K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : ตลาดหุ้นทั่วโลกยังผันผวน แนะลงทุนระยะยาวเพื่อรับมือ
18 ตุลาคม 2565
2 นาที

ประเด็นร้อน : ตลาดหุ้นทั่วโลกยังผันผวน แนะลงทุนระยะยาวเพื่อรับมือ


​​“

• เศรษฐกิจถดถอยและการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ยังคงเป็นปัจจัยหลัก เชิงลบต่อตลาดหุ้นในภาพรวม แม้ระยะสั้นอาจมีข่าวดีมากระทบทำให้กองทุนบางกลุ่มมีการปรับตัวขึ้นได้ก็ตาม


• กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงส่วนใหญ่ยังคงมีความผันผวน โดยการอาจมีการปรับตัวขึ้นและลงสลับกันได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน


• ผู้ลงทุนควรประเมินสัดส่วนเงินลงทุนที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้ เพื่อพิจารณาลงทุนเพิ่มในกองทุน K-CHX K-JPX หรือขายคืนบางกองทุนที่ถืออยู่หากมีกำไร



ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอย ยังคงส่งผลให้สินทรัพย์การลงทุนมีความผันผวน โดยวันพฤหัสบดีที่ 13 ต.ค. 65 เมื่อสหรัฐฯ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค เดือน ก.ย. 65 เมื่อเทียบเป็นรายปี มีการปรับเพิ่มขึ้น 8.2% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.1% และหากเทียบเป็นรายเดือนแล้ว ยังคงสูงขึ้น 0.4%จากเดือนก่อนหน้าเดือน ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน เทียบรายปีเพิ่มขึ้น 6.6% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.5% ส่วนรายเดือนก็ยังเพิ่มขึ้น 0.6%จากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง



ผลกระทบจาก CPI ที่สูงกว่าคาด

จากตัวเลข CPI ที่สูงกว่าคาด ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED จะยังคงเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยต่อไป ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อต้นทุนการเงินของภาคธุรกิจ และเป็นการเพิ่มความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยให้กับนักลงทุนอีกด้วย ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลง โดย ณ 14 ต.ค. 65 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวลดลงโดยเฉพาะดัชนี NASDAQ -3.08%เทียบกับวันก่อนหน้า ส่งผลให้กองทุนหลักของ K-USXNDQ-A (Invesco QQQ) ปรับตัวลง -3.10%เทียบกับวันก่อนหน้า


นอกจากนี้ ความกังวลเรื่องเศรษฐกิจถดถอยยังส่งผลต่อความต้องการใช้พลังงานที่อาจลดลง ส่งผลให้กองทุนหลักของ K-OIL (Invesco DB Oil) ปรับตัวลดลง -3.55%เทียบกับวันก่อนหน้า แม้ก่อนหน้านี้ราคาน้ำมันดิบและกองทุนหลักของ K-OIL จะปรับตัวขึ้นมาจากการประกาศลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือ OPEC+ ก็ตาม



ท่ามกลางข่าวร้าย ยังมีตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นได้

ในภาพรวมของเศรษฐกิจ แม้จะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจอาจถดถอยซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกองทุนต่างๆ ที่ผู้ลงทุนถืออยู่ แต่ในระยะสั้น ก็มีข่าวดีที่ทำให้ตลาดหุ้นหรือกองทุนบางกลุ่มมีการปรับตัวขึ้นมาได้ เช่น


• ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกง

ณ 14 ต.ค. มีการปรับตัวขึ้น 1.21%-2.39%เทียบกับวันก่อนหน้า เนื่องจากธนาคารกลางจีน (PBOC) ส่งสัญญาที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจจีนมากขึ้น โดยจะให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และจะเร่งอัตราการส่งมอบโครงการบ้าน โดยล่าสุด 17 ต.ค. คณะกรรมการ PBOC มีมติคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ที่เป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า PBOC อาจตรึงอัตราดอกเบี้ยลูกค้าชั้นดี (LPR) ในสัปดาห์นี้ด้วย


• ตลาดหุ้นญี่ปุ่น

ณ 14 ต.ค. เช่น ดัชนี Nikkei 225 +3.25%เทียบกับวันก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนมีการเข้าซื้อหุ้นกลุ่มส่งออกหลังจากเงินเยนที่อ่อนค่าลงอีก ประกอบกับมีการเข้าซื้อเก็งกำไรในตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังจากที่ตลาดหุ้นมีการปรับตัวลงหลายวันติดต่อกัน


• ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

ณ 17 ต.ค. ปรับตัวขึ้น 1.86%-3.43%เทียบกับวันก่อนหน้า หลังจากแบงก์ ออฟ อเมริกาเปิดเผยผลประกอบการที่ดีเกินคาด ทำให้นักลงทุนมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนอื่น อย่างไรก็ตามในช่วงประกาศผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมักเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีความผันผวน อาจปรับตัวขึ้นลงแรงสลับกันได้



กองทุนที่มีความผันผวน ในช่วงนี้

กองทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น กองทุนหุ้น กองทุนหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรม กองทุนน้ำมัน ฯลฯ ถือเป็นกองทุนที่ราคามีความผันผวน โดยเฉพาะกองทุนที่มีกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก เช่น กองทุนหลักของ K-USA (MS US Advantage) ที่ ณ 14 ต.ค. ราคามีการปรับตัวขึ้น +4.91%เทียบกับวันก่อนหน้า สวนทางกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลง ซึ่งเป็นเรื่องปกติในระยะสั้นสำหรับกองทุนเชิงรุก แต่ในระยะยาวแล้วผลตอบแทนหรือแนวโน้มกองทุนก็มักสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นที่อ้างอิง


หากพิจาณาจากกองทุนหลักหรือกองทุนต่างประเทศ ที่กองทุนของ KAsset มีการลงทุนอยู่ มีอยู่หลายกองทุนที่มีความผันผวนในช่วงนี้ เช่น





คำแนะนำการลงทุน

• ผู้ที่ถือกองทุน K-OIL หากมีกำไรอยู่ แนะนำให้ขายออกทั้งหมด 


• ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นญี่ปุ่น กองทุน Healthcare/Property/Infrastructure หากสามารถลงทุนได้ในระยะยาว แนะนำให้ตรวจสอบสัดส่วนเงินลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงการลงทุนของตนเอง 


     o หากมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง (เช่น กองทุนหุ้น) ในสัดส่วนที่สูงอยู่แล้ว แนะนำถือต่อเพื่อประเมินสถานการณ์ และหาโอกาสทยอยปรับสัดส่วนการลงทุนหากกองทุนที่ถืออยู่มีกำไร 


     o หากมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง (เช่น กองทุนหุ้น) ในสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ แนะนำติดตามสถานการณ์เพื่อหาโอกาสทยอยลงทุนในกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX) หรือกองทุนหุ้นญี่ปุ่น (เช่น K-JPX) 


• สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, ryt9 


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”


บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ผลกระทบการลงทุน หลัง IMF-World Bank สรุปแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลก
ประเด็นร้อน : เตรียมพร้อมรับมือ ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน
รู้จัก "Stop Loss" เทคนิคป้องกันไม่ให้เจ็บหนักเวลาตลาดดิ่ง