เริ่มต้นปีได้เพียง 1 เดือนกว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นกันถ้วนหน้า ดัชนี MSCI All Country World Index ปรับขึ้นราว 8% นำโดยดัชนี NASDAQ ของสหรัฐฯ ที่ประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยีเป็นหลัก พุ่งขึ้นถึงเกือบ 14% หลังจากปีที่แล้วดิ่งลงแรงกว่า -30% ยิ่งไปกว่านั้นกองทุน ARK Innovation Fund ที่เน้นลงทุนหุ้นนวัตกรรมยุคใหม่ที่เคยทำนักลงทุนเจ็บอย่างหนักในปีที่แล้ว พุ่งขึ้นกว่า 30% เป็นที่เรียบร้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2023) ย่อมทำให้เกิดคำถามในใจนักลงทุนว่า ถึงเวลาที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นแล้วหรือยัง ? การตอบคำถามนั้นคงต้องย้อนกลับไปทบทวนถึงปัจจัยกดดันหุ้นในปีที่แล้วว่าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
ประเด็นแรกคงหนีไม่พ้นการขึ้นดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่เคยขึ้นดอกเบี้ยแรง 0.75% กว่า 4 ครั้งติดต่อกัน แต่ในปีนี้ FED จะขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่ช้าลงอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากการประชุมครั้งล่าสุดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา FED ขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% และตลาดคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 5.25% ภายในครึ่งปีแรก และ FED จะคงดอกเบี้ยอีกระยะหนึ่ง ก่อนจะมีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในช่วงปลายปี เนื่องจากตัวเลขเงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลงตลอดปี 2023 จากราคาสินค้าที่ปรับลงแรง โดยเฉพาะราคาอาหารและพลังงาน ส่วนราคาภาคการบริการจะค่อยๆ ปรับลง
ประเด็นถัดมาคือความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย หากพิจารณาจากตัวเลข Composite PMI เดือนมกราคม ที่ใช้เป็นดัชนีชี้นำกิจกรรมเศรษฐกิจของประเทศหลัก ออกมาในเกณฑ์ขยายตัว โดยเฉพาะภาคบริการ หนุนจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เริ่มคลี่คลายและการกลับมาเปิดประเทศของจีนที่เร็วกกว่าคาด นอกจากนั้นเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP โลกปีนี้ขึ้นเป็น 2.9% YoY จากที่เคยประเมินไว้ที่ 2.7% ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของประเทศหลักๆ เช่น สหรัฐฯ ขึ้นเป็น 1.4% จาก 1.0% ยูโรโซนเป็น 0.7% จาก 0.5% และคาด GDP จีนที่ 5.2% จาก 4.4% ทั้งหมดนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในปีนี้ได้ลดลงแล้ว
เมื่อปัจจัยกดดันต่างๆ เริ่มคลี่คลาย จึงมองว่าเป็นโอกาสที่จะทยอยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น ให้มีสถานะเป็นกลางมากขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านี้ค่อนข้างระมัดระวัง เนื่องจากบอนด์ยีลด์และดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีแนวโน้มเข้าใกล้จุดสูงสุด ลดความกดดันต่อตลาดหุ้น โดยแนะนำกลยุทธ์การลงทุน ดังนี้
1) กองทุนรวมหุ้นโลกที่เน้นลงทุนในหุ้นพื้นฐานดี มีศักยภาพการเติบโตได้ดีในระยะยาว เช่น กลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทที่มีแนวโน้มเติบโตดีอยู่ จะเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจแก่นักลงทุนอีกครั้ง หลังจากที่ราคาหุ้นดิ่งลงแรงก่อนหน้านี้ถูกกดดันจากภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้มูลค่าปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ รวมถึงกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ ที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ และเทรนด์การรักสุขภาพ ซึ่งถือเป็นกระแสหลักของโลก นอกจากนั้นยังแนะนำลงทุนในบริษัทที่มีบทบาทในการลดหรือควบคุมอุณหภูมิโลกซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของนานาประเทศ
2) กองทุนรวมหุ้นจีน โดยการเปิดประเทศทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว สังเกตได้จากอัตราการคมนาคมในช่วงต้นปี 2023 ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง นอกจากนั้นทางการจีนยังคงดำเนินนโยบายการเงินและการคลังแบบผ่อนคลาย รวมถึงนโยบายควบคุมหลายกลุ่มอุตสาหกรรมที่เคยสร้างปัญหาก่อนหน้านี้ก็ถูกผ่อนคลายลง ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน และหนุนผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน รวมไปถึงราคาหุ้นให้เติบโตได้โดดเด่นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยแนะนำเน้นลงทุนหุ้นจีนที่จดทะเบียนในจีนแผ่นดินใหญ่ (A-Shares) ที่ปรับตัวขึ้นมาช้ากว่าหุ้นจีนที่จดทะเบียนในฮ่องกง (H-Shares) ในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงจะได้รับผลประโยชน์จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนในระยะยาว อีกทั้งยังมีความเสี่ยงต่ำกว่า หากเศรษฐกิจโลกเผชิญภาวะถดถอย
แม้สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นจนเหมาะสมที่จะเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มได้ แต่ด้วยความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่เสมอ จึงยังแนะนำถือเงินสดบางส่วน เพื่อรอลงทุนหุ้นเพิ่มเติมในอนาคต และยังคงแนะนำกระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนโดยรวมของพอร์ต
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