Sign In

KBank Private Banking
02-8888811

Market updates

หุ้นกลุ่มไหนจะรอด…เมื่อเงินเฟ้อพุ่งสู่จุดสูงสุด

17 มิถุนายน 2565

​​​​​​

เงินเฟ้อไม่เพียงเป็นศัตรูต่อเงินในกระเป๋าที่ทำให้กำลังซื้อลดลงเท่านั้น แต่ยังเป็นอุปสรรคในการบริหารนโยบายการเงินของธนาคารกลาง ซึ่งจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ย แม้เศรษฐกิจอาจจะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ และที่สำคัญคือทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน กดดันต่อมายังราคาหุ้น ทำให้ตอนนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เข้าสู่สภาวะ Bear Market คือ ดัชนี S&P500 ปรับลดลงมากกว่า 20% จากจุดสูงสุดแล้ว

ล่าสุดเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังเดินหน้าทำจุดสถิติสูงสุดใหม่ในรอบ 40 ปี ที่ 8.6% เมื่อเทียบปีต่อปี และเงินเฟ้อสูงไม่ได้เกิดขึ้นกับราคาพลังงานและอาหารเท่านั้น แต่ยังกระจายไปในสินค้าและบริการเกือบทุกหมวด รวมไปถึงค่าเช่าบ้านด้วย ทำให้ในการประชุมครั้งล่าสุด (14-15 มิถุนายน) ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ตามตลาดคาด นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดตั้งแต่ปี 1994 และส่งสัญญาณขึ้นอีกทั้งหมด 1.75% ในการประชุมช่วงที่เหลือของปีนี้ ทำให้ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 อยู่ที่ระดับ 3.4% (อ้างอิง Median FED Dot Plot จากการประชุมเดือนมิถุนายน) สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 1.9% ในเดือนมีนาคม

ด้านยูโรโซน เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ก็ทำจุดสูงสุดใหม่เช่นเดียวกันที่ระดับ 8.1% ส่งผลต่อการเปลี่ยนทิศการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยจากการประชุมครั้งล่าสุด ECB มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุติการอัดฉีดสภาพคล่องผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฏาคม และส่งสัญญาณจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมครั้งถัดไป พร้อมระบุว่าอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่มากขึ้นในการประชุมเดือนกันยายน หากเงินเฟ้อสูงกว่าที่คาด ถือเป็นการปิดฉากยุคดอกเบี้ยติดลบที่กินเวลายาวนานถึง 8 ปี (อ้างอิง Deposit facility คือ อัตราดอกเบี้ยเงินสํารองของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้กับ ECB) 

ไม่ใช่แค่ในต่างประเทศเท่านั้นที่เผชิญกับเงินเฟ้อสูง ในไทยเองก็เจอกับปัญหาเดียวกัน โดยเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ที่ 7.1% และนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเงินเฟ้อไทยจะยังไม่ใช่จุดสูงสุด โดยมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อ เพราะนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพจากรัฐบาลจะค่อยๆ หมดไป ประกอบกับฐานราคาที่ต่ำช่วงไตรมาส 3 ปีที่แล้ว ในช่วงที่ไทยเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด สายพันธุ์เดลต้า ทำให้ในการประชุม คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ครั้งล่าสุด มีคณะกรรมการถึง 3 ท่าน จาก 7 ท่านมีความเห็นให้ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ต่างจากความเห็นในการประชุมครั้งก่อนๆ ที่มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ในภาวะเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยเป็นขาขึ้นทั่วโลกเช่นนี้ ย่อมเป็นปัจจัยกดดันต่อตลาดหุ้น การคัดเลือกหุ้นที่มีคุณภาพ ฐานะการเงินแข็งแกร่ง และที่สำคัญคือผลดำเนินงานไม่อ่อนไหวตามเงินเฟ้อ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยหุ้นที่คาดว่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่

หุ้นของบริษัทที่สามารถส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภคได้ ผ่านการขึ้นราคาสินค้าและบริการ อำนาจในการกำหนดราคา หรือ Pricing power นี้ เกิดขึ้นได้จากการที่บริษัทนั้นมีสินค้าหรือบริการที่มีความแตกต่าง เป็นผู้นำในอุตสาหกรรม หรือมีนวัตกรรมที่โดดเด่น ทำให้รักษาความสามารถทำกำไรไว้ได้ 

อีกหนึ่งกลุ่มที่จะได้ประโยชน์ ก็คือ หุ้นของบริษัทที่มีส่วนร่วมในการลดหรือควบคุมอุณหภูมิโลก ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของนานาประเทศ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่นำมาสู่การคว่ำบาตรการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นกว่า 60% ตั้งแต่ต้นปี ทำให้หลายประเทศเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม หรือพลังงานชีวมวล ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานแล้ว ยังมีส่วนในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อีกทางหนึ่ง โดยล่าสุด กลุ่มยูโรโซนที่ถือเป็นผู้นำในด้านนี้ ได้ออกนโยบายห้ามขายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันตั้งแต่ปี 2035 เพื่อเร่งการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้เร็วขึ้น

แม้ว่าราคาหุ้นดังกล่าวจะปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดในช่วงนี้ แต่ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง และศักยภาพในการเติบโต จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนได้ในระยะยาว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ



แนะนำหน้าที่เกี่ยวข้อง

Investment Advisory