รวบรวม 11 ข้อที่ต้องรู้ ก่อนเปิดธุรกิจร้านอาหาร ให้ประสบความสำเร็จ รวบรวม 11 ข้อที่ต้องรู้ ก่อนเปิดธุรกิจร้านอาหาร ให้ประสบความสำเร็จ

รวบรวม 11 ข้อที่ต้องรู้ ก่อนเปิดธุรกิจร้านอาหาร เปิดยังไงให้ประสบความสำเร็จ

ธุรกิจร้านอาหารเป็นธุรกิจที่หลายคนใฝ่ฝันอยากจะเป็นเจ้าของ เพราะดูแล้วน่าจะทำง่าย ขายคล่อง กำไรดี แต่ทุกอย่างอาจไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ทุกการลงทุนมีความเสี่ยง และธุรกิจร้านอาหารก็มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ก่อนจะเปิดร้านอาหาร จึงจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลและศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ วันนี้ K BIZ จึงมีข้อมูลที่น่าสนใจมาฝาก นั่นก็คือ ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนเปิดร้านอาหารที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจของคุณประสบความสำเร็จ

เตรียมเงินลงทุนให้พร้อม หาแหล่งเงินทุน

1. เตรียมเงินลงทุนให้พร้อม หาแหล่งเงินทุน

ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม เงินทุนเป็นปัจจัยแรกที่ต้องคำนึงถึง ซึ่งธุรกิจร้านอาหารต้องอาศัยเงินลงทุนตั้งต้น ทั้งค่าเช่าที่ ค่าตกแต่งร้าน ค่าเครื่องมือ อุปกรณ์ต่างๆ ค่าจ้างพนักงาน ค่าวัตถุดิบ ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ จึงควรเตรียมเงินไว้ให้พร้อมก่อน อาจเป็นเงินเก็บส่วนตัว เงินจากครอบครัว ร่วมหุ้นส่วนกับเพื่อน หรือกู้เงินจากธนาคาร นอกจากนี้ ยังควรเตรียมเงินเผื่อเอาไว้เป็นเงินทุนสำรอง และเงินทุนหมุนเวียนสำหรับช่วงเริ่มกิจการ

2. กำหนดคอนเซ็ปต์ของร้าน ตั้งชื่อร้านให้เรียกง่ายและติดหู

การกำหนดคอนเซปต์ หรือแนวคิดของร้านที่ชัดเจน จะทำให้การวางแผนธุรกิจร้านอาหารในขั้นต่อๆ ไปรวดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหาทำเล การคิดเมนู สไตล์การตกแต่งร้าน ฯลฯ เพราะฉะนั้นต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าจะขายอะไร กลุ่มเป้าหมายคือใคร มีจุดเด่นอะไรบ้าง เพราะแม้จะเปิดร้านอาหารเหมือนกัน ก็ไม่จำเป็นต้องเน้นที่รสชาติเพียงอย่างเดียว อาจจะเน้นไปที่บรรยากาศ การตกแต่ง หรือธีมร้านที่แหวกแนวไม่ซ้ำใคร เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ เมื่อได้คอนเซปต์แล้วก็นำมาใช้ในการตั้งชื่อร้านให้สอดคล้องกัน เช่น ตั้งชื่อตามชนิดอาหาร ทำเลที่ขาย ชื่อที่โดดเด่น แปลกใหม่ จะดูน่าสนใจ แต่ก็ต้องเป็นคำที่เรียกง่าย ติดหู ทำให้คนจำได้เร็ว

จดทะเบียนขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย

3. จดทะเบียนขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย

การทำธุรกิจร้านอาหารควรดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาในอนาคต หลักๆ คือ การจดทะเบียนพาณิชย์ ซึ่งมี 2 ประเภท คือ ประเภทบุคคลธรรมดา และประเภทนิติบุคคล ซึ่งต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน ตั้งแต่เริ่มกิจการ นอกจากนี้ ยังมีใบอนุญาตในกรณีต่างๆ เช่น ใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหารในกรณีที่ร้านมีขนาดเกิน 200 ตร.ม. หรือใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ในกรณีที่อยากเปิดร้านขายอาหารและมีเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ เป็นต้น ที่สำคัญควรจะศึกษาเรื่องภาษีไว้ด้วย เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะหากละเลย อาจโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมากกว่าเดิม

