3/12/2564

เทคนิคเปลี่ยนคู่ค้าใหม่ ให้กลายเป็นคู่แท้ธุรกิจ

content1

เลือกคู่ค้าใหม่อย่างไร? ให้ไปด้วยกันรอด

“มองตาก็รู้ใจ” คำคำนี้อาจใช้ได้กับคู่ค้าเก่าที่เคยทำธุรกิจร่วมกันมาเป็นเวลานาน แต่ถ้าต้องมองหาคู่ค้าใหม่ การมองแค่ตาอาจใช้ไม่ได้ผล เพราะถ้าอยากได้ “คู่ค้า” ที่จะพากันรอดในยุค COVID-19 แบบนี้ ต้องมองให้ลึกไปกว่านั้น

content2
  • มอง “ธุรกิจที่มีจุดร่วมระหว่างกัน”

    คู่ค้าที่จะไปด้วยกันได้ตลอดรอดฝั่ง จำเป็นต้องมีความเข้าใจพื้นฐานที่คล้ายกัน เพราะหากไม่มีจุดร่วมเหมือนกันเลย คงยากที่จะทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพได้ เช่น สิ่งที่เขาให้ความสำคัญ เป็นเรื่องเดียวกันหรือสอดคล้องไปกับสิ่งที่คุณทำอยู่หรือไม่ หรือกลุ่มลูกค้าที่เขาต้องการเหมือนกันกับคุณหรือไม่ เป็นต้น

  • มอง “ชื่อเสียง ประวัติธุรกิจ”

    ก่อนจะร่วมมือกับใคร สิ่งที่ต้องทำ คือ ตรวจเช็กประวัติธุรกิจ รวมถึงศึกษาข้อมูลของบริษัทนั้นๆ อย่างละเอียดถี่ถ้วน เพราะการเข้าไปข้องเกี่ยวกับบริษัทที่มีอดีตคลุมเครือ อาจทำให้ชื่อเสียงธุรกิจคุณได้รับผลกระทบด้านลบไปด้วย

    ปัจจุบันมีหลายวิธีที่จะช่วยเช็กประวัติคู่ค้าได้ ง่ายที่สุด คือ การค้นหาบน Google หรือเช็กผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น ตรวจสอบโพรไฟล์ของคู่ค้าบน LinkedIn หรือดูจาก Facebook เพื่อเช็กดูว่าชื่อเสียงบนโลกออนไลน์เป็นไปในทิศทางไหน

    นอกจากนี้ ยังสามารถเช็กข้อมูลนิติบุคคล ผ่านบริการออนไลน์ได้ด้วย เช่น DBD DataWarehouse+ (https://datawarehouse.dbd.go.th/) ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นแหล่งค้นหาข้อมูลนิติบุคคล และประเภทธุรกิจในประเทศไทย หรือบริการของ Startup ที่ชื่อว่า Creden Data (https://creden.co/) ที่สามารถดูงบการเงิน กรรมการหรือผู้ถือหุ้น และข้อมูลอื่นๆ ได้ เหล่านี้นับเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยเช็กประวัติ วิเคราะห์คู่ค้าและพาร์ตเนอร์ธุรกิจได้

  • มอง “ความสามารถ/ศักยภาพที่เชื่อมโยงกันได้

    ข้อมูลจาก McKinsey & Company คาดว่าในปี 2568 เกือบ 1 ใน 3 ของยอดขายทั่วโลกจะเกิดจากการที่มีพาร์ตเนอร์หรือผู้เล่นข้ามอุตสาหกรรมเข้ามาทำงานร่วมกัน ดังนั้น การหาคู่ค้าใหม่อาจไม่จำเป็นต้องยึดติดกับอุตสาหกรรมเดิม สามารถหาคู่ค้าต่างอุตสาหกรรมได้ เพียงแต่ต้องมีศักยภาพหรือความสามารถที่เชื่อมโยงกับธุรกิจคุณได้

  • มอง “ธุรกิจที่มั่นคง ฐานลูกค้าแข็งแกร่ง”

    ทางลัดที่จะทำให้ธุรกิจโตได้เร็ว คือ การหาคู่ค้าที่มีตลาดหรือฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก โดยให้คุณลิสต์รายชื่อธุรกิจที่เข้าข่ายทั้งหมดไว้ แล้วพยายามพาตัวเองเข้าไปทำความรู้จัก แน่นอนว่าคู่ค้าเกรด A พรีเมียมแบบนี้ ใครๆ ก็อยากผูกมิตร ดังนั้น คุณอาจต้องใช้ความพยายามสูงกว่าปกติ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่พร้อมที่จะติดต่อด้วยตัวเอง สามารถใช้วิธีจ้างบริษัทภายนอกดำเนินการแทนได้

content3

เตรียมธุรกิจอย่างไร? ให้คู่ค้าใหม่มั่นใจเกินร้อย

content4

ไม่ใช่แค่คุณเลือกเขา แต่เขาก็เลือกคุณได้เช่นกัน เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องการคู่ค้าที่ใช่ด้วยกันทั้งนั้น และถ้าอยากทำให้คู่ค้ามั่นใจและเชื่อมั่นที่จะเป็นพาร์ตเนอร์จับมือเดินไปด้วยกัน คุณต้องเตรียมธุรกิจให้พร้อมใน 3 ด้านนี้

