เช็คสุขภาพเศรษฐกิจครึ่งแรกของปีจีนและเวียดนาม
มองมาที่ภูมิภาคเอเชียมีประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างน่าสนใจซึ่งหนีไม่พ้นประเทศจีนและเวียดนาม ทีนี้ขอย้อนไปดูเศรษฐกิจครึ่งปีแรกกันก่อน ประเทศจีนเปิดประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ตัวเลข GDP ไตรมาส 1 กลับมาเพิ่มขึ้น 4.5% ส่วนไตรมาส 2 เติบโต 6.3% แม้เศรษฐกิจจีนกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งแต่ยังต่ำกว่าที่คาดกันไว้ นอกจากนี้ยังเผชิญกับปัญหาในภาคอสังหาฯ ทำให้นักลงทุนต่างคาดหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจน
ด้านเวียดนาม GDP ไตรมาส 1 เพิ่มขึ้น 3.32% ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 4.14% ทำให้ครึ่งแรกของปี GDP เติบโตรวม 3.72% ซึ่งนับว่าเป็นการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบทศวรรษ ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าการเติบโตปี 2023 ไว้ที่ 6.5% ดังนั้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ที่ผ่านมาธนาคารกลางเวียดนามจึงเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยสวนกระแสทิศทางทางดอกเบี้ยทั่วโลก
คำถามคือระยะที่ผ่านมาทั้งจีนและเวียดนามกำลังเผชิญอะไรอยู่บ้าง?
ประเทศจีนกำลังเผชิญกับความไม่เชื่อมั่นของนักลงทุนต่อทิศทางการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะหลังทางการจีนเริ่มมีทิศทางมากขึ้น เช่น ธนาคารกลางจีนปรับลดทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราสำรองเงินสดของธนาคารพาณิชย์ ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลและธนาคารกลางเริ่มพบปะผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีและอสังหาฯ สะท้อนสัญญาณผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มที่ใช้มากว่า 2 ปี
ซึ่งภาคอสังหาฯ เป็นประเด็นที่เข้ามากดดันตลาดหุ้นจีนเป็นระยะ ล่าสุดเป็นประเด็นหุ้นกู้ Country Garden และ Sunac Holdings ยื่นล้มละลาย แต่ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นมานานกว่า 2 ปี รวมถึงประเทศจีนมีข้อกำหนดให้วางเงินดาวน์สูง และทางการบังคับให้บริษัทต้องส่งมอบอสังหาฯ ให้ครบ ปัญหานี้จึงมีโอกาสลุกลามไม่มาก แต่จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจีนเป็นระยะ
ด้านเวียดนามแม้ยังไม่เผชิญปัญหาเท่าจีน แต่เศรษฐกิจปีนี้อาจเติบโตไม่ถึงเป้าที่ 6.5% โดยการบริโภคภายในร้อนแรงจากภาคท่องเที่ยว แต่สภาพเศรษฐกิจโลกซึ่งเริ่มชะลอตัวสร้างแรงกดดันต่อภาคส่งออกที่เป็นกำลังหลักของเศรษฐกิจเวียดนาม ดังนั้นแม้ตัวเลขเศรษฐกิจอาจไม่เข้าเป้าแต่คาดว่ารัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจาก 6% มาที่ 4.5% ซึ่งมีโอกาสสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อตลาดหุ้นได้
มองภาพระยะยาวจีนและเวียดนามยังมีโอกาสหรือไม่
