6 และ 7 ต.ค. 65 ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลดลง 2 วันติดต่อกัน โดยดัชนีหุ้นเวียดนาม VN30 -3.22% และ -3.87% เทียบกับวันก่อนหน้า ตามลำดับ และดัชนี VNI -2.69% และ -3.59% เทียบกับวันก่อนหน้า ตามลำดับ ส่งผลให้กองทุน K-VIETNAM ปรับตัวลงเช่นกัน โดย ณ 6 และ 7 ต.ค. 65 กองทุน K-VIETNAM ปรับตัวลดลง -3.09% และ -3.59% เทียบกับวันก่อนหน้า ตามลำดับ
เกิดอะไรขึ้นกับหุ้นเวียดนาม
ตลาดหุ้นเวียดนาม ณ 6 และ 7 ต.ค. 65 ปรับตัวลดลงติดต่อกันและลงแรงกว่าตลาดหุ้นทั่วโลกเนื่องจาก
• ธนาคารกลางเวียดนามปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1% ในวันที่ 23 ก.ย. 65 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของค่าเงินดองที่อ่อนค่าลงต่อเนื่องตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ ส่งผลให้สภาพคล่องในระบบลดลง
• นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นเวียดนามหลังจากค่าเงินดองอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ตามทิศทางของสกุลเงินทั่วโลก
• หลังจากราคาหุ้นปรับตัวลง นักลงทุนรายย่อยที่ใช้บัญชีมาร์จิ้น (Margin) ซึ่งเป็นบัญชีการกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้นเวียดนาม ถูกบังคับขายจากราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง
อย่างไรก็ตาม แม้หุ้นเวียดนามมีความผันผวนในระยะสั้น แต่ระยะยาวเศรษฐกิจของเวียดนามยังสามารถเติบโตได้ดีจากปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่ง นักลงทุนจึงควรหมั่นติดตามข้อมูลข่าวสาร อัปเดตสถานการณ์การลงทุนอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างมีสติ ลงทุนด้วยความระมัดระวังในภาวะที่ตลาดมีความผันผวนสูง เช่น ในช่วงที่ตลาดหุ้นเวียดนามมีการปรับตัวลงอย่างในช่วง 2 วันที่ผ่านมา
มุมมองการลงทุน
• บลจ.กสิกรไทย ยังคงมุมมอง Positive ในตลาดหุ้นเวียดนาม เนื่องจากปัจจัยมหภาคของเวียดนามยังคงแข็งแกร่ง ทั้งด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การส่งออก การบริโภคภายในประเทศ รวมถึงอัตราการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนยังอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าในปี 65 อยู่ที่ +24.1% และในปี 66 อยู่ที่ +16.8%
• GDP ไตรมาส 3 ของเวียดนามโต 13.7% นับเป็นการขยายตัว 4 ไตรมาสติดต่อกัน ในขณะที่เงินเฟ้อแม้จะเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย
• อีกทั้งเวียดนามยังได้รับอานิสงส์จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับชาติตะวันตก รวมถึงสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ทำให้ภูมิภาคอาเซียนที่ค่อนข้างเป็นกลางทางภูมิรัฐศาสตร์น่าจะได้รับประโยชน์ในระยะยาว
สถานการณ์ลงทุนอื่นที่น่าสนใจ
• ตลาดหุ้นหลายตลาดปรับตัวลง โดย ณ 7 ต.ค. ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เช่น ดัชนี Nasdaq -3.80% S&P 500 -2.80% และ Dow Jones -2.11% เทียบกับวันก่อนหน้า โดยกองทุนหลักจาก K-USA (กองทุน MS US Advantage) -5.47% และกองทุนหลักของ K-USXNDQ-A (กองทุน Invesco QQQ) -3.81% เทียบกับวันก่อนหน้า หลังสหรัฐฯ เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่สูงกว่าคาด ซึ่งแม้เป็นสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจ แต่นักลงทุนกลับกังวลว่าจะเป็นปัจจัยหนุนให้ FED (ธนาคารกลางสหรัฐฯ) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย หลายตลาดหุ้นจึงปรับตัวลง จากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนเคยคลายความกังวลลง โดยคาดว่า FED อาจไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ย จนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นได้ในวันที่ 4 ต.ค. นอกจากนี้ กองทุนผสมที่มีการลงทุนในต่างประเทศ อย่างกองทุน K-FITL และ K-FITXL ณ 6 ต.ค. (ราคาล่าสุด) ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น +3.14% และ +3.31% เทียบกับวันก่อนหน้า ตามลำดับ เนื่องจากหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นในช่วงวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งตลาดยังไม่ได้รับรู้ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เกิดขึ้นในวันที่ 7 ต.ค.
• กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร หรือ OPEC+ มีมติปรับลดกำลังการผลิตเดือน พ.ย. ลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เมื่อวันที่ 5 ต.ค. ทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น เห็นได้จากกองทุนหลักของ K-OIL (Invesco DB Oil Fund) ราคามีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อ 7 ต.ค. ราคามีการปรับตัวขึ้น 3.00% เทียบกับวันก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม จากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก ที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานลดลง ราคาน้ำมันดิบก็อาจลดลงได้ในระยะยาว
คำแนะนำการลงทุน
• ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นเวียดนาม เช่น K-VIETNAM, KVIETNAMRMF อยู่ แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม สามารถทยอยลงทุนเพิ่มได้ แต่ควรเป็นเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือตามเงื่อนไขของกองทุน RMF
• สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น หากรับความเสี่ยงได้บ้าง แนะนำพักเงินในกองทุน K-SF ซึ่งเหมาะกับการพักเงิน 3 เดือนขึ้นไป เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนระหว่างที่รอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Finnomena, การเงินธนาคาร
Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”