ตั้งแต่ต้นปี 2023 แม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะสร้างผลตอบแทนได้น่าพอใจ หลังเผชิญกับความท้าทายในปีที่แล้ว โดยเฉพาะหุ้นสหรัฐฯ ที่ดัชนี S&P500 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นราว 19% ตั้งแต่ต้นปี แต่หากเจาะลึกลงไป จะพบว่าเป็นการปรับขึ้นอย่างไม่ทั่วถึง เนื่องจากผลตอบแทนถูกขับเคลื่อนโดยหุ้น 7 นางฟ้า หรือ Magnificent 7 ที่ประกอบด้วยหุ้นเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ 7 บริษัท เช่น Apple, Amazon, Microsoft และ Nvidia ที่ตั้งแต่ต้นปี ราคาพุ่งขึ้นโดยเฉลี่ยสูงกว่า 100% ในขณะที่หุ้นขนาดกลาง-เล็ก ราคาปรับขึ้นเพียง 2-5% เท่านั้น (ข้อมูล ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน)
ในปีหน้า สภาพแวดล้อมทางการเงินจะเอื้อต่อการลงทุนในหุ้นมากขึ้น ดอกเบี้ยที่เคยเป็นศัตรูตัวสำคัญ กำลังจะเปลี่ยนทิศ คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้เสร็จสิ้นวัฎจักรการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว และมีโอกาสลดดอกเบี้ยในครึ่งหลังของปี 2024 หลังเงินเฟ้อชะลอตัวลงจากจุดสูงสุดช่วงกลางปีที่แล้วอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือนของสหรัฐฯ ก็ออกมาในทิศทางที่อ่อนแรงลง ทั้งในภาคอุตสาหกรรม การบริการ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนบรรยากาศการจ้างงาน จากข้อมูลในอดีตพบว่า หลังจากที่ FED หยุดขึ้นดอกเบี้ย ตลาดหุ้นทุกประเทศให้ผลตอบแทนเป็นบวกในช่วงเวลา 12 เดือนหลังจากนั้น
แม้ว่าดอกเบี้ยที่มีโอกาสปรับลดลงจะเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในหุ้นโดยรวมมากขึ้น แต่ดอกเบี้ยจะไม่ได้ลดลงเข้าใกล้ 0% ดังเช่นยุคก่อนโควิด-19 ด้านเงินเฟ้อเอง แม้ว่าจะลดลงเข้าใกล้เป้าหมายของธนาคารกลาง แต่ก็ยังเพิ่มต้นทุนของธุรกิจ ทั้งในแง่ของค่าสินค้าและค่าจ้างพนักงาน ดังนั้นการคัดเลือกหุ้นยังเป็นเงื่อนไขสำคัญ ควรเลือกหุ้นของบริษัทที่ฐานะการเงินแข็งแกร่ง มีความสามารถในการแข่งขัน สามารถรองรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และที่สำคัญด้วยราคาหุ้นที่เริ่มปรับเพิ่มขึ้นมาบ้างแล้วในปี 2023 การเลือกลงทุนจึงต้องคำนึงถึงระดับราคา (Valuation) ประกอบกับศักยภาพการเติบโตในระยะยาวที่โดดเด่น แนะนำลงทุนในหุ้น 3 กลุ่ม รับปี 2024 ดังนี้
1. หุ้นโลกกลุ่มเติบโตสูงหรือหุ้น Growth ที่ราคาปรับตัวลงแรงในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2022 ในระยะข้างหน้าเมื่อดอกเบี้ยผ่านจุดสูงสุดและมีโอกาสปรับลง ย่อมเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาหุ้นกลุ่มนี้ปรับเพิ่มขึ้นได้ แนะนำหุ้นในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจล้อไปกับกระแสหลักของโลก ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มเทคโนโลยี ธุรกิจการบริโภคออนไลน์ ธุรกิจด้านการแพทย์และการดูแลสุขภาพ รวมถึงบริษัทที่มีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นเป้าหมายหลักของนานาประเทศ
2. หุ้น Laggards หรือหุ้นที่ราคาปรับตัวลงแรงสวนทางหุ้นทั่วโลกจากปัจจัยในประเทศ อย่างหุ้นจีนและหุ้นไทย โดยเศรษฐกิจจีนชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา กดดันจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศและความกังวลในภาคอสังหาริมทรัพย์ แต่ทางการจีนก็ได้ทยอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน
ด้านหุ้นไทยเองก็ถูกกดดันจากความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงก่อนเลือกตั้ง และความกังวลเรื่องฐานะการคลังจากนโยบาย Digital Wallet แต่คาดว่านโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ที่สนับสนุนการบริโภคและเร่งฟื้นฟูการท่องเที่ยวจะช่วยหนุนเศรษฐกิจและหุ้นไทยให้ฟื้นตัวกลับมาได้ในปีหน้า นอกจากนั้นมูลค่าหรือ Valuation ของทั้งหุ้นจีนและหุ้นไทยอยู่ในระดับถูกกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต
3. หุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เช่น หุ้นเวียดนาม ที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดี หนุนจากการบริโภคในประเทศที่มีกำลังจากซื้อจากประชากรจำนวนมาก อีกทั้งยังเป็นฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมของโลก ส่วนประเด็นที่เคยกดดันหุ้นเวียดนามก่อนหน้านี้ก็มีพัฒนาการดีขึ้น ทั้งเรื่องสภาพคล่องในภาคอสังหาริมทรัพย์ และหนี้เสียในภาคธนาคาร ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือ รวมถึงวิกฤตขาดแคลนพลังงาน ทางรัฐบาลก็ได้อนุมัติแผนพัฒนาพลังงานเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบ
ด้วยบริบทของทิศทางดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบกับการเฟ้นหาหุ้นผ่านปัจจัยรอบด้าน คาดว่าหุ้น 3 กลุ่มข้างต้น จะเป็นขุมทรัพย์ลงทุนที่ช่วยขับเคลื่อนผลตอบแทนของพอร์ตได้ในปีหน้า
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