ภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 วัน สลากดิจิทัลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 5 ล้านกว่าใบ ที่เริ่มจัดจำหน่ายในวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ก็หมดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเหตุผลส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะความสะดวกสบายในการซื้อผ่านแอปพลิเคชัน รวมถึงราคา 80 บาทที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ วันนี้หาซื้อได้ยาก จนภาครัฐต้องเข้ามาแก้ไขปัญหาสลากราคาแพงด้วยวิธีดังกล่าว
แก้ปัญหาขายสลากเกินราคา แต่ไม่ได้แก้โอกาสความน่าจะรวยให้สูงขึ้น
เป็นที่ทราบกันดีว่านี่คือจุดเริ่มต้นของการแก้ปัญหาราคาสลากแพง ที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน แม้วันหนึ่งภาครัฐจะสามารถแก้ปัญหาสลากแพงได้แบบ 100% แต่ในอีกมุมที่ผู้เล่นทั้งหน้าใหม่ หรือเซียนหวยมือฉมัง ก็รู้กันเต็มอกว่า โอกาสถูกรางวัลในปัจจุบันก็ยังมีน้อยอยู่เหมือนเดิม
สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือ หวยบนดินตามภาษาชาวบ้าน มีรางวัลที่มีโอกาสถูกมากที่สุดคือ รางวัลเลขท้าย 2 ตัวจำนวนเงิน 2,000 บาท ซึ่งออกเพียงเลขเดียวในแต่ละงวด
โดยตัวเลขที่สามารถออกได้มีทั้งหมด 100 แบบ ตั้งแต่ 00 ถึง99
ดังนั้น หากคิดเป็นตัวเลขทางคณิตศาสตร์
ความน่าจะเป็นที่จะถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัวคือ 1 ใน 100 หรือ 1% เท่านั้น สำหรับการซื้อสลากเพียง 1 ใบ
แต่หากต้องการถูกรางวัลแบบแน่นอน เท่ากับว่างวดนั้นต้องซื้อเลขท้ายตั้งแต่ 00 ถึง 99 ซึ่งคิดเป็นจำนวน 100 ใบ มูลค่า 8,000 บาท เพื่อให้ได้รับรางวัล 2,000 บาท จึงสรุปได้ว่ามีแต่เสียกับเสีย
แล้วแบบนี้ควรซื้อเท่าไหร่ดี
ถ้าต้องการซื้อให้มีโอกาสถูกเลขท้าย 2 ตัวมากที่สุด และยังพอมีกำไรบ้าง ก็อาจซื้อได้สูงสุดไม่เกิน 24 ใบในเลขที่ไม่ซ้ำกัน จะเพิ่มโอกาสถูกเป็น 24% คิดเป็นจำนวนเงินทุน 1,920 บาท หากถูกรางวัล จะได้รับเงินรางวัล 2,000 บาท หักต้นทุนแล้วเหลือกำไร 80 บาท แต่หากไม่ถูกเลย 1,920 บาทก็จะหายไปในทันที
ดังนั้น ถ้าจะลุ้นแค่เลขท้าย 2 ตัว การซื้อเพียงไม่กี่ใบก็อาจจะดูคุ้มค่ากว่า เพราะใช้เงินน้อย เพื่อลุ้นเงินมาก แตกต่างจากตัวอย่างข้างต้นที่ใช้เงินมากเพื่อมาลุ้นกำไรที่น้อยลง รวมถึงในหลักการเดียวกันหากคิดถึงความคุ้มทุน คุ้มค่า การซื้อสลากจำนวนเยอะๆ แม้เลขแตกต่างกัน ก็ไม่ได้เพิ่มโอกาสการถูกรางวัลใหญ่ๆ มากเท่าไหร่นัก
ตามที่เราทราบกันถึงเรื่องของโอกาส และความเสี่ยง สุดท้ายความป็นจริง หลายคนที่ซื้อเยอะๆ ก็มีหลากหลายเหตุผลในการซื้อของตัวเองอยู่ดี
เช่น ซื้อเพราะความสนุกบ้าง ซื้อเลขท้ายซ้ำกันหลายๆ ใบ เพื่อให้เวลาถูก จะได้รางวัลเบิ้ลเข้าไปบ้าง หรือชอบซื้อเลขไม่ซ้ำเยอะๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง เผื่อถูกรางวัลที่ 1 ได้รับเงิน 6 ล้านบาทขึ้นมา จะได้นำเงินไปทำตามความฝันของตัวเอง แต่ละคนก็มีเหตุผลที่ซื้อเยอะแตกต่างกันไป ซึ่งปัจจุบันก็มีเทคนิควิธีการ ที่ช่วยให้เราสามารถจับเงินล้าน รางวัลที่ 1 ได้อีกหลายวิธี