4. เลือกทำเลที่ตั้งให้ขายดีเทน้ำเทท่า

ทำเลที่ตั้งเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อจำนวนลูกค้าและยอดขาย เพราะฉะนั้นเมื่อรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือใคร ก็ต้องเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด เปิดร้านอาหารบริเวณที่เป็นแหล่งชุมชน หรืออยู่ใกล้สถานที่ยอดนิยม มีคนสัญจรไปมาตลอดวัน มีที่จอดรถ มีรถสาธารณะเข้าถึง เพื่อการเดินทางที่สะดวก วิธีที่ดีที่สุดในการตัดสินใจเลือกทำเล คือ การลงไปสังเกตด้วยตัวเอง ดูความหนาแน่นของผู้คนในแต่ละช่วงเวลา ปริมาณของกลุ่มเป้าหมาย ร้านคู่แข่งที่อยู่ในละแวกเดียวกัน สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการกำหนดเมนู และราคาให้เหมาะสมได้อีกด้วย

เช็กความเป็นไปได้ด้วยแผนธุรกิจ

5. เช็กความเป็นไปได้ด้วยแผนธุรกิจ

ร้านอาหารบางแห่งขายดี ดูเหมือนสร้างผลกำไรได้เยอะ แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วกลายเป็นเท่าทุน หรือขาดทุนไปเลยก็มี สิ่งนี้เป็นเพราะขาดการวางแผน และบริหารจัดการที่ดี เพราะฉะนั้น จึงควรมีการเขียนแผนธุรกิจที่ละเอียด ชัดเจน และสามารถทำได้จริง โดยให้เริ่มจากการเขียนรายละเอียดทั้งหมดลงไป แยกเป็นหมวดหมู่ เช่น

  • แผนการเงิน รายละเอียดเกี่ยวกับเงินทุน ค่าใช้จ่ายในส่วนต่างๆ คำนวณระยะเวลาคืนทุน ฯลฯ ซึ่งสามารถใช้บริการ K BIZ จากธนาคารกสิกรไทย เพื่อเรียกดู หรือดาวน์โหลดรายการเดินบัญชี เพื่อตรวจสอบได้อย่างสะดวก ครบถ้วน แม่นยำ
  • แผนการดำเนินงาน การบริหารจัดการทั้งหน้าร้าน และหลังร้าน จุดแข็ง จุดอ่อน การบริการ ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจตัวเองกับธุรกิจอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน
  • แผนการตลาด มีการกำหนดเป้าหมาย วางกลยุทธ์ ประเมินความเสี่ยง และเตรียมวิธีรับมือกับปัญหาที่อาจเกิดได้ทุกเมื่อ

สิ่งเหล่านี้ เปรียบเสมือนไกด์ไลน์ที่จะทำให้ธุรกิจร้านอาหารดำเนินไปอย่างเป็นระบบ หากเกิดปัญหาก็สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยให้มองเห็นภาพรวมของการทำธุรกิจ โดยสามารถนำไปพัฒนาปรับปรุงสินค้า และบริการ เพื่อสร้างความได้เปรียบคู่แข่งได้อีกด้วย

6. วางแผนเมนู และตั้งราคาขาย

การออกแบบเมนูต้องวางคอนเซปต์ให้ชัดเจนว่าจะขายอาหารประเภทไหน ลองสำรวจธุรกิจร้านอาหารที่ใกล้เคียงกันว่ามีเมนูอะไรบ้าง ปริมาณ ราคาขายเป็นอย่างไร และนำมาปรับใช้สร้างสรรค์เมนูในสไตล์ของตัวเอง วิเคราะห์ต้นทุน เพื่อคำนวณราคาขายที่เหมาะสม และได้เปรียบคู่แข่ง ซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับทำเล และกลุ่มเป้าหมายด้วย เช่น หากเปิดร้านอาหารตามสั่งขายให้นักเรียนนักศึกษา อาจจะตั้งราคาสูงมากไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ต้องมีกำไร 50-70% ไม่เช่นนั้นก็อาจจะทำแล้วไม่คุ้มทุน ในขณะที่ลูกค้าบางกลุ่มมีกำลังซื้อ ยอมจ่ายแพงเพื่อให้ได้อาหารคุณภาพสูง และการบริการที่เหนือชั้น เป็นต้น

เมนูต้องมีจุดเด่น และมีความหลากหลาย

7. เมนูต้องมีจุดเด่น และมีความหลากหลาย

รสชาติ คือ หัวใจหลักของการทำธุรกิจร้านอาหาร หากลูกค้าทานแล้วไม่ติดใจก็จะไม่กลับมาอีก อาหารจึงต้องมีรสชาติอร่อย สะอาด คุณภาพดี เน้นความหลากหลาย แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอย่าง เช่น ร้านอาหารญี่ปุ่น ก็ไม่จำเป็นต้องมีเมนูซูชิเสมอไป อาจจะขายเฉพาะข้าวหน้าต่างๆ ก็ได้ แต่ควรมีเมนู Signature เป็นจุดเด่นของร้าน มีความแปลกใหม่ หาทานได้เฉพาะที่นี่เท่านั้น และอาจจะเพิ่มเมนูพิเศษตามเทศกาลต่างๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ ยิ่งถ้าตกแต่งจานสวยงาม ก็จะทำให้คนอยากถ่ายรูปแชร์ลงโซเชียล เป็นการโปรโมตร้านได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน

