1/10/2564

กะเทาะ Mindset! ต่ออายุธุรกิจให้รอดแบบยั่งยืน

ไม่ใช่แค่ยอดขายหรือกำไรเท่านั้น ที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ แต่สิ่งที่เจ้าของธุรกิจเชื่อมั่นและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคม คืออีกหนึ่งหนทางที่จะช่วยให้แบรนด์เอาชนะวิกฤตและเติบโตได้แบบยั่งยืน ตามหลักปรัชญาการบริหารธุรกิจในแบบฉบับของชาวญี่ปุ่น หรือ
“ริเน็น” หลักคิดที่จะช่วยให้กิจการอยู่ได้นานนับร้อยปี

โดยแนวคิดนี้ ได้รับการถ่ายทอดจาก ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ ผู้เชี่ยวชาญการตลาดแบบญี่ปุ่น และนักเขียนนามปากกา เกตุวดี Marumura ในงานสัมมนา Live Concern : เพลย์ลิสต์ พลิกเกมธุรกิจ Season 2 ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้น ในหัวข้อ “ยืนหยัด ยืนยง : ย้อนมุมคิด ให้ธุรกิจยั่งยืนด้วยปรัชญาแห่งโลกตะวันออก”

หัวใจหลักแห่งศาสตร์ตะวันออก

สิ่งที่ทำให้การบริหารธุรกิจแบบญี่ปุ่นโดดเด่นและแตกต่างคือ การมีจุดประสงค์ (Purpose) ในการทำธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งไม่ใช่แค่ว่า
ทำธุรกิจเพื่อสร้างกำไรหรืออยู่ได้เพียงคนเดียว แต่คนอื่นต้องอยู่รอดด้วย

  • ทำธุรกิจนี้เพื่อใคร/เพื่ออะไร
  • อยากจะช่วยอะไรลูกค้า
  • ยึดมั่นกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้อย่างหนักแน่น

นอกจากนี้ การทำธุรกิจสไตล์ญี่ปุ่นยังไม่เน้นการทำกำไรแบบหวือหวาหรือระยะสั้น แต่จะเน้นการอยู่รอดได้ในระยะยาว ค่อยๆ เติบโตไปในแต่ละปี พร้อมกับเก็บฐานลูกค้าที่เป็นแฟนคลับให้มากขึ้น

หาริเน็นให้เจอ

หากจะหยิบหลักคิดนี้มาใช้ ต้องเริ่มต้นด้วยการหาริเน็นหรือจุดประสงค์ของการทำธุรกิจให้เจอ
ซึ่ง ดร.กฤตินี บอกว่า ทำได้ด้วยการตั้งคำถาม “Why” ว่า ทำไมธุรกิจหรือองค์กรเราถึงต้องเกิดขึ้นมา ซึ่งคำตอบที่ได้จะเป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจมีความเชื่อมั่นในสิ่งนั้นและเป็นสิ่งที่ทำแล้วดีกับผู้อื่น ทำให้พนักงาน คู่ค้า ลูกค้า และสังคมมีความสุข

  • ความเชื่อของเราคืออะไร/เราอินกับเรื่องอะไร
  • เราอยากจะเปลี่ยนแปลงอะไรในชุมชน สังคม
    หรือวงการ

เช่น ร้านนาคากาวะ มาซาชิจิ (Nakagawa Masashichi) ที่มีอายุกว่า 300 ปี จากร้านค้าส่งผ้าใยกัญชงสำหรับใช้เย็บจีวรพระและชุดสำหรับซามูไรในอดีต สู่การเป็นร้านขายของจิปาถะ สินค้าไลฟ์สไตล์ทำมือ ครอบคลุมไปถึงการจัดเทรนนิ่ง เป็นที่ปรึกษา และจัดงานแสดงสินค้าจับคู่ธุรกิจในปัจจุบัน เพราะมีริเน็นคือ “อยากทำให้วงการงานฝีมือญี่ปุ่นกลับมาคึกคักอีกครั้ง” ซึ่งแม้ทางร้านอาจจะไม่ได้มีจุดประสงค์นี้ตั้งแต่วันแรก แต่การเจอในภายหลังก็ทำให้ทั้งธุรกิจ และวงการงานคราฟต์อยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง

ยึดริเน็นให้มั่น

แนวคิดนี้สามารถนำมาปรับใช้ได้ในช่วงวิกฤต COVID-19 เช่นกัน ยิ่งถ้าธุรกิจไหนมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนตั้งแต่ Day 1 ยิ่งสามารถช่วยให้เจ้าของตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่า จะรับมืออย่างไร หรือจะเดินหน้าต่อไปในทิศทางไหน โดยใช้ริเน็นที่มี เป็นแก่นทางความคิดและช่วยในการลงมือทำโดยไม่หลุดตัวตน เช่น
Hom Hostel & Cooking Club ที่ยึดหลักว่า “Connecting People via Cooking : เราจะเชื่อมโยงผู้คนผ่านการทำอาหาร” จากเดิมที่ให้แขกที่เข้าพักจดหรือคิดสูตรอาหารในสมุดได้ที่ห้องครัว แต่เมื่อไม่มีคนเข้าพัก จึงทำโปรเจกต์ให้คนบริจาคเงินแล้วพนักงานทำข้าวกล่องไปแจกตามมูลนิธิต่างๆ ซึ่งผู้คนยัง
เชื่อมโยงกันได้ผ่านทางอาหาร รวมถึงการเปิด Cloud Kitchen ให้ร้านอาหารมาใช้เป็นครัวกลาง เพื่อส่ง
ดิลิเวอรีให้คนในเมืองได้สะดวกขึ้น ซึ่งไม่ว่าจะปรับรูปแบบกี่ครั้งก็ยังเป็นไปตามริเน็นที่มี

ใช้ริเน็นเป็นบรรทัดฐาน

นอกจากการขยายหรือปรับรูปแบบธุรกิจแล้ว ริเน็นยังสามารถใช้เป็นหลักในการบริหารองค์กรได้อีกด้วย เหมือนที่ทาง บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้การบริหารร่วมของ 2 ซีอีโอทายาท จรัญพจน์-จรัสภล รุจิราโสภณ ใช้ยึดถือเมื่อเกิดความเห็นไม่ลงตัว ซึ่งถ้าความคิดไหนทำให้บริษัทไปได้ดีที่สุดและตรงกับค่านิยมหลักขององค์กรจะเลือกพิจารณาตามความคิดนั้น อีกทั้งยังใช้เป็นคุณสมบัติในการคัดเลือกพนักงานบนหลักของการมีความคิดที่ดี ทำสิ่งที่ดีเพื่อคนหมู่มาก และส่งมอบคุณค่าที่ดีให้กับลูกค้าทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ริเน็น คือ คำตอบของแบรนด์ที่มีอายุยั่งยืน

ดร.กฤตินี กล่าวว่า ริเน็นจะเป็นตัวที่ทำให้เรากลับมาถามตัวเองเสมอว่า วันนี้เราได้สร้างประโยชน์ให้กับใครหรือยัง วันนี้เราได้ช่วยเหลือใครหรือยัง ทั้งนี้ องค์กรไหนที่มีจุดประสงค์ที่ชัดเจน รู้ว่าจะต้องเดินไปในทิศทางไหน รู้ว่าต้องทำอะไร จะเป็นองค์กรที่รับมือกับวิกฤตได้ดีไม่ว่าจะต้องเจออีกกี่วิกฤตที่ผ่านเข้ามา