24/12/2564 เจาะทิศทางโลกการค้าออนไลน์ปี 2022 Page Content มาแรงสุดในยุคนี้ หนีไม่พ้นการทำอี-คอมเมิร์ซ ที่ไม่ว่าจะธุรกิจเล็กหรือใหญ่ต่างต้องการแย่งชิงพื้นที่นี้กันทั้งนั้น ซึ่งการจะอยู่ต่อให้รอดบนโลกที่ออนไลน์ครองเมืองแบบนี้ ต้องรู้ให้ทันเทรนด์ พร้อมเก็บและใช้ Data ให้เป็น ซึ่งนี่คือเคล็ดลับบอกต่อจาก ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ในงานสัมมนา Live Concern : เพลย์ลิสต์ พลิกเกมธุรกิจ Season 2 ที่ธนาคารกสิกรไทยจัดขึ้น ในหัวข้อ “ลึกสุดใจ : รู้ข้อมูลให้ลึก รับมือโลกยุคดิสรัปชัน” รู้ทันเทรนด์ ส่องทิศทางอี-คอมเมิร์ซ Marketplace เติบโตมากที่สุด Marketplace จะกลายเป็นช่องทางการขายที่เติบโตสูงสุดของวงการอี-คอมเมิร์ซ จากการแข่งขันกันอย่างดุเดือดของ Lazada, Shopee และ JD Central ทำให้ช่องทางการขายนี้เริ่มมีสัดส่วนทางการตลาดที่เติบโตขึ้น โซเชียลมีเดีย เริ่มเสื่อมมนตรา แม้จะยังเติบโตอยู่ แต่การที่ผู้บริโภคสามารถเลือกได้ว่าจะให้แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน หรือผู้ให้บริการต่างๆ สามารถติดตามได้หรือไม่ ส่งผลให้การยิงโฆษณาของโซเชียลมีเดีย ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญเริ่มมีความแม่นยำน้อยลงนั่นเอง O2O Marketing มาแรง แม้จะเป็นยุคที่อี-คอมเมิร์ซเฟื่องฟู แต่ภาวุธบอกว่า ต่อไปจะขายออนไลน์หรือออฟไลน์อย่างเดียวไม่ได้ เพราะต้องผสานทั้งสองช่องทางเข้าด้วยกัน โดยร้านค้าจะเริ่มเปลี่ยนตัวเองเป็น Automation หรือระบบอัตโนมัติมากขึ้น เช่น การขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติ (Vending Machine) ร้านค้าปราศจากแคชเชียร์แบบ Amazon Go และการสั่งงานด้วยเสียงผ่านอุปกรณ์ต่างๆ D2C น่าจับตา เมื่อออนไลน์ทำให้ผู้ขายและลูกค้าเข้าใกล้กันมากขึ้น จึงเกิดเทรนด์ใหม่อย่าง D2C (Direct to Consumer) หรือการที่แบรนด์และโรงงานขายสินค้าไปยังลูกค้าโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนให้ธุรกิจและทำให้ลูกค้ามีแนวโน้มซื้อของต่อครั้งในปริมาณที่มากขึ้น ในขณะเดียวกันกลายเป็นความท้าทายของตัวกลางที่นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหรือจากโรงงาน โดยเฉพาะคนที่นำเข้าสินค้าจากจีน Data อาวุธหลักช่วยให้ธุรกิจสำเร็จ นับจากนี้ Data จะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เรียกได้ว่า มีแค่กระดาษก็สามารถเก็บข้อมูลได้ เช่น จดบันทึกว่าช่วงเวลาไหนขายดี สินค้าไหนขายดีที่สุด ยอดขายแต่ละวันเป็นอย่างไร ลูกค้าเข้ามาในร้านค้ากี่คน ลูกค้าเป็นใคร อายุเท่าไร ซึ่งการมีข้อมูลเหล่านี้ จะทำให้สามารถต่อยอดและวางกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น หรือถ้าไม่ใช้การจด เจ้าของธุรกิจสามารถเลือกใช้เครื่องมือดิจิทัลมาช่วยในการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลก็ได้เช่นกัน อีกประเด็นสำคัญสำหรับเรื่องของข้อมูลลูกค้า ที่เจ้าของธุรกิจยังต้องรู้ไว้ นั่นคือ ในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 จะมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA (Personal Data Protection Act) ซึ่งจะเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการเก็บและใช้ข้อมูลของลูกค้า ซึ่งต้องได้รับการยินยอม หากฝ่าฝืนจะมีโทษทางกฎหมาย 9 เครื่องมือเด็ด! ที่เจ้าของธุรกิจห้ามพลาด นอกจากนี้ ภาวุธยังได้แนะนำเครื่องมือดิจิทัลที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถจัดเก็บข้อมูลลูกค้าและคู่แข่งได้อย่างง่ายๆ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพงานหลังบ้านอีกด้วย TARAD U-Commerce แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ที่เชื่อมต่อข้อมูลทุก Marketplace ระบบหน้าร้านค้า ระบบขนส่ง และระบบการชำระเงิน ทำให้รู้ยอดขาย ได้ข้อมูลลูกค้า Google Data Studio เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ ใช้ในการรวบรวมข้อมูลจากหลายๆ แหล่งให้รวมอยู่ในที่เดียว และสามารถทำเป็น Dashboard ดูข้อมูลแบบเรียลไทม์ได้ JUBILI by BUILK โปรแกรม CRM สำหรับธุรกิจ ช่วยในการจัดการข้อมูลลูกค้า บันทึกทุกกิจกรรมการขาย ออกใบเสร็จ ใบเสนอราคาผ่านระบบได้ ทำให้การทำงานของทีมขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น Creden Data สามารถดูข้อมูลนิติบุคคลต่างๆ ได้ ทั้งงบการเงิน เครดิตการค้า รวมถึงข้อมูลการจัดอันดับธุรกิจที่มีรายได้มากที่สุดในประเทศไทย และบริษัทที่มีรายได้มากที่สุดรายจังหวัดและรายธุรกิจ WISESIGHT เครื่องมือในการฟังเสียงบนโลกออนไลน์ว่ามีใครพูดถึงแบรนด์อย่างไรบ้าง หรือในแต่ละช่องทางบนโซเชียลมีเดียมีแบรนด์ไหนถูกพูดถึงมากที่สุด Google Chat แอปฯ สำหรับการรับ-ส่งข้อความของธุรกิจ ใช้ในการสื่อสารภายในองค์กร Creden eSign ระบบเซ็นเอกสารออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลาแบบถูกกฎหมายและปลอดภัย Makub ระบบลงเวลาเข้า-ออก แทนการตอกบัตรของพนักงาน Peak Engine ระบบทำบัญชีออนไลน์ ช่วยให้เห็นข้อมูลการเงินแบบเรียลไทม์ พ่อมดแห่งวงการอี-คอมเมิร์ซไทย ฝากไว้ว่า ทำธุรกิจยุคนี้ต้องตื่นตัวและเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะถ้าปรับตัวไม่ทัน โอกาสทำธุรกิจของเราจะหายไป ที่สำคัญ ต้องลงมือทำทันที เพราะถ้าช้า คู่แข่งจะเข้าไปยึดครองพื้นที่และลูกค้าได้ก่อนเรา EXCLUSIVE DEAL รายละเอียดเพิ่มเติม บทความอื่นๆ KWebPageComponent22Popup