19/11/2564

ถอดแบบโอปป้า 4 ซีรีส์ดัง สูตรสำเร็จคนทำธุรกิจ

item1
item2

“เก่งรอบด้าน ทำได้มากกว่าหนึ่ง” แบบหัวหน้าฮง

item3

“หัวหน้าฮง” หรือ ฮงดูชิก จากซีรีส์ดัง Hometown Cha Cha Cha คือ ตัวแทนของการมี Multi-Skill หรือทักษะความสามารถที่หลากหลาย จากในซีรีส์จะเห็นได้ว่า หัวหน้าฮงทำหลากหลายอาชีพ เช่น บาริสตา ช่างไฟฟ้า ช่างประปา คนออกแบบตกแต่งภายใน นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ และอีกสารพัดอาชีพ ซึ่งนอกจากจะทำงานได้หลายอย่างแล้ว ยังมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ เป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับของทุกคน ซึ่งเป็นการสะท้อนว่า ความเชี่ยวชาญนั้นๆ เกิดจากการพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จนกลายเป็นความรู้จริงในสิ่งที่ตัวเองทำ

Multi-Skill กลายเป็นคุณสมบัติเด่นอย่างแรกที่เจ้าของธุรกิจต้องมี เพราะยุคนี้การเก่งเรื่องใดเรื่องหนึ่งอาจไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ จำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะทักษะที่จำเป็นสำหรับปี 2565 เช่น

  • ทักษะคิดเชิงวิพากษ์และคิดอย่างมีเหตุผล ช่วยให้มองเห็นปัญหาและทางออกในการจัดการธุรกิจได้ตรงจุดยิ่งขึ้น
  • ทักษะความคิดสร้างสรรค์ ช่วยในการขุดหาไอเดียแปลกใหม่ แตกต่างไม่ซ้ำใคร ฉีกกรอบที่เคยมี
  • ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี เป็นอีกทักษะที่เจ้าของธุรกิจต้องมีและต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญมากที่สุด
  • ทักษะ Growth Mindset การเรียนรู้จากทุกความผิดพลาด จะช่วยให้พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ
  • ทักษะการเป็นผู้นำและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อส่งมอบพลังให้ลูกน้องพร้อมเดินหน้าทุ่มเทไปด้วยกัน

“รู้ (จุดอ่อน) เขา รู้ (จุดแข็ง) เรา” รบไม่แพ้แบบ Vincenzo

item4

ใครติดตามซีรีส์ดังอย่าง Vincenzo ทนายมาเฟีย ต้องรู้จัก “วินเชนโซ กาซาโน” หากมองคุณสมบัติเด่นของทนายมาเฟียคนนี้ ต้องยอมรับว่า เขาสามารถใช้จุดอ่อนของฝ่ายตรงข้ามมาสร้างเป็นแต้มต่อให้ตัวเองได้อย่างฉลาด และเมื่อรวมกับจุดแข็งที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็นความช่างสังเกต การใส่ใจในรายละเอียด มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง รวมถึงการเป็นนักวางแผนมือฉมัง เพราะเราจะเห็นว่าเขามีแผนสำรองอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้จึงทำให้วินเชนโซเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ไม่ยาก ดังนั้น การรู้เขา รู้เรา นับเป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติที่เจ้าของธุรกิจต้องมีเช่นกัน

เทคนิค...รู้เขา

  1. ใช้เครื่องมือดิจิทัลหาข้อมูลลูกค้าและคู่แข่ง เช่น Google Analytics เครื่องมือหา Insights ลูกค้าผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ที่เข้าชมเว็บไซต์ หรือ Google Trends ที่ช่วยให้รู้ถึงความสนใจของผู้บริโภค โดยการเลือก Keyword ที่เหมาะกับ Insights ที่ต้องการหา หรือ Social Listening เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูลบนโซเชียล เพื่อดูว่าผู้บริโภคพูดถึงแบรนด์อย่างไร
  2. สวมวิญญาณสายลับ การติดตามดูคู่แข่งเป็นอีกสิ่งที่คุณสามารถทำได้เช่นกัน มีตั้งแต่การสะกดรอยตามบนโซเชียล ด้วยการเข้าไปกด Follow โซเชียลมีเดียต่างๆ ของคู่แข่ง เพื่อให้รู้ว่าความเคลื่อนไหว หรือการแฝงตัวเป็นลูกค้า ลองซื้อสินค้าหรือใช้บริการของคู่แข่ง เพื่อให้รู้และเห็นถึงจุดอ่อน จุดแข็งที่คู่แข่งมี เป็นต้น

เทคนิค...รู้เรา

เจ้าของธุรกิจสามารถใช้การวิเคราะห์ข้อมูลหาจุดแข็งของตัวเอง ผ่าน 4 คำถามต่อไปนี้

  1. ลูกค้าคือใคร? กำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้าให้ชัดเจน
  2. แก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า? ต้องรู้ก่อนว่าลูกค้ามีปัญหาอะไร หาข้อมูลให้ชัด อย่าคาดเดาเอาเอง
  3. ทำไมลูกค้าถึงซื้อ? เป็นเพราะราคา ฟังก์ชันการใช้งาน หรืออะไร วิเคราะห์ให้ได้ แล้วหยิบมาใช้เป็นจุดแข็ง
  4. พฤติกรรมการสั่งซื้อเป็นอย่างไร? หาให้เจอว่า ลูกค้ารับรู้หรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางไหนบ้าง

