27/10/3102

พอร์ตลงทุนเสียซ่อมได้

​​​​​​​​​​ปัญหาการลงทุนสำหรับนักลงทุนมีหลากหลาย หนึ่งในปัญหาที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงแต่ถ้าได้พบเจอแล้วเป็นต้องมึนหัวอยู่ไม่น้อยคือ “ปัญหาพอร์ตลงทุนเสีย”

  • พอร์ตที่ลงทุนไว้มีสินทรัพย์ลงทุนมากเกินไปจนดูแลไม่ไหว
  • พอร์ตลงทุนมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพชนิดที่บั่นทอนกำลังใจจนต้องลืมๆ ไปว่าถืออยู่
  • พอร์ตลงทุนกระจัดกระจายไม่รู้ว่าสิ่งที่มีอยู่มีมากหรือน้อยเกินไป

รวมถึงปัญหาพอร์ตการลงทุนไม่ทำกำไรอย่างที่อยากได้ และอีกหลายปัญหาที่ทำให้พอร์ตลงทุนเสียจนต้องการคนช่วยซ่อม

ในช่วงปีสองปีนี้ ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน K-Expert Center ​มีลูกค้าที่มาพบและขอความช่วยเหลือในการซ่อมพอร์ตการลงทุนเพิ่มขึ้น ปัญหายอดฮิตคงหนีไม่พ้นเรื่องสินทรัพย์ที่ถืออยู่ไม่ทำกำไร จะเรียกว่าติดดอยหรือซื้อแพงก็ได้ ซึ่งปัญหานี้จริงๆ แล้วซ่อมไม่ยาก แต่ซ่อมให้พอใจยากถ้าลูกค้าไม่เข้าใจ ดังนั้นหลักการซ่อมพอร์ตการลงทุนของช่างจึงไม่ใช่ซ่อมให้พอร์ตที่ไม่กำไรกลับมามีโอกาสทำกำไรเท่านั้น แต่ต้องซ่อมพอร์ตให้เจ้าของพอร์ตเรียนรู้ที่จะไม่ทำให้พอร์ตกลับมามีปัญหาเดิมๆ ได้อีกในอนาคต ซึ่งหลักการของช่างซ่อมพอร์ตคงหนีไม่พ้น 5 ข้อดังนี้

