27/4/2560

3 ธุรกิจเปลี่ยนแล้วรุ่งยุค 4.0

     อย่างที่รู้กันว่าเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการที่จะไปสู่ SME 4.0 เพราะจะช่วยสร้างความแตกต่าง ทิ้งห่างจากคู่แข่ง ทั้งในด้านกระบวนการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพราะในยุคปัจจุบันหากผู้ประกอบการ SME ไม่พัฒนา สักพักจะไม่สามารถแข่งขันในตลาดที่คู่แข่งคอยพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นรายใหญ่ หรือในระดับเดียวกัน  ผู้ประกอบการท่านไหนไม่อยากตกขบวนรถไฟสายดิจิทัล ลองมาดูแนวคิดของเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ ว่าพวกเขาเหล่านี้มีวิธีบริหารจัดการธุรกิจอย่างไรให้รุ่งพุ่งแรงในยุค 4.0 นี้

โซฟาชูส์ รองเท้าดี มีนวัตกรรม ฟันยอดขายร้อยล้าน

     รองเท้า ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิต ทำให้ธุรกิจรองเท้ากลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าลงทุน เพราะทุกคนต้องมีรองเท้าอย่างต่ำคนละ 1 คู่ และยิ่งถ้าเป็นสาวๆ คาดเดาได้เลยว่าต้องมีรองเท้าไม่ต่ำกว่า 2 คู่ ด้วยความต้องการที่มีมาก ทำให้คุณกรกนก สว่างรวมโชค เจ้าของธุรกิจรองเท้าสุขภาพแบรนด์ Shuberry แบรนด์ที่ครองใจผู้ใช้มานานร่วม 10 ปี เริ่มคิดต่อยอดจากธุรกิจเดิมคือรองเท้าแฟชั่นสู่รองเท้าเพื่อสุขภาพโซฟาชูส์ โดยมีที่มาจากตอนที่คุณกรกนกประสบอุบัติเหตุที่ข้อเท้าเป็นเหตุให้ไม่สามารถใส่รองเท้าแฟชั่นได้ จึงสวมใส่ได้แต่รองเท้าเพื่อสุขภาพ เกิดเป็นไอเดียที่จะผลิตรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ตัวเองใส่ได้และสามารถวางจำหน่ายได้ด้วย   

โดยเน้นการใช้นวัตกรรมสร้างความต่าง เพราะเชื่อมั่นว่าสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจแตกต่างจากคู่แข่งในยุค 4.0 คือ การมีนวัตกรรม และเน้นการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าด้วยการโปรโมทผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊กที่มีความรวดเร็ว บวกกับคุณภาพสินค้าที่ดีจริงจึงเกิดการบอกต่อรวมถึงยังใช้ช่องทางออนไลน์จำหน่ายรองเท้าที่ทำให้ลูกค้าเลือกซื้อรองเท้าได้ง่าย จนสามารถสร้างยอดขายได้ร้อยล้านบาทอย่างสวยงาม

จากขาตู้เย็นไม้โบราณ พัฒนาเทคโนโลยีสู่พาเลทลังไม้รับแรงกระแทกสูง

      คุณโอภาส ชีวะธรรมานนท์ เจ้าของธุรกิจพาเลทและลังไม้ บูรณาพา กรุ๊ป 
เริ่มต้นธุรกิจรับทำขาตู้เย็นแบบไม้ พอทำไปสักระยะขาพลาสติกเริ่มเข้ามา ทำให้ขาตู้เย็นแบบไม้เริ่มถูกกลืนกลายมาเป็น ขาแบบพลาสติกแทน แต่ยังมีลูกค้าที่ชอบลังไม้แบบเก่า จะมาสั่งให้ผลิตลังไม้แบบเดิมอยู่ตลอดเวลา ทำให้จำเป็นต้องพัฒนามาสินค้าไปเรื่อยๆ  แม้จะพัฒนาสินค้ามาโดยตลอดแต่ด้วยความที่ผลิตตามแบบที่ลูกค้าต้องการ ทำให้เมื่อลูกค้าเอาของไปใช้ โดยเฉพาะขนส่งไปต่างประเทศแล้วเกิดปัญหาความเสียหาย เนื่องจากลังไม้ที่ลูกค้าออกแบบไม่ได้คำนวณการรับแรงกระแทกอย่างถูกต้อง ในช่วงที่ขนส่งไปต่างประเทศ จึงทำให้สินค้าแตกหักเสียหาย ลูกค้าก็จะเอาสินค้ากลับมาเรียกค่าเสียหายกับบริษัทบ่อยครั้ง

