K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : กองทุน K-USA ปรับตัวลง หวั่นตลาดแรงงานแกร่งหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย แนะลดสัดส่วนลงทุน
23 มกราคม 2566
2 นาที

ประเด็นร้อน : กองทุน K-USA ปรับตัวลง หวั่นตลาดแรงงานแกร่งหนุนเฟดขึ้นดอกเบี้ย แนะลดสัดส่วนลงทุน


​​​​​​​

​"

● กองทุนหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลงจากความกังวลธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จากข้อมูลแรงงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถดถอย แนะนำหาจังหวะขายกองทุนหุ้นสหรัฐฯ หรือลดสัดส่วนการลงทุน

  

"

    
19 ม.ค. 66 ตลาดหุ้นหลักของสหรัฐฯ ทั้ง 3 ตลาด ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยดัชนี Nasdaq -0.96% S&P500 -0.76% และ Dow Jones -0.76% เทียบกับวันก่อนหน้า รวมถึงราคากองทุนหลักของ K-USA (US Advantage) ปรับตัวลดลง -4.30% เทียบกับวันก่อนหน้า ส่งผลให้ราคากองทุน K-USA ณ 19 ม.ค. 66 ปรับตัวลดลง -4.06% เทียบกับวันก่อนหน้า 
 

ทำไมกองทุน K-USA ถึงปรับตัวลดลง 


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงเนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าข้อมูลแรงงานที่ออกมาแข็งแกร่งของสหรัฐฯ นั้นจะหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเชิงรุกเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย 

โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 15,000 ราย สู่ระดับ 190,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 214,000 ราย ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่า FED จะพยายามควบคุมนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อลดความร้อนแรงของตลาดแรงงานแล้วก็ตาม

ด้านนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธาน FED สาขาเซนต์หลุยส์ นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธาน FED เฟดสาขาคลีฟแลนด์ และนางซูซาน คอลลินส์ ประธาน FED สาขาบอสตัน ต่างออกมาสนับสนุนให้ FED ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับสูงกว่า 5% เพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%

สำหรับการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ในการประชุม FED ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนธ.ค. 65 เจ้าหน้าที่ FED คาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดย FED จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 50 เป็นต้นมา 
 
ส่วนสาเหตุที่กองทุน US Advantage Fund ซึ่งเป็นกองทุนหลักของ K-USA ปรับตัวลดลงกว่า 4% หากพิจารณาหุ้น 10 อันดับแรกที่กองทุนหลักของ K-USA ลงทุนมากที่สุด ณ 31 ธ.ค. 65 คิดเป็นสัดส่วนรวม 57.23% ของมูลค่ากองทุน พบว่า ส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลง โดยมีรายละเอียดตามตารางด้านล่าง 




 จากตารางพบว่า ณ 19 ม.ค. 66 มีอยู่ 9 หุ้น จาก 10 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวม 50.10% ของมูลค่ากองทุน ที่ราคาปรับตัวลงเทียบกับวันก่อนหน้า โดยมีอยู่ 5 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนรวม 29% ของมูลค่ากองทุน ที่ราคาปรับตัวลงมากกว่า 3% เทียบกับวันก่อนหน้า ได้แก่     

Snowflake Inc ผู้ให้บริการระบบ Cloud และเน้นจัดการฐานข้อมูล 
ASML Holding NV ผู้วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรที่ใช้สำหรับการพิมพ์ลายลงบนชิป
The Trade Desk, Inc ผู้ให้บริการการตลาดแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์สำหรับผู้ซื้อโฆษณาดิจิทัล
Cloudflare Inc ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ สร้างแพลตฟอร์มคลาวด์ที่ให้บริการเครือข่ายหลากหลายแก่ธุรกิจ 
Datadog Inc ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มมอนิเตอร์และเก็บข้อมูลความมั่นคงปลอดภัย

จะเห็นว่ากองทุน K-USA เป็นกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก (active management) จึงมีความผันผวนสูง และราคาสามารถปรับขี้นหรือลงได้แรงกว่าดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดังนั้น นักลงทุนควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร อัปเดตสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างมีสติ 


คำแนะนำการลงทุน


ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ เช่น K-USA, K-US500X แนะนำให้หาจังหวะขายหรือลดสัดส่วนการลงทุน  
เพื่อลดความผันผวนของพอร์ตโดยรวม ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุน ยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุน

สำหรับผู้ที่คาดหวังผลตอบแทน รับความเสี่ยงได้ หรือมีเวลาติดตามสถานการณ์การลงทุน แนะนำให้ลงทุนกองทุนหุ้นจีน เช่น K-CHINA ที่ราคากองทุนปรับขึ้นมาตั้งแต่เดือนพ.ย. 65

สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แต่ยังคงรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้หรือต้องการรับผลตอบแทนระยะยาว แนะนำลงทุนกองทุนผสม เช่น กองทุน K-GINCOME-A(A) ที่มีการแบ่งสัดส่วนและกระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายทั่วโลก ช่วยลดความผันผวนและความเสี่ยงจากการลงทุนในสินทรัพย์หรือหุ้นที่กระจุกตัวเพียงบางประเทศ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Ryt9

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”



บทความโดย K WEALTH TRAINER สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ CFP®

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!