10 คำถามต้องซัก ก่อนซื้อประกันสุขภาพ

10 คำถามต้องซัก ก่อนซื้อประกันสุขภาพ

​​        จากสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 แสดงให้เห็นว่าหลายคนเริ่มตระหนักและห่วงใยสุขภาพมากขึ้นแม้ประกัน  COVID-19 จะเริ่มหาซื้อยากขึ้น แต่ประกันสุขภาพทั่วไปก็คุ้มครองโรคที่เกิดจาก COVID-19 รวมถึงการเจ็บป่วยอื่น ๆ ด้วย แต่ก่อนตัดสินใจซื้อประกันสุขภาพ เราควรตั้งคำถามเพื่อให้รู้ข้อมูลที่จำเป็นจากตัวแทนหรือพนักงานที่เสนอขายประกันสุขภาพ เพื่อจะได้วางแผนเลือกซื้อได้ถูกต้อง

(1) “ต้องสำรองจ่ายก่อน หรือไม่?” หากต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วมาเบิกภายหลังจะส่งผลต่อการวางแผนสำรองเงินเก็บหรือวงเงินบัตรเครดิตเพื่อเตรียมเป็นค่ารักษาพยาบาล รวมถึงการเลือกโรงพยาบาลที่จะเข้ารับการรักษา 

(2) “ซื้อแล้วคุ้มครองทันที หรือไม่?” มีระยะเวลารอคอย ที่ยังไม่คุ้มครองโรคต่าง ๆ หลังซื้อประกันนานเท่าไร เช่น โรคเล็ก ๆ น้อย ๆ อาจ 30 วัน ส่วนโรคเฉพาะหรือโรคร้ายแรงอาจ 90 วัน เป็นต้น 

(3) “คุ้มครองโรค อะไรบ้าง?” คุ้มครองทุกโรคหรือจำกัดแค่บางโรค มีข้อยกเว้นที่ไม่คุ้มครองโรคอะไรบ้าง เช่น โรคร้ายแรง บางบริษัทอาจคุ้มครอง 27 โรคร้ายแรง แต่บางบริษัทอาจคุ้มครองถึง 30 โรคร้ายแรง 

(4) “เบิกได้เฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยในเท่านั้น หรือเบิกกรณีผู้ป่วยนอกได้?” ประกันสุขภาพส่วนใหญ่มักคุ้มครองการเจ็บป่วยเฉพาะกรณีเป็นผู้ป่วยใน คือต้องนอนโรงพยาบาล 6 ชั่วโมงขึ้นไป หากคุ้มครองกรณีผู้ป่วยนอกด้วยค่าเบี้ยประกันมักสูง แต่การเจ็บป่วยบางกรณีที่อาจรักษาด้วยการผ่าตัดและพักฟื้นไม่ถึง 6 ชั่วโมง บางแบบประกันก็สามารถเบิกได้ตามเงื่อนไข

(5) “เบิกแบบเหมา หรือแยกค่าใช้จ่าย?” แบบเหมา คือ เบิกได้ตามค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริง และ ไม่เกินวงเงินที่กำหนด แต่หากเป็นแบบแยกค่าใช้จ่าย นอกจากมีวงเงินคุ้มครองโดยรวมแล้วยังมีการกำหนดวงเงินของแต่ละรายการค่าใช้จ่ายด้วย 

(6) “จำกัดจำนวนครั้งหรือจำนวนเงิน ในการเบิกหรือไม่?” รายละเอียดเป็นอย่างไร รวมถึงเงื่อนไขวงเงินต่อครั้งนั้น ต้องซักถามด้วยว่าหากเข้ารับการรักษาโรคเดิมหลังการรักษาครั้งล่าสุดกี่วัน ถึงจะนับเป็นวงเงินครั้งใหม่

(7) “หากเกิดเหตุต่างประเทศ คุ้มครองหรือไม่?” เพราะหากคุ้มครองจะได้เดินทางอย่างสบายใจเนื่องจากค่ารักษาพยาบาลมักสูงมาก รวมถึงกรณีสำรองจ่ายไปก่อนต้องใช้หลักฐานอะไรบ้าง และ เอกสารควรเป็นภาษาอังกฤษหรือไม่

(8) “หากถือประกันสุขภาพที่อื่นอยู่ ยังเบิกได้หรือไม่? และต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?” เพราะหากเป็นประกันสุขภาพที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลตามจริง บริษัทจะคุ้มครองเฉพาะส่วนที่ยังไม่ได้เบิกที่อื่น และ ไม่เกินวงเงินตามเงื่อนไข แต่หากเป็นประกันสุขภาพที่จ่าย “เงินชดเชยรายวัน” สามารถนำสำเนาใบเสร็จไปเบิกได้ทุกที่ ตามจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยใน

(9) “ชำระเบี้ยเป็นรายเดือน ต่างกับรายปีหรือไม่?” ค่าเบี้ยโดยรวมทั้งปีเท่ากันหรือแบบรายปีต่ำกว่า หรือ เมื่อมีการจ่ายผลประโยชน์เป็นเงินก้อนจะมีการหักค่าเบี้ยในเดือนที่ยังชำระไม่ครบปีก่อนหรือไม่ แล้วผลประโยชน์ส่วนที่เหลือค่อยจ่ายให้เรา 

(10) “ต่ออายุความคุ้มครอง ได้ถึงปีไหน?” หากเป็นประกันสุขภาพแบบซื้อเดี่ยว ถ้าคาดหวังว่าจะมีโอกาสเบิกประกันนี้ในช่วงหลังเกษียณ แต่หากประกันนั้นต่ออายุได้ถึงอายุ 60 ปี ก็ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ที่ซื้อ ส่วนประกันสุขภาพที่เป็นสัญญาเพิ่มเติมที่ต้องซื้อพ่วงกับประกันชีวิตหลัก นอกจากดูปีต่ออายุของสัญญาเพิ่มเติมแล้วต้องดูระยะเวลาของประกันชีวิตหลักด้วย เช่น สัญญาเพิ่มเติมต่อได้ถึงอายุ 80 ปี แต่หากประกันชีวิตหลักครบสัญญาก่อนอายุ 80 ปี ความคุ้มครองสุขภาพก็จะสิ้นสุดลงไปด้วย

สำหรับใครที่สนใจอยากทำประกันสุขภาพ ต้องซักถามข้อมูลจากตัวแทนหรือพนักงานขายประกันให้เต็มที่จนกว่าจะหมดข้อสงสัย เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจว่าคุ้มกับเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าเบี้ยในแต่ละปีหรือไม่ รวมถึงแบบประกันที่ตัดสินใจซื้อนั้นมีความคุ้มครองครอบคลุมตรงกับความต้องการของตนเองจริงๆ หรือไม่ เพื่อให้การซื้อประกันสุขภาพครั้งนี้ได้รับประโยชน์สูงสุด และสำหรับใครที่ยังไม่เคยมีประกันสุขภาพ ลองเช็กสวัสดิการและความเสี่ยงด้านสุขภาพของตนเองดู แล้วถามตนเองดัง ๆ ว่า วันนี้พร้อมทำประกันสุขภาพแล้วหรือยัง

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
  • ​ประกันสุขภาพ เฮลท์ โพรเทคชัน : อ่านรายละเอียด และ เอกสารการสมัคร สามารถคลิกได้ ที่นี่
  • ประกันภัยโรคมะเร็ง อ่านรายละเอียด และ เอกสารการสมัคร สามารถคลิกได้ ที่นี่​

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า K-Expert