     จากปัญหาดังกล่าว กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่คุณโอภาสเริ่มหาวิธีการที่จะทำอย่างไรให้การผลิตลังไม้ของบริษัทนั้นมีคุณภาพมากขึ้น โดยคิดนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เขาได้เข้าไปปรึกษากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. เพื่อขอคำแนะนำและวิธีแก้ไข  โดยบูรณาพา กรุ๊ป เป็นเจ้าแรกที่มีการนำซอฟท์แวร์จำลองการผลิตเข้ามาใช้ ซึ่งข้อดีของโปรแกรมนี้คือ เป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถออกแบบลักษณะของพาเลทโดยคำนวณการรับแรงกระแทกออกมาเป็นตัวเลขและภาพได้อย่างชัดเจน ทำให้การทำพาเลทลังไม้ของคุณโอภาสตรงกับความต้องการของลูกค้าที่ต้องการบรรจุสินค้าได้ในปริมาณเยอะ และทำให้สินค้าที่บรรจุในพาเลทไม้นี้ไม่ได้รับความเสียหายในระหว่างขนส่ง แม้ว่าพาเลทไม้ของคุณโอภาสจะมีราคาสูงกว่าทั่วไป แต่ลูกค้าก็ยอมจ่าย เพราะลูกค้าต้องการสินค้าดีมีคุณภาพ ไม่ใช่แค่สินค้าราคาถูกเท่านั้น

เริ่มต้นธุรกิจไม่ถึงล้าน คืนทุนเร็วใน 4 เดือน ด้วยการตลาดออนไลน์ 100%

    
คุณธนพงษ์ วงศ์ชินศรี ซีอีโอเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร Penguin Eat Shabu เริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารสไตล์ญี่ปุ่นด้วยเวลาเพียง 60 วันกับเงินไม่ถึงล้านบาท ด้วยความเชื่อในพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์กจึงเลือกทำการตลาดออนไลน์ 100 % จนทำให้ร้านกลายเป็นที่รู้จักทั้งที่เริ่มทำมาได้เพียง 2 ปีกว่า แต่ยอดขายและชื่อเสียงพุ่งไกลสวนทางกับระยะเวลา

     ร้าน Penguin Eat Shabu ใช้เวลาคิด และเปิดเป็นร้านให้ลูกค้าได้ใช้บริการในเวลาเพียงแค่ 60 วัน โดยธนพงษ์เริ่มศึกษาพฤติกรรมของลูกค้า หาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับร้านอาหารบนโลกออนไลน์  ใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนแม้กระทั่งการตั้งชื่อร้าน  รวมทั้งศึกษาการบริหารจัดการร้านอาหารให้อยู่รอดและโดดเด่นที่สุดในยุคที่การแข่งขันสูง  แต่สำหรับเรื่องความอร่อย ธนพงษ์ขอให้ความสำคัญเป็นลำดับสุดท้าย เพราะเขามองว่าความอร่อยเป็นมาตรฐานพื้นฐานที่ทุกร้านอาหารจะต้องมี เขากลับไปให้ความสำคัญกับเทรนด์ปัจจุบันที่ลูกค้าส่วนใหญ่ชอบถ่ายรูปและแชร์รูปผ่านโลกโซเชียล ทำให้เขาคิดว่าต่อให้อาหารอร่อยขนาดไหน ความอร่อยก็ไม่สามารถถ่ายรูปออกมาได้ แต่ถ้าหากใช้การออกแบบตกแต่งร้านให้น่าเข้ามารับประทาน เลือกเฟอร์นิเจอร์ทุกชิ้นในร้านเป็นแบบลอยตัวหมด ลูกค้าอยากทำอะไร อยากขยับเฟอร์นิเจอร์ตัวไหน นั่งแบบไหน ไม่จำกัดเหมือนร้านทั่วไปนอกจากนี้ยังมีพร็อพให้ถ่ายรูป ทำให้ลูกค้ามีความสุข สนุก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้ร้าน Penguin Eat Shabu แตกต่างจนเกิดเป็นกระแสการแชร์และบอกต่อไปเรื่อยๆ โดยแทบไม่ต้องเสียเงินทำโฆษณาหรือทำการตลาดเลยแม้แต่น้อย ส่งผลให้สามารถคืนทุนได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 4 เดือน เพราะการใช้สื่อออนไลน์เป็นสื่อหลักในการดึงลูกค้าที่ต้องการ บวกกับการหาพันธมิตรที่เกี่ยวกับร้านอาหารอย่างแอพพลิเคชัน FoodStory มาช่วยบริหารจัดการร้าน ทำให้การคิดเงิน การตรวจสอบการตอบรับของลูกค้าที่มาใช้บริการทำได้สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น และในอนาคตธนพงษ์จะทำการตลาดออฟไลน์ควบคู่ไปกับตลาดออนไลน์เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้ามากขึ้นอีกด้วย

     โจทย์สำคัญของ SME ในยุคปัจจุบันที่นอกจากต้องเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้วยังต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในโลกยุคดิจิทัลที่กำลังถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงอีกด้วย ดังนั้น นวัตกรรมและเทคโนโลยีจึงกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญ รวมทั้งเป็นเครื่องมือในการลดต้นทุนการผลิตและยังเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยทำให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้อย่างไร้พรมแดน SME ที่ปรับตัวได้เท่านั้นที่จะสามารถอยู่รอดและขับเคลื่อนตัวเองสู่การเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง