1/2/2562

เคล็ดลับจับ 9 กลุ่มกำลังซื้อสูง

​​​ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่มักเกิดข้อสงสัยจากการใช้โฆษณาผ่านเฟซบุ๊กเพื่อเรียกลูกค้า แต่แล้วทำไมถึงไม่เกิดยอดขาย คำตอบที่หลายคนอาจลืมไปก็คือ เรากำลังหากลุ่มเป้าหมายที่ "กำลังจะซื้อ" สินค้า ไม่ใช่แค่สนใจเฉยๆ และกลุ่มเป้าหมายที่สนใจซื้อสินค้าของเราจริงๆ จะขาดคุณสมบัติสำคัญนี้ไปไม่ได้เลย นั่นคือ กลุ่มเป้าหมายต้องมี "กำลังซื้อ" โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง หรือพฤติกรรมที่บอกว่าเป็น "นักช้อปออนไลน์" สำหรับกรณีที่เน้นการสั่งซื้อและชำระสินค้าผ่านระบบออนไลน์ โดยการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ "มีกำลังซื้อ" ในตัวจัดการโฆษณาของเฟซบุ๊กที่เจ้าของธุรกิจสามารถนำไปทดลองใช้ในการปรับแต่งกลุ่มเป้าหมายของตนเองได้ มีดังนี้

 
1. สาวกสินค้าแ​​บรนด์​เนม ​​
หมายถึง กลุ่มผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ชื่นชอบเพจสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนม อย่างเช่น หลุยส์ วิตตอง แอร์เมส โรเล็กซ์ เป็นต้น หรือสินค้าแบรนด์ดังที่มีราคารองลงมาจากนี้ คุณสามารถระบุแบรนด์เหล่านี้ลงไปในกล่องข้อความที่ใช้ "กำหนดกลุ่มเป้าหมายแบบละเอียด" ได้โดยตรง ซึ่งถ้ามีกลุ่มผู้ชื่นชอบแบรนด์นั้นๆ  เฟซบุ๊กจะแสดงชื่อแบรนด์ดังกล่าวขึ้นมาให้เลือก

2. ชอบเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ 
กลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างสูง ซึ่งเราสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายนี้ได้ โดยการเลือกกลุ่มผู้ใช้ที่มีพฤติกรรมชอบท่องเที่ยวต่างประเทศบ่อยๆ (พฤติกรรม: ท่องเที่ยว > ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศเป็นประจำ) หรือชอบท่องเที่ยว (พฤติกรรม: ท่องเที่ยว > เดินทางบ่อย)

 
3. ลูกศึกษาในโรงเรียนค่าเทอมแพง 
โดยพฤติกรรมผู้ปกครองของเด็กที่เรียนในโรงเรียนเหล่านี้จะกดไลค์เพจ เพื่อติดตามข้อมูลของโรงเรียนด้วย ทั้งนี้คุณสามารถระบุเพจของโรงเรียนเข้าไปได้โดยตรงด้วยการพิมพ์ชื่อโรงเรียนเข้าไป หากเพจของโรงเรียนนั้นๆ มีความน่าสนใจเพียงพอ เฟซบุ๊กก็จะแสดงชื่อเพจโรงเรียนขึ้นมาให้เลือกได้

 
4. นักช้อปออนไลน์ 
กลุ่มนี้จะเข้าถึงผู้ที่ถูกใจเพจเกี่ยวกับช้อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงลงไปว่า มีกำลังซื้อมากน้อยแค่ไหน แต่หากสินค้า หรือบริการมีราคาระดับกลางๆ (เฉลี่ยผู้บริโภคจะช้อปปิ้งออนไลน์ด้วยเงิน 20% ของรายได้ต่อเดือน) การจำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลงด้วยความสนใจนี้ น่าจะช่วยให้ได้กลุ่มที่แม่นยำยิ่งขึ้น

 
5. นักช้อปที่มีส่วนร่วม 
​​มาจากคำว่า “Engaged Shopper" ซึ่งหมายถึง กลุ่มที่คลิกปุ่ม “เลือกซื้อเลย" (Shop Now) ในโพสต์ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยความหมายของการนำไปใช้จะคล้ายๆ กับกลุ่ม "นักช้อปออนไลน์" คือ เน้นพฤติกรรมการช้อปปิ้ง มากกว่าระดับขีดความสามารถของกำลังซื้อ

 
6. พนักงานที่ทำงานในย่านธุรกิจ 
ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งนี้ อาทิ สีลม สาธร รัชดา สุขุวิท ฯลฯ จะเป็นกลุ่มที่ใช้เงินในการจับจ่ายสินค้าค่อนข้างสูง โดยเฉพาะพนักงานบริษัทที่มีความสนใจช้อปสินค้าแฟชั่น ตลอดจนสินค้าอุปโภค บริโภคต่างๆ

 
7. เจ้าของธุรกิจขนาดย่อม 
หมายถึง กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของออนไลน์ ซึ่งมีกำลังซื้อ และมีประสบการณ์ในการช้อปปิ้งออนไลน์แน่นอน กรณีที่เราเป็นธุรกิจขายส่ง สินค้าของเราอาจจะเหมาะกับกลุ่มนี้

 
8. เจ้าของสมาร์โฟนไฮเอ็นด์ 
คุณสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายนี้ได้จาก พฤติกรรม: ผู้ใช้อุปกรณ์มือถือ>อุปกรณ์มือถือทั้งหมดตามแบรนด์> Apple>เป็นเจ้าของ iPhone X เป็นต้น

 
9. เจ้าของรถยนต์ 
กลุ่มนี้จะคล้ายๆ กับการเลือกกลุ่มที่มีแนวโน้มเป็นผู้ใช้สินค้าแบรนด์เนม โดยเราสามารถเลือกกลุ่มนี้ได้ด้วยการพิมพ์แบรนด์รถยนต์ที่สนใจ แล้วคลิกปุ่ม “แนะนำ" เพื่อให้ระบบแสดงรุ่นรถต่างๆ หากต้องการ หรือจะพิมพ์ชื่อเข้าไปตรงๆ ก็ได้ เช่น บีเอ็มดับเบิ้ลยู ปอร์เช่ เฟอร์รารี่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ฯลฯ​

กลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อทั้ง 9 กลุ่มนี้ จะช่วยให้คุณพบกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังทรัพย์ พร้อมซื้อสินค้า หรือบริการโดยพลัน และยังช่วยจำกัดกลุ่มเป้าหมายให้แคบลง และตรงเป้ามากยิ่งขึ้น ​

สินเชื่อที่เกี่ยวข้อง : สินเชื่อและบริการยอดฮิต