K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : เตรียมพร้อมรับมือ ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน
12 ตุลาคม 2565
2 นาที

ประเด็นร้อน : เตรียมพร้อมรับมือ ตลาดหุ้นทั่วโลกผันผวน


​​

"


● ข้อมูลการจ้างงานเดือน ก.ย. ของสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่ง เป็นการเพิ่มความกังวลของนักลงทุนที่ FED อาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง


● ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลง ตามตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลงในคืนวันที่ 7 ต.ค. ในขณะที่บางประเทศหรือภูมิภาค ก็มีปัจจัยอื่นที่ส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นเช่นกัน


● ผู้ลงทุนควรทบทวนสัดส่วนเงินลงทุนของตนเอง และหาโอกาสปรับสัดส่วนการลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นและกองทุนที่มีอยู่มีความผันผวนอยู่


"


ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจโลกอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย คือ สิ่งที่นักลงทุนวิตกกังวล เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกที่ค่อนข้างมีความผันผวนและปรับตัวลงได้ง่ายหากเริ่มมีสัญญาณที่ทำให้สิ่งที่กังวลนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยปัจจัยที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยมากขึ้น คือ การที่ธนาคารกลางต่างๆ โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED มีการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจและประชาชนทั่วไป

เหตุผลหลักในการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลักของโลก เช่น FED คือ ความต้องการควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งใจ ซึ่งหนึ่งในวิธีการ คือ นโยบายการเงินที่เข้มงวดอย่างการเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้ผู้มีเงินออมนำเงินไปฝากไว้กับธนาคารซึ่งให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ส่วนผู้ที่ต้องการกู้เงินก็ชะลอการกู้หรือกู้เท่าที่จำเป็นเพราะต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการจับจ่ายน้อยลง ราคาสินค้าและบริการเติบโตช้าลง อัตราเงินเฟ้อซึ่งเป็นตัววัดการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและบริการดังกล่าวก็ลดลงหรือเติบโตในอัตราที่ช้าลง

แต่เหรียญมักมีสองด้าน การที่ FED เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง จนนักลงทุนส่วนใหญ่กังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศอื่นทั่วโลกด้วย ดังนั้นหากนักลงทุนเห็นสัญญาณว่า FED จะเร่งขึ้นดอกเบี้ย ก็มักส่งผลให้ตลาดหุ้นปรับตัวลง ในทางกลับกันหากนักลงทุนเห็นสัญญาณว่า FED อาจชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นก็มักปรับตัวขึ้น ซึ่งการปรับตัวขึ้นลงจากทิศทางของ FED นี้ เป็นเพียงการเคลื่อนไหวระยะสั้น ที่อาจต่างไปจากแนวโน้มระยะยาวตามปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ

ล่าสุดเมื่อวันศุกร์ที่ 7 ต.ค. (คืนวันที่ 7 ต.ค. ตามเวลาประเทศไทย) สหรัฐฯ ได้มีการเปิดเผยข้อมูลการจ้างงานเดือน ก.ย. ที่ออกมาแข็งแกร่ง ซึ่งแม้จะเป็นข่าวดีทางเศรษฐกิจ แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ FED ยังจำเป็นต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยในอนาคต โดยหลังจากการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าว ในวันที่ศุกร์ที่ 7 ต.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีการปรับตัวลง เช่น ดัชนี NASDAQ -3.80% S&P 500 -2.80% และ Dow Jones -2.10%เทียบกับวันก่อนหน้า ส่วนตลาดหุ้นยุโรป เช่น ดัชนี STOXX 600 -1.18%เทียบกับวันก่อนหน้า เช่นกัน

สำหรับตลาดหุ้นจีนที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วปิดทำการไป เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ต.ค. ที่เปิดทำการซื้อขายก็มีการปรับตัวลงด้วย เช่น ดัชนี CSI 300 -2.21% China A50 -2.48%  และ Hang Seng -2.95%เทียบกับวันก่อนหน้า ส่วนตลาดหุ้นเวียดนาม วันที่ 11 ต.ค. ก็ปรับตัวลงด้วย เช่น VN Index -3.48%เทียบกับวันก่อนหน้า


ปัจจัยอื่น ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้น


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบจากการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน

ตลาดหุ้นยุโรป ยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และนักลงทุนระมัดระวังการซื้อขายหุ้นก่อนการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนรายใหญ่ในสัปดาห์นี้

จีน มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นหลังช่วงหยุดยาว ประกอบกับความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศควบคุมการส่งออกชิปให้กับจีน

เวียดนาม ได้รับผลกระทบจากข่าวที่ว่ามีธนาคารและโบรคเกอร์บางแห่งถูกทางการสั่งให้ต้องรับผิดชอบในการออกหุ้นกู้ที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ส่งผลให้ชาวเวียดนามจำนวนมากแห่ไปถอนเงินจากธนาคารที่เกี่ยวข้อง อีกปัจจัยหนึ่ง คือ ตลาดหุ้นเวียดนามมีสัดส่วนหลักเป็นนักลงทุนรายย่อย หลายครั้งที่เมื่อตลาดหุ้นปรับตัวลดลงทำให้นักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชีมาร์จิ้น (Margin) ถูกบังคับขาย จึงส่งผลให้ตลาดหุ้นเวียดนามมีความผันผวนสูงกว่าตลาดหุ้นอื่นในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน


กองทุนที่มีการปรับตัวลง



 ​

คำแนะนำการลงทุน


ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นยุโรปอยู่ แนะนำให้ขายออกหรือลดสัดส่วนการลงทุนลง

ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ กองทุนหุ้นจีน กองทุนหุ้นเวียดนาม ที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาว แนะนำให้ตรวจสอบสัดส่วนเงินลงทุนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงการลงทุนของตนเอง

     o หากมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง (เช่น กองทุนหุ้น) ในสัดส่วนที่สูงแล้ว แนะนำถือต่อเพื่อประเมินสถานการณ์ และหาโอกาสทยอยปรับสัดส่วนการลงทุนหากกองทุนที่ถืออยู่มีกำไร

     o หากมีการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง (เช่น กองทุนหุ้น) ในสัดส่วนที่ยังน้อยอยู่ แนะนำติดตามสถานการณ์เพื่อหาโอกาสทยอยลงทุนในกองทุนหุ้นเวียดนาม (เช่น K-VIETNAM) หรือกองทุนหุ้นจีน (เช่น K-CHX)

สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, ryt9, stock2morrow​

Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”




บทความโดย K WEALTH TRAINER ราชันย์ ตันติจินดา CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

จับตาตัวเลขเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งสัญญาณปรับพอร์ตให้แกร่ง
ประเด็นร้อน : จังหวะทยอยสะสมหุ้นเวียดนามในช่วงปรับลงระยะสั้น
รู้จัก "Stop Loss" เทคนิคป้องกันไม่ให้เจ็บหนักเวลาตลาดดิ่ง