“ไม่ยึดติดรูปแบบ” นักแก้ปัญหาแบบนัมโดซาน

item5

ตัวละคร “นัมโดซาน” จากซีรีส์มาแรงอย่าง Startup สะท้อนบุคลิกของคนที่ไม่ยอมแพ้ พยายามหาทางแก้ปัญหา โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบการแก้ปัญหาเดิมๆ และยังมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหานั้นๆ ให้จงได้ แม้จะต้องอดหลับอดนอนก็ตาม ซึ่งคุณสมบัติของการเป็นนักแก้ปัญหานี้ คืออีกหนึ่งสิ่งที่เจ้าของธุรกิจปี 2565 ต้องมีในตัว

โดยรูปแบบของการแก้ปัญหาจะเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆ ในปัจจุบันที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้ปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้นตามไปด้วย ฉะนั้นทักษะแก้ปัญหาที่ซับซ้อน (Complex Problem Solving) จึงเป็นเทรนด์ใหม่ที่คนทำธุรกิจต้องเรียนรู้และฝึกฝนตัวเอง เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาที่ซับซ้อนนี้ได้

ยกตัวอย่าง ความซับซ้อนของปัญหาจากวิกฤต COVID-19 จะเห็นได้ว่า COVID-19 นำมาซึ่งปัญหามากมายเหมือนมรสุมที่ซัดมาพร้อมกันในคราวเดียว ทั้งปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านการเงิน ปัญหาด้านยอดขาย ปัญหาซัพพลายเออร์ ทุกอย่างเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งจากนี้ไปเจ้าของธุรกิจก็จะเจอกับปัญหาที่มีความซับซ้อนแบบนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

เทคนิค...คลายปมปัญหาที่ซับซ้อน

  1. ระบุขอบเขตของปัญหา สามารถวิเคราะห์หาต้นตอของปัญหาได้ ด้วยหลักการถาม “Why” หรือ ทำไม?
  2. ประเมินสถานการณ์ เพื่อหาทางรับมืออย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำได้ด้วยการ...
    • ระบุสถานการณ์/เหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบและต้องการการจัดการ
    • ระบุเรื่องที่เป็นกังวลในสถานการณ์นั้นๆ อย่างละเอียดและชัดเจน
    • จัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่เป็นกังวล
    • วางแผนการจัดการและวิธีที่จะใช้ในการจัดการตามลำดับความสำคัญ
  3. ลงมือแก้ปัญหาอย่างเป็นแบบแผน เป็นขั้นเป็นตอน พร้อมประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อดูว่าทางแก้ไขที่ใช้นั้นมีผลเป็นอย่างไร เป็นไปตามคาดหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนแผนสำรองหรือไม่

“Heart Skill เก่งเรื่องใจให้ได้” แบบมุนคังแท

item6

“มุนคังแท” เจ้าหน้าที่ดูแลผู้ป่วยแผนกจิตเวช จากซีรีส์ดัง It’s Okay to Not Be Okay ชายหนุ่มจิตใจดี มีน้ำอดน้ำทน และที่สำคัญคือ มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งถ้าจะเปรียบในเชิงธุรกิจ มุนคังแท ถือว่ามี Soft Skill หรือทักษะด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวกับวิชาชีพ แต่เป็นทักษะที่จำเป็นในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ทักษะการสื่อสาร ทักษะการพูดโน้มน้าวใจ ทักษะการฟัง ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติเด่นที่ยุคนี้ Hard Skill อย่างเดียวไม่พอ เพราะโลกใบใหม่ยังต้องการ Soft Skill อีกด้วย

เทคนิค...พัฒนา Soft Skill

  • ประเมินทักษะ Soft Skill ตนเอง สำรวจว่า ตัวเองมีจุดอ่อนเรื่องใด เช่น ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี ขาดความมั่นใจ
  • เปิดใจรับสิ่งใหม่ การเปิดใจยอมรับจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขสิ่งที่เป็นจุดอ่อนของตัวเองได้
  • เป้าหมายชัดเจน การตั้งเป้าหมายและระยะของการพัฒนา Soft Skill จะช่วยให้การลงมือทำนั้นสำเร็จได้ง่ายขึ้น
  • เรียนรู้ทักษะเพิ่ม ปัจจุบันมีคอร์สฝึกอบรมเรื่อง Soft Skill เปิดสอนทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์

อย่างไรก็ดี ช่วงวิกฤตที่ผ่านมาจะพบว่า ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) กลายเป็นทักษะที่เจ้าของธุรกิจต้องนำมาใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจฝ่าวิกฤต ซึ่ง Empathy จะไม่ใช่แค่การรู้สึกสงสาร แต่เป็นการพยายามทำความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หากเจ้าของธุรกิจมีทักษะด้านนี้ที่ดี ก็จะช่วยสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) การมีส่วนร่วม (Engagement) และการรักษาพนักงาน (Retention) ในระยะยาวให้กับธุรกิจ

item7