31/3/2560

แยกกระเป๋าไม่ชัด เสี่ยงทำธุรกิจเจ๊ง

​     ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในบ้านเราส่วนใหญ่เริ่มต้นธุรกิจมาจากเจ้าของคนเดียวหรือธุรกิจครอบครัวคนกันเอง ใช้เงินส่วนตัวมาลงทุนก่อร่างสร้างธุรกิจ จึงมักจะรู้สึกว่าเงินตัวเองกับเงินบริษัทก็คือเงินก้อนเดียวกัน เมื่อธุรกิจทำเงินงอกเงยก็หยิบเอาไปใช้จ่ายเรื่องส่วนตัว ไม่จริงจังกับการแยกเงินเท่าไรนัก คิดว่าเหมือนกับการโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายย้ายไปใส่กระเป๋าขวา แต่รู้หรือไม่ว่ามีธุรกิจเอสเอ็มอีที่เจ๊งเพราะใช้เงินปนกันเช่นนี้มานักต่อนักแล้ว ลองมาดูว่าการไม่แยกเงินส่วนตัวออกจากเงินธุรกิจนั้นสร้างความเสียหายได้อย่างไรบ้าง

1. ไม่เห็นสภาพคล่องของธุรกิจ การไม่ยอมแยกกระเป๋าให้เป็นสัดส่วนออกจากกัน ทำให้ใช้เงินปนกันจนลืมไปว่ารายจ่ายของธุรกิจควรจ่ายออกไปเพื่อการทำธุรกิจให้งอกเงย เช่น การนำไปซื้อวัตถุดิบเพื่อผลิตสินค้าและบริการ ให้เกิดเป็นรายได้และกำไรของธุรกิจ แต่หากคุณนำเงินมาใช้จ่ายส่วนตัว นั่นก็แปลว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้สร้างเป็นรายได้กลับคืนมาให้ธุรกิจเลย ที่สุดแล้วยังอาจจะกินทุน กว่าจะรู้ตัวก็ขาดเงินหมุนเวียนในธุรกิจแล้ว นั่นเป็นเพราะคุณไม่เห็นสภาพคล่องที่แท้จริงของธุรกิจ จึงไม่สามารถบริหารจัดการต้นทุนค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. กำไรหด เพราะต้นทุน (ส่วนตัว) บาน สาเหตุที่เอสเอ็มอีไม่แยกเงินธุรกิจกับเงินส่วนตัว นั่นก็เพราะคิดว่าเป็นธุรกิจของตัวเอง ย่อมมีสิทธิ์ใช้เงินที่มาจากธุรกิจนั้นเหมือนเป็นรายได้ของตัวเอง สงสัยบ้างหรือไม่ว่า ทำไมธุรกิจกำไรลดลงเรื่อยๆ ทั้งที่ขายดี และพยายามลดต้นทุนธุรกิจทุกทางแล้ว แต่คุณลืมไปว่าเงินในลิ้นชักที่หยิบไปจ่ายค่าเทอมลูก ไปเที่ยวต่างประเทศ นั่นแหละคือต้นทุนส่วนตัวที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจเลย แต่ธุรกิจกลับต้องแบกภาระเอาไว้ ซึ่งวิธีที่ถูกต้องคือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีควรให้เงินเดือนตัวเองแทนที่จะเอาเงินธุรกิจมาใช้ปนกันไปมา อย่าลืมว่าคุณก็คือลูกจ้างคนหนึ่งของบริษัทที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าของกิจการเท่านั้น

3. ไม่เหลือเงินทุนสำรอง เมื่อธุรกิจมีปัญหาการเงินติดขัด ครั้นจะนำเงินทุนส่วนตัวมาเติมเพื่อแก้ไขปัญหาก็ทำไม่ได้ เพราะกระเป๋าเงินมันไม่ได้แยกจากกัน เงินธุรกิจหมด เงินส่วนตัวจึงไม่มีเหลือ จากปัญหาขาดสภาพคล่องเพียงเล็กน้อยจึงลุกลามกลายเป็นปัญหาใหญ่โต ทีนี้ก็ต้องหันหน้าไปขอกู้เงินมาเพิ่มเพื่อรักษาสภาพคล่องให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

4. อยากกู้เพิ่มก็ทำได้ยาก การที่ผู้ประกอบการมีเงินหมุนเวียนในธุรกิจไม่ชัดเจน เนื่องจากรายรับรายจ่ายของธุรกิจกับเจ้าของนั้นปนเปกันไปหมด การนำเงินบริษัทไปใช้จ่ายส่วนตัวนั้นทำให้ค่าใช้จ่ายของธุรกิจมากกว่าความเป็นจริง ซึ่งผู้ประกอบการอาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อตามที่ขอ เพราะเมื่อแจกแจงค่าใช้จ่ายออกมาจริงๆ โดยตัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวของเจ้าของออกไป จะพบว่าธุรกิจก็มีสภาพคล่องเพียงพออยู่แล้ว จึงเป็นเหตุให้การกู้นั้นทำได้ยากขึ้น

5. ธุรกิจเจ๊ง เราเจ๊งด้วย ถ้าปัญหาขาดสภาพคล่องมาถึงทางตัน ผู้ประกอบการไม่สามารถหาเงินทุนมาหมุนเวียนในธุรกิจ ทีนี้ธุรกิจที่ปั้นมากับมือก็อาจพังได้ ซึ่งการจะลุกขึ้นมายืนใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตัวคุณเองไม่เหลือเงินเก็บ เท่ากับว่าเจ๊งไปพร้อมกับธุรกิจนั่นเอง

     ตอนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีคงเห็นอันตรายของการใช้เงินปนกันแล้ว สิ่งที่อยากให้ผู้ประกอบการยึดเอาไว้ให้มั่นก็คือ เงินที่ได้มาจากการประกอบธุรกิจนั้นก็ควรนำไปใช้ดำเนินธุรกิจ เช่น เป็นต้นทุนเพื่อผลิตสินค้าขาย ก่อให้เกิดรายได้กลับมาให้ธุรกิจตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ สำหรับเงินส่วนตัวที่ผู้ประกอบการจะได้รับในรูปแบบเงินเดือนก็เอาไว้ใช้ในเรื่องค่าใช้จ่ายจิปาถะส่วนตัว หากมีเหลือก็เอาไว้เป็นเงินออม ซึ่งอาจนำไปลงทุนหาโอกาสต่อยอดเงินส่วนตัวของตัวเองได้