  1. สร้างลิสต์ของสินทรัพย์ที่ลงทุน (Master List) อย่างละเอียด ระบุประเภทสินทรัพย์ ต้นทุน (ถ้าทำได้) แหล่งที่สินทรัพย์นั้นสังกัด เช่น กองทุนจาก บลจ.ใด รายละเอียดการลงทุนของผลิตภัณฑ์นั้น เช่นกองทุนหุ้นก็ควรระบุหลักทรัพย์ 5 ลำดับแรกที่ลงทุน ผลประกอบการ หรืออันดับความน่าลงทุนของสินทรัพย์นั้นๆ
  2. หาสัดส่วนการกระจายสินทรัพย์ปัจจุบัน (Current Asset Allocation) เพื่อฉายภาพพอร์ตการลงทุนแยกตามสัดส่วนของสินทรัพย์ประเภทต่างๆ แบ่งสินทรัพย์ออกเป็นกลุ่ม เช่น ตราสารหนี้ ตราสารทุน สินทรัพย์ทางเลือก และถ้าหากมีส่วนที่เป็นการลงทุนต่างประเทศก็ให้แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอยู่ภายใต้ ตราสารหลักซึ่งนักลงทุนบางคนที่เลือกลงทุนตามกระแสจะมีโอกาสติดกับดักความน่าสนใจของการลงทุนที่มีผลประกอบการที่ดีจนทำให้ต้องกระโดดเข้าไปตามข่าวหรือตามคำโฆษณา และหากลงทุนเช่นนี้บ่อยสุดท้ายไม่เพียงจะมีสัดส่วนการลงทุนกระจัดกระจายแบบขาดการควบคุม แต่ยังมีโอกาสมีต้นทุนการลงทุนที่สูงกว่าคนอื่นด้วย เพราะการเข้าลงทุนตามกระแสก็มีโอกาสที่จะเข้าซื้อที่ราคาที่สูงได้ง่าย
  3. กำหนดสัดส่วนการกระจายสินทรัพย์ที่ควรจะเป็น (Desired Asset Allocation) ตามระดับความเสี่ยงและเป้าหมายการลงทุน ถ้าหากผู้ลงทุนมีเป้าหมายมากกว่าหนึ่งเป้าหมาย ก็จำเป็นที่จะต้องแยกพอร์ตการลงทุนตามจำนวนเป้าหมาย เพื่อให้ง่ายในการบริหารจัดการและง่ายต่อการกำหนดสิ่งที่ควรทำหลังซ่อมพอร์ตเสร็จแล้ว
  4. เปรียบเทียบสัดส่วนปัจจุบันและสัดส่วนที่ควรจะเป็น เพื่อมองหาช่องว่าง หรือความผิดพลาดคาดเคลื่อนที่เกิดขึ้นก่อนตัดสินใจซ่อมพอร์ต เพราะบางพอร์ตมีปัญหาเรื่องจำนวนสินทรัพย์ที่มีมากเกินไป มีความซ้ำซ้อน มีสินทรัพย์เสี่ยงสูงมากเกินไป มีสินทรัพย์ที่ติดเงื่อนไขการลงทุนทำให้มีสภาพคล่องไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการลงทุน หรือในบางครั้งก็เป็นพอร์ตที่ไม่มีการกระจายความเสี่ยง แต่เป็นพอร์ตชนิดเก็งกำไรแบบสุดโต่ง การเปรียบเทียบระหว่างสิ่งที่มีอยู่กับสิ่งที่ควรจะเป็นจึงต้องเน้นไปที่เป้าหมาย และการพยายามทำให้ลูกค้านักลงทุนทำความเข้าใจกับสิ่งที่มีและการปรับไปสู่ที่ควรจะเป็นให้ได้อย่างมีหลักการ ซึ่งเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เจ้าของพอร์ตลงทุนที่มาพบเราจะขาดหลักการในการบริหารจัดการการลงทุน จึงทำให้ “พอร์ตลงทุนเสีย” หลักการที่ว่านั้นรวมถึง หลักการเข้าซื้อ หลักการขายออก หลักการ rebalance หรือแม้แต่หลักการพิจารณาปรับลดสัดส่วนสินทรัพย์การลงทุนในแต่ละช่วงเวลา กระบวนการเปรียบเทียบนี้จึงจำเป็นที่ช่างซ่อมพอร์ตจะต้องทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ลูกค้าเจ้าของพอร์ตการลงทุนไปพร้อมกันด้วยเลย
  5. เสนอแผนการซ่อมพอร์ต โดยหัวใจสำคัญคือ การซ่อมให้ได้ตามสัดส่วนในข้อ 4 ข้างต้น พร้อมทั้งพิจารณาเปรียบเทียบเป้าหมาย และต้นทุนในการซ่อมให้ละเอียด ซึ่งคำว่าต้นทุนที่ว่านี้อาจหมายถึงต้นทุนในการยุบ ย้าย หรือรวมสินทรัพย์หรือกองทุนบางประเภท ที่อาจมีค่าธรรมเนียม อีกทั้งเงื่อนไขในการห้ามขายก่อนครบกำหนด (LTF RMF) ซึ่งท้ายที่สุดแล้วแผนการซ่อมจะต้องเข้าใจง่ายทำตามได้จริง และลูกค้าต้องเห็นพ้องและพร้อมที่จะทำตามได้

ข้อคิดสำคัญสำหรับผู้ที่มีปัญหา “พอร์ตการลงทุนเสีย” คือการทำความเข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง การที่พอร์ตการลงทุนขาดทุนไม่ใช่ปัญหาถ้านักลงทุนเข้าใจว่าพอร์ตการลงทุนนั้นขาดทุนเพราะเหตุใดและการขาดทุนนั้นอยู่ในวิสัยที่รับได้หรือไม่ ระยะสั้นหรือยาว การลงทุนด้วยกลยุทธ์หรือหลักการที่ชัดเจนและนักลงทุนพยายามยึดถือหลักการนั้นอย่างมีวินัย ก็จะช่วยให้ปัญหาพอร์ตการลงทุนเสียนั้นทุเลาหรือหายไปได้ไม่ยาก การเป็นนักลงทุนที่ดีจึงต้องลงทุนด้วยความเข้าใจ 2 เรื่อง นั่นคือ เข้าใจตัวเองว่าเป็นนักลงทุนสไตล์ไหน และเข้าใจในสินทรัพย์ที่ลงทุนว่ามีลักษณะนิสัยและเคลื่อนไหวอย่างไร เพียงเท่านี้ทุกท่านก็สามารถจัดการพอร์ตการลงทุนที่มีได้อย่างราบรื่นด้วยตัวเองโดยไม่ต้องง้อช่างซ่อมใดๆ


วีระพล บดีรัฐ

ผู้บริหารงานให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล

K-Expert ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล ธนาคารกสิกรไทย