  1. มาตรฐานต้องมี

    ด่านแรกของการสร้างความเชื่อมั่น ทำได้ด้วยการสร้างมาตรฐานให้ธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น GMP/HACCP/ISO/เครื่องหมายอาหารและยา (อย.) หรือเครื่องหมายมาตรฐานอาหารฮาลาล (Halal) ฯลฯ เหล่านี้คือมาตรฐานที่ช่วยการันตีคุณภาพ ทั้งในด้านความสะอาด ปลอดภัย รวมถึงการถูกต้องตามกฎหมายนั่นเอง

  2. เป็น(ธุรกิจ)คนดี รักษ์โลก

    จากผลสำรวจของ PwC ที่บอกไว้ว่า ผู้บริโภคชาวไทยเกือบ 80% เลือกซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทที่ทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนได้ว่า คนหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น เจ้าของธุรกิจสามารถใช้เรื่องนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าได้ ด้วยการแสดงออกให้เห็นว่า ธุรกิจคุณคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและใส่ใจสังคม เช่น สินค้าต้องมีฉลากสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า “ฉลากเขียว” เพื่อรับรองความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของธุรกิจ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีฉลากสิ่งแวดล้อมต่างกันไป เช่น EU Flower ของยุโรป Green Seal ของอเมริกา Eco Mark ของญี่ปุ่น เป็นต้น

  3. ฐานะการเงินต้องแกร่ง

    ความแข็งแกร่งด้านการเงิน ถือเป็นจุดที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าได้อย่างมาก ยิ่งปัจจุบันการตรวจสอบงบการเงินสามารถทำได้ง่ายๆ แค่ไม่กี่คลิกก็สามารถรู้ถึงสถานะการเงินของคู่ค้าได้แล้ว ฉะนั้น การทำงบการเงินที่ถูกต้อง ชัดเจน และโปร่งใส จะช่วยสร้างความมั่นใจกับคู่ค้าได้ รวมถึงการชำระเงินต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่ค้า เจ้าของธุรกิจสามารถใช้ตัวช่วยอย่าง หนังสือค้ำประกัน (Letter of Guarantee : LG) ที่ออกโดยธนาคารเพื่อรับรองว่า ธุรกิจของคุณจะทำการจ่ายเงินให้กับคู่ค้าอย่างแน่นอน ซึ่งหากมีการผิดสัญญา ธนาคารจะเป็นผู้รับผิดชอบแทน จะยิ่งสร้างความมั่นใจในการทำธุรกิจมากขึ้นไปอีก

content5

จับทิศทางเศรษฐกิจไทย-โลก รู้ก่อน! เดินหน้าขยายคู่ค้าใหม่

เมื่อโลกของการค้ายังอยู่บนความไม่แน่นอนจาก COVID-19 และปัจจัยอื่นๆ ดังนั้น ก่อนตัดสินใจเป็นคู่ค้ากับใคร จำเป็นต้องรู้ทิศทางทั้งเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะจะเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดกลยุทธ์ทางธุรกิจ

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 0.2% ส่วนปี 2565 จะฟื้นตัวที่ 3.7% จากความครอบคลุมของประชากรที่จะได้รับวัคซีนเกินกว่า 70% ทำให้ลดความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ลง และการดำเนินธุรกิจไม่หยุดชะงัก รวมถึงยังมีแรงหนุนการส่งออกที่เติบโต ซึ่งคาดว่าทั้งปีนี้ตัวเลขส่งออกน่าจะสูงกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ 12.4% โดยการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะ สหรัฐอเมริกา ยุโรป จีน ญี่ปุ่น และ CLMV

ขณะที่ทิศทางเศรษฐกิจโลก จากข้อมูล IMF คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2564 จะเติบโตที่ระดับ 5.9% และประเมินว่าปี 2565 จะขยายตัวที่ 4.9% พร้อมทั้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะขยายตัวเฉลี่ยที่ระดับ 5.2% ในปีนี้ ส่วนประเทศกำลังพัฒนาจะมีอัตราการเติบโตที่ 3%