ประเทศที่เติบโตได้ต้องมีกำลังคนที่ยอดเยี่ยม ยิ่งเป็นคนรุ่นใหม่ยิ่งสร้างการเติบโตได้มาก ประเทศจีนกำลังเผชิญกับสังคมผู้สูงอายุ สัดส่วนประชากรอายุ 50-59 ปี ประมาณ 16.6% ประชากรอายุ 30-39 ปี ที่กำลังก้าวขึ้นเป็นประชากรสูงอายุมีสัดส่วน 15.7% ขณะที่ประชากรคนรุ่นใหม่อายุ 15-29 ปี มีสัดส่วนเพียง 17.3%
แนวทางการเติบโตต่อจากนี้ประเทศจีนจึงต้องปรับเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเพื่อทดแทนประชากร เช่น AI, Cloud พร้อมกับต้องมีทิศทางนโยบายที่ชัดเจนโดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ส่วนเวียดนามมีประชากรอายุ 50-59 ปี เพียง 11% ประชากรอายุ 30-39 ปี มีสัดส่วน 16.4% ประชากรอายุ 15-29 ปี มีสัดส่วน 21.4% เวียดนามยังมีแนวโน้มการเติตบโตด้วยอุตสาหกรรมที่อาศัยประชากรคนรุ่นใหม่เป็นกำลังหลัก
จึงมองได้ว่าทั้งประเทศจีนและเวียดนามมีโอกาสเติบโตในระยะยาว เพียงแต่แนวทางการเติบโตต่างกันด้วยโครงสร้างประชากร
เปรียบเทียบภาพรวมตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม
ปัจจุบัน (26 ก.ย. 23) ดัชนี CSI300 ที่เป็นตัวแทนของตลาดหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่มีอัตราส่วน P/E ที่ 13.4 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 15.15 เท่า ส่วนปีนี้คาดว่า EPS จะเติบโต 12.61% ด้านดัชนี A50 ดัชนีตัวแทนหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ 50 บริษัทแรก มีอัตราส่วน P/E ที่ 11.26 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 11.86 เท่า คาดการณ์ EPS ปีนี้เติบโต 4.56%
ด้านดัชนี MSCI CHINA ที่รวบรวมบริษัทสัญชาติจีนที่จดทะเบียนทั้งในตลาดหุ้นจีนและตลาดหุ้นต่างประเทศ มีอัตราส่วน P/E ที่ 12.48 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี 14.41 เท่า นักวิเคราะห์คาด EPS ปีนี้จะเติบโต 9.97%
ส่วนดัชนี VNI ของเวียดนาม มีอัตราส่วน P/E อยู่ที่ 15.83 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีที่ 17.91 เท่า คาด EPS ปีนี้จะเติบโต 26.62%
มุมมองและคำแนะนำการลงทุนตลาดหุ้นจีนและเวียดนาม
มูลค่าของทั้งตลาดหุ้นจีนและเวียดนามประกอบกับคาดการณ์ EPS ที่ยังเติบโตโดดเด่นไม่แพ้ภูมิภาคอื่น หลังตลาดปรับตัวลงมาก่อนหน้านี้ แต่การปรับตัวลงมาทั้งตลาดหุ้นจีนและเวียดนามเกิดจากความกังวล เช่น ปัญหาภาคอสังหาฯ ในจีน, ความกังวลเรื่องข่าวลือการปรับลดวงเงินมาร์จิ้นในเวียดนาม เป็นต้น
ในระยะสั้นตลาดหุ้นจีนและเวียดนามมีความน่าสนใจเพียงแต่ยังมีความผันผวนจากความกังวลที่กล่าวมา เรามีมุมมองเป็น Neutral ต่อตลาดหุ้นจีน และมีมุมมอง Slightly Positive ต่อตลาดหุ้นเวียดนาม จึงแนะนำให้ใช้โอกาสที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงทยอยสะสมโดยเฉพาะกองทุนหุ้นเวียดนามตามความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้
ส่วนในระยะยาวทั้งตลาดหุ้นจีนและเวียดนามยังมีความน่าสนใจ จากทั้งการปรับเข้าสู่สังคมเทคโนโลยีในจีนมาแทนคน และประเทศเวียดนามที่กำลังเติบโตด้วยพลังคนและภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นหากนักลงทุนมีมุมมองการลงทุนระยะยาวก็อาจใช้โอกาสที่ตลาดปรับตัวลงจากความกังวลทยอยสะสมสำหรับการลงทุนระยะยาว