8. ออกแบบผังร้านให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ออกแบบร้านให้สวย บรรยากาศดี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศของร้านก็สำคัญไม่แพ้รสชาติของอาหาร โดยเฉพาะคนที่อยากเปิดร้านอาหารที่ขายเมนูที่หาทานได้ทั่วๆ ไป สามารถนำบรรยากาศมาเป็นจุดขายได้ เพราะคนส่วนใหญ่นิยมมาถ่ายรูปทำคอนเทนต์ลงโซเชียล ซึ่งจะทำให้กลายเป็นกระแสและมีคนรู้จักร้านมากยิ่งขึ้น การตกแต่งร้านจึงต้องมีความสวยงาม มีเอกลักษณ์โดดเด่น บ่งบอกถึงตัวตนของร้านได้ดี หรือมีคอนเซปต์แปลกใหม่น่าสนใจ ไม่เหมือนใคร การจัดไฟ และแสงที่ทำให้ถ่ายรูปออกมาสวย จัดสรรพื้นที่ให้สะดวกสบาย ทั้งสำหรับลูกค้า และพนักงาน

เมนูต้องมีจุดเด่น และมีความหลากหลาย

9. หาแหล่งซื้อวัตถุดิบและอุปกรณ์

อาหารจะอร่อยได้ นอกจากจะอยู่ที่ฝีมือของคนปรุงแล้ว สิ่งสำคัญก็ยังอยู่ที่คุณภาพของวัตถุดิบด้วย เพราะฉะนั้น จึงต้องพยายามเฟ้นหาวัตถุดิบที่ดีที่สุด จากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ โดยคำนึงถึง 4 ปัจจัย ดังนี้

  • คุณภาพ วัตถุดิบต้องมีความสด ใหม่ สะอาด คุณภาพดี สอดคล้องกับราคาที่ขาย ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค หากเปิดร้านขายอาหารราคาสูง แต่วัตถุดิบคุณภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ลูกค้าจะรู้สึกได้ทันที หรือหากใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ ทำให้ลูกค้าท้องเสีย แน่นอนว่าต้องส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของร้านได้
  • ความหลากหลาย วัตถุดิบที่มีแหล่งผลิตหลากหลาย ทำให้สามารถเปรียบเทียบราคา และคุณภาพของสินค้าได้ง่าย อีกทั้งการมีข้อมูลติดต่อกับแหล่งผลิตหลายแห่ง จะช่วยป้องกันกรณีฉุกเฉินหากวัตถุดิบขาดแคลน ผลิตได้ไม่ทัน หรือคุณภาพไม่ตรงตามมาตรฐาน
  • การจัดส่ง การขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตมาถึงร้านต้องได้มาตรฐาน ติดต่อง่าย จัดส่งตรงเวลา มีการประกันสินค้า มีการควบคุมอุณหภูมิ มีการกันกระแทก เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าที่ได้มาจะอยู่ในสภาพดีที่สุด
  • ราคา ต้นทุนที่ต่ำจะทำให้ร้านมีกำไรมากขึ้น ช่วยเพิ่มความได้เปรียบจากคู่แข่ง แต่ก็ควรคำนึงถึงเรื่องคุณภาพควบคู่กันไปด้วย เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้สนใจว่าวัตถุดิบราคาเท่าไหร่ แต่สนใจว่ากินเข้าไปแล้วอร่อยไหม รสชาติเป็นอย่างไร สมกับราคาที่ขายหรือไม่ เพราะฉะนั้น การทำธุรกิจร้านอาหาร จึงต้องคำนวณต้นทุนให้ดี วางแผนการจัดซื้อวัตถุดิบให้เป็นระบบ เพื่อให้สามารถใช้วัตถุดิบได้อย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้งเยอะ
K BIZ จ่ายเงินเดือนเป็นกลุ่มง่าย จบในครั้งเดียว

10. การวางแผนกำลังคน บริหารคนให้มีประสิทธิภาพ

การบริการที่ดีและรวดเร็ว จะสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า พนักงานจึงควรมีบุคลิกภาพดี อัธยาศัยดี มีใจรักในการบริการ และต้องมีจำนวนเพียงพอ หากน้อยเกินไปก็จะทำให้บริการไม่ทั่วถึง ซึ่งวิธีการคำนวณก็คือ ประมาณการรายได้ต่อเดือน – 20% = ตัวเลขเงินเดือนรวมของพนักงานทั้งหมด แล้วจึงนำไปเฉลี่ยว่าจะสามารถจ้างพนักงานได้กี่คน

