18/2/2565

จบปัญหา “ใครก๊อปใคร” ทำธุรกิจแบบไม่เสี่ยงโดนฟ้อง!

เดือดทะลุปรอททุกครั้งกับดราม่า ใครก๊อปใคร

ที่ผ่านมาปัญหาการละเมิดสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเครื่องหมายการค้า โลโก้ ลิขสิทธิ์ ชื่อแบรนด์ การออกแบบสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ ฯลฯ กลายเป็นประเด็นร้อนให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้แบรนด์ที่ทำไม่ได้เกิด หรือมีภาพจำลบๆ ในสายตาของลูกค้า ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่คนทำธุรกิจ ไม่ว่าจะ SME หรือค้าขายออนไลน์ยุคนี้ต้องระวัง

ก๊อปคนอื่น พังแบรนด์ตัวเองอย่างไร

3 กฎเหล็ก...ทำธุรกิจแบบไม่ล้ำเส้น

หากไม่อยากถูกกล่าวหาว่าเป็นแบรนด์ “ชอบก๊อป” สิ่งที่ต้องเข้าใจคือ การทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต และการทำสิ่งอื่นใดที่ชวนให้เกิดความเข้าใจผิด ล้วนเข้าข่ายไปละเมิดสิทธิ์ของธุรกิจหรือผู้อื่นทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งที่ต้องจำให้ขึ้นใจ คือ

  • ไม่ทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่สิ่งใดของแบรนด์อื่นต่อสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต
  • หากจำเป็นต้องใช้เนื้อหานั้นจริง ต้องติดต่อสอบถามและขออนุญาตทางเจ้าของสิทธิ์
  • เพิ่มความตระหนักรู้ในเรื่องของการไม่ไปละเมิดสิทธิ์และลอกเลียนแบบงานของผู้อื่น

5 เรื่อง “เข้าข่าย” ที่ต้องระวัง

สิ่งที่เจ้าของแบรนด์ต้องระวัง จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม อาจเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นได้

1. ใช้ตัวหนังสือ สร้างความสับสน

สลับที่ตัวอักษร ใช้คำที่มีความหมายใกล้เคียง หรือใช้ฟอนต์ในลักษณะเดียวกัน นับเป็นดราม่าที่เกิดขึ้นให้เห็นมาเป็นระยะ เช่น KFC ที่โดนตั้งชื่อร้านตามเป็น AFC, BFC ไปจนถึง ZFC หรือประเด็นร้อนในบ้านเรา อย่าง ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือทองสมิทธิ์ และทองสยาม ที่ใช้ฟอนต์ในลักษณะเดียวกัน

ใช้ตัวหนังสือ สร้างความสับสน

2. ทำโลโก้ ชวนคนให้งง

การใช้หรือออกแบบโลโก้ที่ไปคล้ายกับของแบรนด์อื่นที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี รูปทรง วัตถุ ภาพ หรือลายกราฟิก ที่ชวนให้เข้าใจผิดว่าเป็นแบรนด์เดียวกันนั้นเข้าข่ายเช่นกัน เช่น Starbucks ที่มักถูกนำโลโก้ไปเลียนแบบ หรือกรณีร้านชานมไข่มุกเจ้าหนึ่งที่ใช้โลโก้เพนกวินซ้ำกับร้านชาบูชื่อดัง Penguin Eat Shabu ซึ่งภายหลังร้านชานมไข่มุกได้มีการปรับเปลี่ยนโลโก้ใหม่

ทำโลโก้ ชวนคนให้งง

3. ใช้ลายการ์ตูน ที่ไม่ได้ซื้อสิทธิ์

การใช้ตัวการ์ตูนหรือคาแร็กเตอร์ที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ไม่ว่าจะนำมาใช้กับสินค้าหรือตัวบรรจุภัณฑ์ ถือว่าเข้าข่ายละเมิดสิทธิ์ เช่น การใช้หมีพูห์สวมเสื้อสีแดงในเวอร์ชันของค่าย Disney ปี 1977 และซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ เช่น Iron Man ของ Marvel

