18/2/2565

แบกรับต้นทุนขาขึ้นอย่างไร? ไม่ให้ธุรกิจเจ็บหนัก

ต้นทุนขาขึ้น ที่ธุรกิจเตรียมรับมือ

ต้นทุนขาขึ้น ที่ธุรกิจเตรียมรับมือ

เป็นอีกเรื่องที่เจ้าของธุรกิจต้องคิดหาวิธีรับมือกับปัญหา “ต้นทุน” ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากปัจจัยราคาน้ำมันและพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบต่างๆ และเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้ามีการปรับสูงขึ้น ซึ่งจะมีต้นทุนอะไรบ้างที่ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ปรับแผนการผลิตและการดำเนินธุรกิจได้ทัน

ต้นทุนวัตถุดิบ
  • ต้นทุนวัตถุดิบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อหมู จากข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้คาดการณ์ไว้ว่า ราคาเนื้อหมูเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม เพิ่มขึ้นราว 30% เมื่อเทียบกับปีก่อน และอาจผลักดันให้ราคาเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับสูงขึ้นตาม ส่วนราคาวัตถุดิบอาหารอื่นๆ เช่น ผัก น้ำมันพืช ก็มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน
  • ต้นทุนพลังงาน ผู้ประกอบการยังต้องแบกรับกับต้นทุนราคาน้ำมันในระดับที่สูง แม้เวลานี้จะมีการสั่งตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค.65 ก็ตาม เช่นเดียวกับราคาแก๊ส LPG หรือแก๊สหุงต้ม ที่ปรับสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งก็มีการตรึงราคาให้คงไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ไปจนถึง 31 มี.ค.65 ขณะที่ ค่าไฟฟ้า เตรียมปรับขึ้นค่าเอฟที ซึ่งจะมีผลในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.65 โดยจะเรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบัน
  • ต้นทุนการขนส่ง เป็นผลกระทบลูกโซ่ตามมาจากปัญหาราคาน้ำมัน ส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งปรับตัวสูงขึ้น และแน่นอนว่าย่อมส่งผลให้ผู้ประกอบการด้านขนส่งสินค้าและพัสดุทั่วประเทศต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงธุรกิจที่ให้บริการขนส่งสินค้าด้วยตัวเอง
  • ต้นทุนการเงิน การเตรียมจัดเก็บภาษีความเค็มในอาหาร ที่คาดว่าน่าจะประกาศแนวทางปฏิบัติภายในปีนี้ เพื่อให้ผู้ประกอบการเตรียมปรับปรุงการผลิต ก่อนจะกำหนดวันเริ่มบังคับใช้ ซึ่งตรงนี้อาจจะอีกหนึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ โดยกลุ่มสินค้าที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็น / แช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ ปลากระป๋อง และขนมขบเคี้ยว
ต้นทุนแฝง
tip icon

รู้หรือไม่?

ต้นทุนแฝง (Hidden Cost) อะไร? ที่คนนึกไม่ถึง

ต้นทุนเวลา : เพราะเวลาเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก การรอคอย ความล่าช้า เหล่านี้คือค่าเสียโอกาสจากการปล่อยให้เวลาผ่านไป ถือเป็นต้นทุนทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ยกตัวอย่างง่ายๆ การขายสินค้าออนไลน์ การให้ลูกค้ารอนาน โดยเฉพาะขั้นตอนชำระเงิน หากยุ่งยาก ซับซ้อน หลายขั้นตอน อาจทำให้เกิดการเสียโอกาสทางธุรกิจได้ ซึ่งปัจจุบันมีระบบการชำระเงินที่ช่วยให้เจ้าของธุรกิจรับเงินง่าย ลูกค้าจ่ายได้สะดวก เช่น หากใครขายผ่าน Facebook ก็มีบริการ Facebook Pay ไว้อำนวยความสะดวก เป็นต้น ดังนั้น ในยุคที่ต้องระวังเรื่องต้นทุนอย่างมาก จะคิดถึงแต่ต้นทุนที่มองเห็นอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องระวังไปถึงต้นทุนที่ตามองไม่เห็นด้วย

ปรับราคาสินค้าอย่างไร ให้ลูกค้าพร้อมจ่าย

ปรับแผนคุมต้นทุน แก้วิกฤตธุรกิจเจ็บหนัก

สำหรับแนวทางควบคุมต้นทุน ผู้ประกอบการสามารถทำได้ด้วยหลัก “ลด ปรับ เปลี่ยน คาดการณ์”

ลด : การลดของเสีย (Waste) เป็นอีกวิธีช่วยให้ต้นทุนลดลงได้ ซึ่งของเสียเกิดได้จากหลายส่วนด้วยกัน ตั้งแต่ ของเสียจากการจัดเก็บไม่ดี หรือเก็บไว้นานจนหมดอายุ ของเสียระหว่างกระบวนการผลิต เป็นต้น ผู้ประกอบการอาจต้องเข้มงวดในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น ให้มีการบันทึกรายการของเสียพร้อมระบุสาเหตุ เพื่อหาวิธีไม่ให้เกิดของเสีย หรืออาจจะลองเอาแนวคิดของการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just in Time) มาประยุกต์ใช้ นั่นคือ การผลิตเฉพาะสินค้าที่ลูกค้าต้องการ ภายในเวลาและปริมาณที่ลูกค้าต้องการ เพื่อช่วยคุมสต็อกไม่ให้เหลือค้างจนกลายเป็นของเสีย

ปรับ : หากสินค้าไหนมีต้นทุนวัตถุดิบสูง อาจต้องมีการปรับสูตรใหม่ หรือให้วัตถุดิบอื่นทดแทน แต่อาจทำเป็นลักษณะสินค้าพิเศษที่มีขายเฉพาะช่วงเวลา เพื่อให้ลูกค้าไม่รู้สึกว่า การปรับสูตรหรือปรับวัตถุดิบจะทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพน้อยลง

เปลี่ยน : การเปลี่ยนซัพพลายเออร์เพื่อให้ได้ต้นทุนที่ดีกว่า เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยคุมต้นทุนได้ ฉะนั้นอย่าผูกขาดกับซัพพลายเออร์เพียงรายเดียว ควรมีซัพพลายเออร์หลายๆ ราย เพื่อจะทดแทนกันได้ หรือให้ข้อเสนอที่ดีกว่า ทั้งนี้ การเลือกซัพพลายเออร์ต้องเปรียบเทียบทั้งด้านคุณภาพ ราคา รอบการจัดส่ง รวมถึงเครดิตเทอม (Credit Term) ด้วย

คาดการณ์ : การวางแผนคาดการณ์ล่วงหน้า เป็นสิ่งที่เจ้าของธุรกิจต้องทำ เพื่อให้การบริหารต้นทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถทำได้ด้วยการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล เช่น รายการวัตถุดิบ จำนวนที่ใช้ ราคา แหล่งซื้อ เพื่อดูว่าต้นทุนแต่ละปีสูงขึ้นเฉลี่ยกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อใช้ในการกำหนดงบประมาณและวางแผนการซื้อได้แม่นยำมากขึ้น

การปรับตัวของผู้บริโภคยุคค่าครองชีพสูง