7/7/2564

โรงงานรอด เปิด 4 แผน หยุดคลัสเตอร์โควิดได้จริง

ท่ามกลางกระแสข่าว “โรงงานอุตสาหกรรม” กลายเป็นแหล่งคลัสเตอร์ของการแพร่ระบาด COVID-19 ยิ่งเป็นโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยแล้ว ความเสี่ยงยิ่งสูงที่จะเป็นแหล่งเพาะเชื้ออย่างดี เพราะด้วยความเป็นสถานที่ปิด และมีคนงานนับร้อยนับพันคน หากละเลยความปลอดภัยแค่นิดเดียว ก็เหมือนกับเปิดประตูให้เชื้อร้ายนี้เข้ามาทำลายธุรกิจของคุณได้

โรงงาน Super Lock ผู้ผลิตกล่องถนอมอาหารพลาสติกชั้นนำในเมืองไทย แม้จะตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงสูง แต่ด้วยยึดหลักที่ว่า “ต้องทำทุกวิถีทาง” เพื่อไม่ให้คนในโรงงานต้องกลายเป็นกลุ่มเสี่ยง ทำให้ทุกวันนี้ ยังอยู่รอดปลอดภัย และห่างไกลจากการเป็นแหล่งคลัสเตอร์

ในเรื่องนี้ พลาวุฒิ เจริญจิตมั่น ทายาทรุ่นที่ 2 ของผู้ก่อตั้งแบรนด์ Super Lock บอกว่า เมื่อโรงงานไม่สามารถให้พนักงาน Work from Home ได้เหมือนออฟฟิศทั่วไป การจะทำให้ปลอดภัยและไม่กลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อนั้น ต้องอาศัยการเห็นแก่ส่วนรวม และให้คนงานปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด โดยมีมาตรการดังนี้

กฎเหล็ก 1 : ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย ทำตามกฎพื้นฐาน

ตั้งแต่ช่วงแรกจนถึงปัจจุบัน สิ่งที่โรงงานนี้เน้นย้ำมาตลอดคือ พนักงานทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย หากไม่เชื่อฟังจะถูกพักงานหรือออกใบแจ้งเตือน ล้างมือให้สะอาด วัดอุณหภูมิ รวมถึงการใช้แอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดตามลูกบิดและสิ่งที่คนใช้ร่วมกัน และจัดเวลาพักกินข้าวให้ไม่ชนกัน

กฎเหล็ก 2 : ใครมีอาการ กักตัวทันที

หากใครมีอาการหรือไม่สบาย โรงงานจะตัดสินใจให้กลับบ้านทันที เพื่อทำการกักตัวดูอาการ 3-5 วัน และให้ไปตรวจหาเชื้อ COVID-19 หากผลไม่เป็นบวกค่อยกลับมาทำงานตามปกติ ทั้งนี้ ต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีอาการทำการกักตัวทั้งหมด โดยทางโรงงานมีการสร้างบ้านพักสำหรับให้คนงานกักตัวด้วย

กฎเหล็ก 3 : ห้ามคนนอกเข้าโดยเด็ดขาด

ช่วงสถานการณ์ปกติ ทางโรงงานจะอนุญาตให้ลูกค้าและซัพพลายเออร์เข้ามาในโรงงานได้ แต่เวลานี้ห้ามคนนอกเข้าโดยเด็ดขาด เพื่อปิดโอกาสของการนำเชื้อจากคนภายนอกเข้ามากระจายในโรงงาน

กฎเหล็ก 4 : เร่งฉีดวัคซีนคนงานให้ครบ

ทางโรงงานขยับตัวล่วงหน้าตั้งแต่ 2 เดือนที่ผ่านมา ด้วยการให้คนงานที่มีอยู่ราว 100 คน เข้ารับการฉีดวัคซีนจนครบทั้ง 2 โดส ในส่วนของแรงงานต่างด้าวที่ไม่สามารถลงทะเบียน เพราะไม่ใช่คนไทยและรัฐบาลไม่รับรองนั้น โรงงานจะเป็นผู้จัดซื้อวัคซีนตัวเลือกให้ เพื่อเร่งสร้างความปลอดภัยในโรงงาน

“ต้องไม่ให้คนงานติดเชื้อโดยเด็ดขาด เลยต้องฉีดวัคซีนให้ได้เยอะที่สุด อย่างน้อยต้องทำให้ชุมชนที่เราดูแลอยู่ปลอดภัย อย่าประมาท เราต้องกำหนดและสื่อสารกับคนงานเลยว่า ถ้ามีใครเสี่ยงต้องแจ้งทันที ห้ามเงียบ เราจะได้จัดการถูก นอกจากนี้ ความเสี่ยงของการติดเชื้อในโรงงาน อาจมาจากทางญาติของคนงาน หรือชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ ดังนั้น ต้องให้เขาคอยรายงานสถานการณ์ด้วย หากบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง”

วัคซีนคือทางออก ดันธุรกิจกลับมาเดินหน้าในอีก 2 ปี

แม้วัคซีนจะช่วยไม่ได้ 100% เพราะสายพันธุ์ของ COVID-19 มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่พลาวุฒิเชื่อว่าวัคซีนเป็นทางออกที่เร็วที่สุด และเป็นทางที่ดีที่สุดที่ต้องทำ ซึ่งคาดว่าธุรกิจจะกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้งในปี พ.ศ.2566

“นอกจากภายในโรงงานที่ต้องมีมาตรการดูแลให้ปลอดภัยจากการเป็นแหล่งคลัสเตอร์แล้ว งานด้านการขาย การตลาด SME ก็ต้องทำให้อยู่รอดด้วยเช่นกัน อาจใช้การลดราคา เน้นขายแต่สินค้าตัวที่สำคัญ ตัวที่ทำยอดขายได้ ไม่ทำงานแบบสะเปะสะปะ และเน้นช่องทางที่ขายได้ เช่น ออนไลน์”

สำหรับทิศทางตลาดเครื่องใช้ในบ้าน พลาวุฒิมองว่ายังไปต่อได้ แต่การเข้าถึงของลูกค้าอาจยากขึ้น เพราะลูกค้ากลุ่มที่เดินห้างฯ ลดลง ส่วนออนไลน์ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่จะซื้อ อาจจำกัดอยู่ในกลุ่มคนอายุต่ำกว่า 40 ปี ดังนั้น ตลาดบางส่วนจะหายไป คนอาจใช้ของเดิม แต่โดยภาพรวมยังมีทิศทางของการเติบโต

“ปกติตลาดนี้ไม่หวือหวาอยู่แล้ว จะโตประมาณ 5-10% แต่ความท้าทายของประเทศไทยอยู่ที่การมีสินค้านำเข้า เช่น จากจีนเข้ามาตีตลาดค่อนข้างมาก ซึ่งเราต้องระวัง เน้นคุณภาพและสร้างความแตกต่าง ทั้งนี้ เครื่องครัวหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการทำอาหารเป็นเทรนด์ที่กำลังมา เพราะคนหันมาทำอาหารกินเองมากขึ้น ดังนั้น เราต้องดูว่า เทรนด์สินค้าตัวไหนที่ไปได้ แล้วไปจับตัวนั้น เพราะตอนนี้ไม่ใช่เวลาของการจับทุกอย่าง ต้องจับตัวที่สำคัญ ตัวที่จะพาให้เรารอดได้”