ก่อนหน้านี้ เราต่างตั้งตารอปี 2023 ด้วยความหวังว่าจะเป็นปีที่สดใสขึ้นบ้างสำหรับการลงทุน หลังจากที่เห็นเงินเฟ้อค่อยๆ ปรับตัวลงในช่วงปลายปี 2022 ธนาคารกลางทั่วโลกชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมไปถึงการประกาศยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์และเปิดประเทศของจีน แต่กระนั้น ก็ยังเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้อยู่ในการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ นั่นก็คือ วิกฤตสภาพคล่องในสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และยุโรป ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา จึงทำให้เส้นทางการลงทุนของปี 2023 ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่หวังไว้
แน่นอนว่าวิกฤตสภาพคล่องส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน จึงเกิดการเร่งถอนเงิน ทำให้เม็ดเงินไหลออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารทั้งระบบ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก และผู้ฝากเงินหันไปลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงิน มากไปกว่านั้น ธนาคารพาณิชย์เองก็ระมัดระวังเรื่องการจัดการสภาพคล่องและเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น นำมาสู่ภาวะตลาดการเงินที่ตึงตัวขึ้น ซึ่งจะกดดันทั้งภาพรวมเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนให้ชะลอตัวลงได้ในระยะข้างหน้า
ในทางกลับกัน ตลาดการเงินที่ตึงตัวประกอบกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยล่าสุดเงินเฟ้อ Core PCE ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED ใช้พิจารณาเพื่อดำเนินนโยบายการเงิน เพิ่มขึ้นเพียง +4.6% เมื่อเทียบปีต่อปี และลดลงจากเดือนก่อนหน้า ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนคาดการณ์ว่า FED จะไม่ขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในช่วงไตรมาส 3 (อ้างอิงจาก FED Fund Futures วันที่ 4 เมษายน)
ในขณะที่ FED ยังส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในเดือนพฤษภาคม สู่ระดับสูงสุดที่ 5.1% แต่ทั้งนี้ ก็มีความเสี่ยงที่เพิ่มเข้าใหม่คือราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอาจจะผลักดันให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นได้ หลังสมาชิก OPEC+ ประกาศลดการผลิตลงกว่า 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นประมาณ 1% ของความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลก ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงสิ้นปี
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุนในช่วงที่ผ่านมา นำมาสู่ 3 กลยุทธ์การลงทุนรับไตรมาส 2 ดังนี้
- เพิ่มน้ำหนักลงทุนในตราสารหนี้ ที่ได้ประโยชน์โดยตรงจากการที่การขึ้นดอกเบี้ยของ FED เข้าใกล้จุดสูงสุด จากข้อมูลอดีตพบว่าบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ 10 ปีจะแตะจุดสูงสุด “ก่อน" การขึ้นดอกเบี้ยครั้งสุดท้ายราว 1 เดือน นอกจากนั้นด้วยบอนด์ยีลด์ที่ปรับสูงขึ้นก่อนหน้านี้ตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายทำให้ผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยน่าสนใจ และอาจได้ปัจจัยบวกด้านราคาเพิ่ม หากอัตราดอกเบี้ยลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น นักลงทุนควรกระจายลงทุนในตราสารหนี้หลายประเภททั่วโลก เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชนทั้งระดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment grade) และผลตอบแทนสูง (High Yield) รวมทั้งตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) เป็นต้น
- ลงทุนในหุ้นจีนที่เศรษฐกิจเติบโตโดดเด่น เมื่อเทียบกับสหรัฐฯ และยุโรป โดยตัวเลขทั้งภาคบริการและการผลิตขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ทางการจีนมีเครื่องมือเสริมสภาพคล่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างครบมือ นอกจากนั้น ยังมีข่าวดีจากบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ Alibaba ที่ประกาศปรับโครงสร้างแบ่งบริษัทเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ เปิดทางให้ระดมทุนได้เพิ่มเติม สะท้อนการผ่อนคลายจากรัฐบาลอย่างชัดเจน
- กระจายการลงทุนผ่านสินทรัพย์ทางเลือก อย่าง Hedge Funds ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือ ไม่เคลื่อนไหวตามตลาดหุ้นและตราสารหนี้ จึงช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโดยรวมได้เป็นอย่างดี กลยุทธ์ Hedge Fund ที่น่าสนใจ ได้แก่ (1) การใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์ประมวลผลข้อมูลต่างๆ เพื่อตัดสินใจซื้อ (Long) และขาย (Short) หุ้นอย่างรวดเร็ว สามารถทำกำไรได้ทั้งตลาดขาขึ้นและขาลง (2) การลงทุนในสัญญาฟิวเจอร์ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงในสกุลเงินหลักต่างประเทศ ผ่านการวิเคราะห์รอบด้าน ทั้งอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงของแต่ละประเทศ ตลอดจนการเคลื่อนไหวของเงินทุน
เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นได้เสมออย่างที่เราเคยเผชิญตลอดช่วงที่ผ่านมา ทั้งสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในปี 2018 โรคระบาดโควิด-19 ช่วงต้นปี 2020 สงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2022 ในระยะข้างหน้าก็อาจจะมีเหตุการณ์อื่นนอกเหนือจากวิกฤตสภาพคล่องในภาคธนาคาร ดังนั้นการกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ พร้อมทั้งถือเงินสดไว้บางส่วนจึงยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการลงทุนในทุกสถานการณ์
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
สรุป
การกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ พร้อมทั้งถือเงินสดไว้บางส่วนจึงยังคงเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการลงทุนในทุกสถานการณ์