี ดังนี้ 


• กองทุน RMF: แนะนำให้ทยอยลงทุน DCA ได้ตั้งแต่ต้นปี เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่พลาดการใช้สิทธิในปีนี้และเป็นการเฉลี่ยต้นทุนการลงทุนด้วย

     o สำหรับทางเลือกการลงทุน RMF เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว แนะนำ DCA ใน RMF ที่เป็นกองทุนผสมหรือกองทุนหุ้น เช่น WPBALANCEDRMF WPULTIMATERMF และ KUSARMF เป็นต้น โดยเงินที่ลงทุนไปสามารถขายคืนได้ทั้งหมด เมื่อลงทุนต่อเนื่องถึงอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็ม 


• กองทุน TESG หรือกองทุน SSF: จากเงื่อนไขที่ต้องถือหน่วยลงทุนที่ลงทุนแต่ละครั้งให้ครบ 8 ปีเต็ม และ 10 ปีเต็มตามลำดับ เพื่อให้สะดวกตอนช่วงขายคืน แนะนำให้ทยอยลงทุนแบบ DCA ในกองทุนเปิดทั่วไปที่มีนโยบายการลงทุนใกล้เคียงกับ TESG/SSF ที่ต้องการ เพื่อนำเงินลงทุนพร้อมผลตอบแทน ไปลงทุนในกองทุน TESG/SSF เป็นเงินก้อนครั้งเดียวในแต่ละปีภาษี 

      o เช่น หากต้องการลงทุน K-VIETNAM-SSF, K-CHANGE-SSF ซึ่งเป็นกองทุนแนะนำของ K WEALTH ประจำเดือน ม.ค. 67 ในระหว่างปี 67 แนะนำให้ลงทุนแบบ DCA ในกองทุน K-VIETNAM K-CHANGE-A(A) ซึ่งเป็นกองทุนแนะนำของ K WEALTH เช่นกัน เพื่อนำเงินไปลงทุนกองทุน SSF ดังกล่าวครั้งเดียวช่วงปลายปี


สำหรับคนที่มีเงินก้อนพร้อมลงทุน ก็สามารถเลือกลงทุนแบบ DCA เพื่อเฉลี่ยต้นทุนกองทุน SSF/RMF ได้ ด้วยการลงทุนเงินก้อนเพียงครั้งเดียวตั้งแต่ต้นปีในกองทุน SSF/RMF ที่เป็นกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น อย่าง K-SF-SSF และ KSFRMF และทยอยสับเปลี่ยนไปกองทุน SSF/RMF อื่นที่เป็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมแนะนำของ K WEALTH เดือนละ 1 ครั้ง ในภายหลังได้


ลงทุนแบบ DCA ไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับใครที่ไม่เคยมีกองทุนมาก่อนสามารถเปิดบัญชีกองทุนได้เองบนแอปพลิเคชัน K PLUS ของธนาคารกสิกรไทย และลงทุนทุกเดือนได้ด้วยตนเองบน K PLUS หรือเพื่อความสะดวกไม่ต้องทำรายการลงทุนเองทุกเดือน สามารถสมัครบริการลงทุนรายเดือนอัตโนมัติได้ 2 ช่องทาง (1) แอปพลิเคชัน K-My Fund ของ บลจ.กสิกรไทย หรือ (2) K-Contact Center ของธนาคารกสิกรไทย โทร. 02-888-8888 กด 4 กด 1


อีกทั้งการเริ่มลงทุนแบบ DCA กับธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ต้นปี 67 ยังได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากโปรโมชัน ได้แก่ (1) ลงทุน DCA ในกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมทั่วไปที่ร่วมรายการ รับเครดิตเงินคืน 0.2%ของเงินลงทุนสะสมช่วง ม.ค.-มิ.ย. 67 เมื่อสมัครบริการ DCA ภายใน มี.ค. 67 เดือนละ 5,000 บาทขึ้นไป และ (2) ลงทุน DCA ในกองทุน TESG/SSF/RMF ที่เป็นกองทุนหุ้นหรือกองทุนผสมที่ร่วมรายการ รับหน่วยลงทุน K-FIXEDPLUS-A ในอัตรา 0.2%ของยอดลงทุนสะสม ระหว่างวันที่ 1 ก.พ. – 30 ธ.ค. 67


สนใจอ่านรายละเอียดโปรโมชัน ได้ที่ 

DCA กองทุนรวมทั่วไป

DCA กองทุนลดหย่อนภาษี


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน” ​


​.​

บทความโดย K WEALTH Trainer ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

กองทุนแนะนำประจำเดือน มิ.ย. K WEALTH Fund Recommend
โบนัสไม่มี ก็ไม่เศร้า เพราะสร้างได้ด้วยตัวเอง
อย่าลงทุน! ถ้ายังไม่รู้ 3 สิ่งนี้
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!