ตัวอย่าง หากมีรายได้ต่อเดือน 700,000 – 20% = 140,000 บาท เมื่อได้จำนวนเงินเดือนจากการคำนวณแล้ว ให้ไปดูภาพรวมของร้านทุกอย่าง ตั้งแต่ช่วงเวลาการเปิด-ปิดของร้าน แผนผังของร้าน เมนูอาหาร รูปแบบ หรือประเภทของอาหาร จากนั้นจึงมาคำนวณว่าควรจ้างพนักงานกี่คน โดยแต่ละตำแหน่งไม่มีการกำหนดตายตัวว่าต้องมีพนักงานเท่าไหร่ แต่ควรนึงถึงประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานต่อปริมาณของงาน และเน้นการให้บริการลูกค้าอย่างมีคุณภาพเป็นหลัก

ซึ่งการจัดการกับเงินจำนวนนี้ก็ง่ายมากๆ เพียงแค่มี K BIZ จากธนาคารกสิกรไทยก็สามารถจ่ายเงินเดือนครั้งละหลายรายการด้วยคำสั่งเดียว ช่วยลดความยุ่งยากและเพิ่มความรวดเร็วในการทำธุรกรรม

การวางแผนการตลาด

11. การวางแผนการตลาด

ปัจจุบันการทำธุรกิจร้านอาหารไม่ได้มีเพียงแค่การจำหน่ายที่หน้าร้านอย่างเดียว แต่ยังสามารถจำหน่ายออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น การเปิดร้านในไลน์แมน ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านก็ได้ การวางแผนการตลาดจึงสามารถทำได้ทั้งรูปแบบออฟไลน์ เช่น จัดโปรโมชันลดราคา มีเมนูพิเศษตามเทศกาล ทำบัตรสะสมแต้ม บัตรสมาชิก ฯลฯ ควบคู่ไปกับช่องทางออนไลน์ โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด หรือใช้วิธีการรีวิวสินค้าเข้ามาช่วย เพราะปัจจุบันคนไม่ค่อยเชื่อคำโฆษณา แต่มักจะเชื่อจากประสบการณ์จริงมากกว่า ซึ่งการวางแผนการตลาดในแต่ละช่วงจะมีความแตกต่างกัน ดังนี้้

  • ช่วงแรกของการเปิดร้าน เรียกว่าเป็นช่วงลองผิดลองถูก ให้เน้นการทำโปรโมชัน เพื่อให้ร้านเป็นรู้จักและสร้างฐานลูกค้า คอยดูผลตอบรับ และสำรวจความคิดเห็นของลูกค้า มีปัญหาอะไรก็คอยเก็บข้อมูลไว้
  • ช่วงปรับปรุง ประเมินผลงานในช่วงที่ผ่านมา เช่น เมนูไหนขายดี เมนูไหนขายไม่ดี ส่วนไหนทำกำไร รวมถึงนำปัญหา ข้อเสีย หรือคำติชมมาสรุป เพื่อหาแนวทางปรับปรุงแก้ไข เพราะสุดท้ายแล้วสินค้าและบริการที่ดี จะทำให้ลูกค้าประทับใจ และบอกต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นทางออฟไลน์หรือออนไลน์
  • ช่วงขายทำยอด เมื่อปรับปรุงเรียบร้อยก็ถึงเวลาเดินหน้าลุยเต็มที่ และมองหาสิ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้ เช่น ทำน้ำจิ้มบรรจุขวดขาย ขายของฝากเพิ่ม เป็นต้น
  • ช่วงขยายกิจการ เมื่อทุกอย่างลงตัว การทำงานเป็นระบบ มีฐานลูกค้า รายได้เติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ การขยายกิจการก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป โดยอาจจะเปิดร้านอาหารสาขาใหม่เอง หรือขายในรูปแบบแฟรนไชส์ก็ได้

ใครๆ ก็สามารถเปิดธุรกิจร้านอาหารได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำธุรกิจนี้ได้ประสบความสำเร็จ จึงควรมีการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบก่อนเริ่มลงทุน โดยเฉพาะด้านการเงินที่ต้องมีการวางแผนและบริหารอย่างรัดกุม แต่ทุกอย่างจะสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อมีผู้ช่วยดีๆอย่างๆ K BIZ บริการ Online Banking Platform จากธนาคารกสิกรไทยที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกสบาย ง่าย และเพิ่มคล่องตัวในการทำธุรกิจ ให้คุณสามารถจัดการธุรกรรมการเงินได้อย่างปลอดภัยทุกที่ทุกเวลา ช่วยลดความเสี่ยง โอกาสผิดพลาด และนำพาธุรกิจให้เติบโตไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สนใจบทความที่เกี่ยวข้อง

คลิกเลย

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

back to top