การลงทุนก็พาไปสู่รางวัลที่ 1 ได้เหมือนกัน
หลายคนเลือกซื้อสลากด้วยเลขที่แตกต่างกันหลายใบ เพื่อเพิ่มโอกาสการถูกรางวัล ให้มากกว่าการซื้อเลขเดียวหลายใบ วิธีการซื้อสลากด้วยเลขที่แตกต่างกันหลายใบแบบนี้เรียกว่าเป็นวิธีการ “กระจายความเสี่ยง” แม้ว่าสุดท้ายมูลค่าจะเหลือ “ศูนย์” หากไม่ถูกรางวัลเลย
ในขณะเดียวกันการลงทุนสม่ำเสมอเป็นประจำ ก็สามารถพาเราไปสู่เงินล้านเหมือนถูกรางวัลที่ 1 ได้เช่นกัน และยิ่งคอหวยเป็นผู้รับความเสี่ยงได้สูงอยู่แล้ว ยิ่งไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูง ก็มีโอกาสไปสู่เงินล้านได้ง่ายมากยิ่งขึ้น
ดังนั้น จึงแนะนำแบ่งเงินส่วนหนึ่งที่เป็นค่าสลากในแต่ละงวด มาลองลงทุนเป็นประจำทุกเดือนในสินทรัพย์ลงทุนบ้าง เช่น ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นต่างประเทศ ที่แม้ความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง และสามารถพาเราไปสู่รางวัลที่ 1 ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราได้ทั้งลุ้นสลาก และได้ลงทุนไปสู่เป้าหมายร่วมกัน
ตัวอย่างเช่น ปกติซื้อสลากทุกงวด งวดละ 800 บาทเป็นประจำ ตกเดือนละ 1,600 บาท หากแบ่งเงินจากการซื้อสลากทุกงวด งวดละ 400 บาท 1 เดือนมี 2 งวด เท่ากับแบ่งเงินมาเดือนละ 800 บาท รวมเป็นเงิน 9,600 บาทต่อปี โดยนำเงินไปลงทุนดัชนีหุ้นสหรัฐฯ* ผลตอบแทนย้อนหลัง 13.05%** ต่อปี และลงทุนเพิ่มทุกปี ปีละ 9,600 บาท
ลงทุนเป็นระยะเวลาประมาณ 2 ปี เงินจะงอกเงยเป็น 20,000 บาท เท่ากับถูกรางวัลที่ 5
ลงทุนเป็นระยะเวลาประมาณ 3 ปี 6 เดือน เงินจะงอกเงยเป็น 40,000 บาท เท่ากับถูกรางวัลที่ 4
ลงทุนเป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 11 ปี เงินจะงอกเงยเป็น 200,000 บาท เท่ากับถูกรางวัลที่ 2
ลงทุนเป็นระยะเวลาประมาณ 36 ปี เงินจะงอกเงยเป็น 6,000,000 บาท เท่ากับถูกรางวัลที่ 1
ยิ่งเราสามารถเพิ่มเงินลงทุนในแต่ละปีได้มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็สามารถที่จะไปถึงเป้าหมายได้ไวขึ้น รวมถึงถ้าลงทุนด้วยระยะเวลาเท่าเดิม เงินเป้าหมายก็จะเติบโตมากขึ้นไปอีก
คำแนะนำสำหรับคอหวยที่อยากลุ้นรางวัลแบบฟรีๆ
• สลากออมทรัพย์
สลากออมทรัพย์เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับคอหวย เพราะเมื่อนำเงินไปฝากในสลากออมทรัพย์ จะได้ลุ้นรางวัลมากมาย ตั้งแต่รางวัลเล็กๆ ไปจนถึงรางวัลใหญ่ๆ หลักล้านบาททุกงวดตามเงื่อนไข นอกจากนี้ หากไม่ถูกรางวัลเลย ก็ไม่เสียเงินต้น เพราะเมื่อครบกำหนดอายุตามเงื่อนไข ก็จะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนกลับมา ซึ่งก็เป็นการได้ลุ้นรางวัลแบบฟรีๆ นั่นเอง
• เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์
สำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการสังกัดหน่วยงานราชการต่างๆ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจ ส่วนใหญ่จะมีสหกรณ์ออมทรัพย์ประจำหน่วยงานอยู่แล้ว ซึ่งหากเราสมัครเป็นสมาชิก ก็จะได้รับสิทธิในการฝากเงินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งให้ดอกเบี้ยค่อนข้างสูง หรือเข้าถือหุ้นของสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อรับปันผลรายปีตามผลการดำเนินงาน ซึ่งเราสามารถนำผลตอบแทนส่วนนี้มาใช้ในการซื้อสลากแบบฟรีๆ ได้
ตัวอย่างเช่น สหกรณ์ออมทรัพย์ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ 3% ต่อปี โดยปกติซื้อสลากทุกงวด งวดละ 10 ใบ เป็นจำนวนเงิน 800 บาท โดยใน 1 ปี มี 24 งวด คิดเป็นเงินที่ต้องใช้ทั้งหมดต่อปีอยู่ที่ 19,200 บาท
เราสามารถสร้างเงินนี้ขึ้นมาด้วยวิธีง่ายๆ เพื่อนำมาซื้อสลากแบบฟรีๆ โดยฝากเงินในสหกรณ์ออมทรัพย์จำนวน 640,000 บาท ดอกเบี้ย3% ต่อปี จะได้รับดอกเบี้ยเป็นจำนวน 19,200 บาท
เราสามารถนำเงินนี้มาซื้อสลากงวดละ 10 ใบ จำนวน 24 งวดได้ตลอดทั้งปีแบบสบายๆ แต่ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ย และปันผลของแต่ละสหกรณ์ก็มีการจ่ายที่ไม่เท่ากัน รวมถึงมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป จึงควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม
• ลงทุนพันธบัตร/หุ้นกู้
อีกทางเลือกสำหรับใครที่เป็นสายการลงทุนน่าจะคุ้นเคยกันดี สำหรับการลงทุนในพันธบัตรหรือหุ้นกู้คุณภาพดีที่ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ โดยสิ่งแรกที่เราต้องทำคือ หาพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอกับเงินที่เราจะนำไปซื้อสลาก
เช่น มีเงินต้น 640,000 บาท ต้องการซื้อสลากทั้งปี 19,200 บาท ก็ต้องหาพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทน 3% เป็นต้น
ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นอีกวิธีที่ค่อนข้างง่าย เพราะเมื่อนำเงินไปลงทุนแล้ว เราก็รอหุ้นกู้หรือพันธบัตรจ่ายผลตอบแทนออกมา แล้วเราก็นำเงินไปซื้อสลากในแต่ละงวดเหมือนเดิม
แต่วิธีดังกล่าวก็มีข้อจำกัดตรงที่โดยปกติแล้ว พันธบัตรและหุ้นกู้มักมีจำนวนจำกัด จึงทำให้หลายครั้งเราอาจพลาดโอกาสการลงทุนวิธีนี้ได้
* ดัชนีหุ้นสหรัฐฯที่กล่าวถึง คือ ดัชนี S&P500 ซึ่งคำนวณจากหุ้นใหญ่ 500 ตัว
** 13.05% เป็นผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี ณ วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ของดัชนีชี้วัดกองทุน K-USA-A(D) ซึ่งดัชนีชี้วัดถูกคำนวณจาก ดัชนี S&P 500 ปรับด้วยต้นทุนการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเทียบกับค่าสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน ร้อยละ 75 • ดัชนี S&P 500 ปรับด้วยอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อเทียบกับค่าสกุลเงินบาท ณ วันที่คำนวณผลตอบแทน ร้อยละ 25