10/6/2564

กำลังซื้อหด สต็อกอย่างไร? ไม่ให้เจ็บตัว

กางตำราจัดการสต็อก

จากการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี พ.ศ.2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการเติบโตอยู่ที่ 1.8% เนื่องจากยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ได้ รวมไปถึงแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวในไตรมาส 1/2564 เนื่องจากมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้น และการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง

ส่งผลให้การจับจ่ายของผู้คนช่วงที่เหลือของปีนี้มีแนวโน้มลดลง โดยจะเน้นไปที่สินค้าที่จำเป็นในการดำเนินชีวิต เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยและมีความสำคัญในการดำรงชีพน้อยกว่า มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง

ในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนเช่นนี้ ทำให้เจ้าของกิจการหลายรายไม่รู้ว่าต้องวางแผนผลิตสินค้าอย่างไร? หรือต้องสต็อกสินค้าไว้มากน้อยแค่ไหน? เพื่อไม่ให้มีของค้างโกดังมากเกินไปจนเงินจม หรือน้อยไปจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้ธุรกิจต้องเจ็บตัวเพราะสต็อกสินค้าพลาด ลองทำตาม 3 ข้อนี้

1. ประเมินความต้องการของตลาด

ก่อนเริ่มผลิตหรือสั่งซื้อสินค้าเข้ามา ควรสำรวจความต้องการของตลาดในช่วงนั้นว่า สินค้าของเรานั้นเป็นที่ต้องการในตลาดอยู่หรือไม่ หรือมีโอกาสขายได้มากน้อยแค่ไหน เช่น หากเป็นสินค้ากลุ่มฟุ่มเฟือยซึ่งมีแนวโน้มที่ลูกค้าจะชะลอการซื้อ อาจต้องลดปริมาณการผลิตลง การรู้ถึงความต้องการของตลาด จะช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนการผลิตได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. รู้ว่าควรมีสินค้าเท่าไร

เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอในการขาย ควรทำการกำหนดปริมาณสินค้าในการสต็อก ดังนี้

1) มีของเท่าไรถึงจะปลอดภัย ขายได้อย่างไม่ขาดแคลน (Safety Stock)

ให้ประเมินจากความสามารถในการแบกรับต้นทุน หรือระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ เช่น กำหนดไว้ที่ 10 วัน จากนั้นมาดูว่า สินค้าแต่ละชนิดเฉลี่ยแล้วขายได้เท่าไรต่อวัน นำค่าที่ได้มาคูณกัน เพื่อหาจำนวนสินค้าที่ต่ำสุดที่ควรมีอยู่ในสต็อก ยกตัวอย่าง

สินค้า A ขายได้เฉลี่ย 10 ชิ้นต่อวัน X ระยะเวลาจัดส่งสินค้าจากซัพพลายเออร์ 10 วัน = 100 ชิ้น
ดังนั้น Safety Stock หรือจำนวนสินค้าที่ต่ำสุดที่ควรมีในสต็อก คือ 100 ชิ้น

2) ต้องสั่งซื้อของเพิ่มเมื่อไร (Reorder Point : ROP)

คิดได้จากการนำจำนวนสินค้าที่ขายได้เฉลี่ยต่อวัน X ความสามารถในการจัดหาสินค้ามาขาย (Lead Time) + Safety Stock ก็จะได้เท่ากับ จำนวนสินค้าคงเหลือที่ต้องทำการสั่งซื้อใหม่ ยกตัวอย่าง

สินค้า A ขายได้เฉลี่ย 10 ชิ้นต่อวัน X Lead Time เช่น กำหนดไว้ที่ 7 วัน + Safety Stock 100 ชิ้น = 170 ชิ้น
ดังนั้น เมื่อขายไปแล้วสินค้าคงเหลือ 170 ชิ้น ต้องทำการสั่งซื้อใหม่

3) เก็บสินค้าในสต็อกได้สูงสุดเท่าไร (MAX)

คิดได้จากจำนวนสินค้าที่ขายได้เฉลี่ยต่อวัน X จำนวนวันที่ต้องการเก็บสูงสุดกี่วัน สมมุติให้เป็น 30 วัน ก็จะได้เป็นจำนวนสินค้าที่เก็บได้สูงสุดตามรอบที่กำหนดไว้ ยกตัวอย่าง

สินค้า A ขายได้เฉลี่ย 10 ชิ้นต่อวัน X 30 วัน = 300 ชิ้น
ดังนั้น ตามรอบที่กำหนดสามารถทำการเก็บสินค้าได้สูงสุดที่ 300 ชิ้น

4) สั่งซื้อครั้งละเท่าไรถึงจะดี

คำนวณได้จากจำนวนสินค้าที่เก็บสูงสุดในสต็อก – Safety Stock = จำนวนสินค้าที่ควรสั่งซื้อในแต่ละครั้ง ยกตัวอย่าง

MAX 300 ชิ้น – Safety Stock 100 ชิ้น = 200 ชิ้น
ดังนั้น ในการสั่งสินค้าใหม่แต่ละครั้ง ควรสั่งซื้อที่ 200 ชิ้น

3. นับสต็อกเสมอ

ต้องหมั่นตรวจสอบสต็อกอยู่เสมอ ยิ่งช่วงวิกฤตแบบนี้ การเข้า-ออกของสินค้าอาจแตกต่างไปจากเดิม ยิ่งต้องทำการเช็กให้รู้ว่า สินค้าตัวไหนขายดี ใกล้หมดต้องสั่งเพิ่ม สินค้าตัวไหนไม่ควรขาย เพื่อระงับการสั่งต่อ หรือสินค้าตัวไหนควรเร่งระบายเพื่อไม่ให้เกิด Dead Stock

นอกจากนี้ ถ้าอยากให้การวางแผนจัดการสต็อกเป็นไปอย่างคล่องตัว การนำเทคโนโลยีและเครื่องมือต่างๆ เข้ามาใช้ ถือเป็นตัวช่วยที่ดี ยกตัวอย่าง

  • ระบบ POS ที่ช่วยให้จัดการ ตรวจสอบ และนับสต็อกได้อย่างแม่นยำ
  • Page365 ระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ครบวงจรและบริหารสต็อกแบบเรียลไทม์
  • Zort ระบบจัดการออร์เดอร์และสต็อกสินค้า
  • Shopkeeper แอปพลิเคชันจัดการสต็อกเพื่อร้านออนไลน์ รองรับการจองสินค้าแบบพรีออร์เดอร์
  • CheckStockPro ไม่ว่ากี่สาขาก็เช็กสต็อกได้ ใช้การสแกนบาร์โค้ดสินค้าทำการเช็กสต็อกได้ทันที
  • Mystore แอปฯ ช่วยบริหารสต็อกสินค้า ทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย พิมพ์ที่อยู่ตามวันจัดส่งสินค้า