4. โหลดรูปภาพ แบบไม่ได้ขอ

การนำภาพจากเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียต่างๆ มาใช้หรือดัดแปลงนั้น สุ่มเสี่ยงอย่างมากต่อการละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่น โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มักโหลดรูป วิดีโอหรือเพลงจากที่อื่น เพื่อนำมาโปรโมตและใช้ประกอบการขายโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต

5. ให้บริการ ไม่ต่างจากต้นตำรับ

การให้บริการที่เหมือนหรือคล้ายกับแบรนด์ที่มีรูปแบบการให้บริการและตกแต่งร้านที่เป็นเอกลักษณ์ มีความสุ่มเสี่ยงเช่นกัน เห็นได้จากกรณีฟ้องร้องระหว่างเสือพ่นไฟและหมีพ่นไฟ ที่นอกจากจะมีประเด็นเรื่องของเครื่องหมายการค้าแล้ว ยังรวมถึงรูปแบบการให้บริการส่งสินค้าผ่านประติมากรรมหัวสัตว์ ซึ่งทางหมีพ่นไฟไปคล้ายกับของแบรนด์ต้นฉบับอย่าง เสือพ่นไฟ

ให้บริการ ไม่ต่างจากต้นตำรับ

5 ปราการป้องกันธุรกิจ

ขณะเดียวกัน หากไม่อยากตกเป็นฝ่ายถูกละเมิด ธุรกิจสามารถป้องกันตัวเองได้ ดังนี้

  • จดทะเบียนเพื่อรับสิทธิคุ้มครอง
    สิ่งที่ไม่ควรละเลย คือ เรื่องของการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือบริการ รวมถึงสิทธิบัตรต่างๆ เพื่อให้ชื่อแบรนด์ โลโก้ ผลงาน การออกแบบ สิ่งประดิษฐ์และอื่นๆ ของธุรกิจได้รับสิทธิคุ้มครองทางกฎหมาย และสามารถดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่มาละเมิดสิทธิ์ของเราได้
  • พัฒนาสินค้าอย่างสม่ำเสมอ
    การพัฒนาสินค้าอยู่เสมอ ทำให้ยากต่อการที่ผู้อื่นจะลอกเลียนแบบหรือตามทันแบรนด์ได้ ถือเป็นอีกทางที่สามารถช่วยป้องกันการถูกก๊อบปี้ได้
  • ใช้ลูกค้าเป็นผู้ตรวจสอบ
    ลูกค้าถือเป็นหูเป็นตาชั้นดีของธุรกิจ ดังนั้น สิ่งที่แบรนด์ควรทำคือ การสร้างกิจกรรม ทำคอนเทนต์ หรือแคมเปญทางการตลาด เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างกัน ช่วยทำให้ลูกค้าคุ้นเคยกับสินค้า และแยกแยะได้ว่าสินค้าไหนเป็นของแท้หรือของปลอม และแจ้งกลับมาทางแบรนด์เมื่อเจอสินค้าลอกเลียนแบบ
  • ใส่ลายน้ำแสดงความเป็นเจ้าของ
    เพื่อป้องกันการนำภาพของร้านไปใช้ซ้ำ เจ้าของควรลงชื่อแบรนด์หรือชื่อเว็บไซต์เป็นลายน้ำที่ไม่สามารถลบได้ในรูปภาพที่โพสต์บนเว็บไซต์หรือโซเชียลมีเดีย ซึ่งนอกจากจะทำให้รู้ว่าใครคือเจ้าของตัวจริง ยังทำให้ลูกค้าคลิกเข้าไปดูเพจของแบรนด์อีกด้วย
  • ติดสติกเกอร์กันปลอม
    การติดสติกเกอร์กันปลอม สติกเกอร์โฮโลแกรม ซึ่งออกแบบมาเพื่อช่วยป้องกันการลอกเลียนแบบบนตัวสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ รวมถึงสติกเกอร์ QR Code กันปลอม ที่มีการพิมพ์ QR Code ลงไปบนสติกเกอร์ ซึ่งลูกค้าสามารถสแกน ตรวจสอบได้ว่าเป็นสินค้าจริงหรือไม่ ช่วยให้การลอกเลียนแบบสินค้าทำได้ยากขึ้น
สิทธิน่ารู้ ของคนทำแบรนด์