K WEALTH / บทความ / Wealth Management / เตรียมรับมือกับการเข้ามาของ Cryptocurrency ในชีวิตประจำวัน
14 ธันวาคม 2564
3 นาที

เตรียมรับมือกับการเข้ามาของ Cryptocurrency ในชีวิตประจำวัน


          

​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​​“ ​

• เมื่อ Cryptocurrency เข้ามาใช้ในชีวิตประจำวัน จนใช้ซื้อสินค้าหรือบริการอย่างกาแฟได้สักแก้ว อาจเห็นราคากาแฟในแต่ละวันขึ้นลงได้ 2%-3% เป็นเรื่องปกติ แบบไม่ต้องรอเงินเฟ้อสิ้นปี 


• ใช้ Cryptocurrency เพื่อใช้จ่าย ควรแบ่งเงินให้เหมาะสม อย่าให้รายได้ส่วนใหญ่ที่ได้มา ลดลงไปจากอัตราแลกเปลี่ยนแทนที่จะถูกนำไปใช้จ่ายหรือลงทุน 


• ใครที่มีการใช้จ่ายต่างประเทศบ่อยๆ หรือชาวต่างชาติที่อยากนำเงินมาใช้จ่ายในไทย Cryptocurrency เป็นหนึ่งทางเลือก ในการบริหารเงินและต้นทุนการโอนหรือแปลงสกุลเงินได้

​“


          เมื่อพูดถึง Cryptocurrency หรือสกุลเงินดิจิทัล หลายคนมักนึกถึงการลงทุนของคนยุคใหม่ แต่ Cryptocurrency ยังถูกนำไปใช้ในเรื่องอื่นด้วย อย่างโอนเงินข้ามประเทศหรือชำระสินค้าและบริการ ทำให้ Cryptocurrency เป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเข้ามาทุกที การเตรียมรับมือกับการเข้ามาของ Cryptocurrency ในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

Cryptocurrency ใช้ทำอะไร นอกจากลงทุน​​​​​​​

​​​​​​​​​​​​​​

          • โอนเงินไปต่างประเทศ: ด้วยสกุลเงิน Cryptocurrency ผ่าน Crypto Wallet โดยใช้เวลาไม่กี่นาทีหรือวินาที โดยหากไม่มี Cryptocurrency อยู่ก็ต้องทำการซื้อก่อนแล้วค่อยโอนไป ส่วนปลายทางเมื่อได้รับแล้วก็สามารถขายเพื่อแปลงเป็นสกุลเงินท้องถิ่นได้ 

          • ชำระสินค้าและบริการ: ประเทศไทยก่อนหน้าก็มีทำได้บ้างแล้ว แต่เพิ่งเริ่มมีข่าวและได้รับความสนใจช่วงปลายปี 64 เพราะมีหลายภาคธุรกิจเริ่มประกาศใช้หรือทดลองใช้อย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ตาม แม้ร้านค้าหรือผู้ให้บริการบางแห่งเปิดรับชำระเงินด้วย Cryptocurrency แต่ปัจจุบันธนาคารแห่งประเทศไทย (ข่าว ธปท. 90/2564 ณ 1 ธ.ค. 64) ยังไม่สนับสนุนให้ชำระสินค้าหรือบริการด้วย Cryptocurrency โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการกำกับดูแลการให้บริการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมูลค่า Cryptocurrency มีความผันผวนสูง อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือถูกใช้เพื่อฟอกเงิน แต่แน่นอนว่าเมื่อกระแสเทคโนโลยีกำลังมาก็ไม่แปลกที่หลายๆ คน จะอยากลองเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ที่ว่าใช้อย่างไรให้ความเสี่ยงอยู่ในวงจำกัดที่เรายอมรับได้​​​​

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อ Cryptocurrency เข้ามา​​​​​​​

​​​​​​​​​​​​​​

         การชำระเงินด้วย Cryptocurrency ก็คล้ายกับการสแกน QR Code ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เพียงแต่เปลี่ยนจากสแกนด้วย Mobile Banking เป็นสแกนด้วย Crypto Wallet ส่วนต้องชำระด้วย Cryptocurrency จำนวนเท่าไรก็ขึ้นกับราคาสินค้าและมูลค่าของ Cryptocurrency ณ ตอนนั้น (เสมือนอัตราแลกเปลี่ยน) ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้แบบ Real Time ตัวอย่างเช่น คนที่ดื่มกาแฟวันละ 3 แก้ว ในวันที่ 9 ธ.ค. 64 กาแฟราคาแก้วละ 50 บาท หากซื้อด้วย Bitcoin การซื้อกาแฟตอน 12.00 น. และ 16.00 น. จะใช้เหรียญมากกว่าที่ซื้อตอน 8.00 น. อยู่ 1.41% และ 2.45% ตามลำดับ และหากเทียบกับการซื้อเมื่อเช้าวันสุดสัปดาห์ก่อนหน้า (8.00 น. 3 ธ.ค. 64) จะเป็นการใช้เหรียญมากขึ้น 12%-16% จากตัวอย่างจะเห็นว่าคนที่ใช้ชีวิตในไทยการถือ Cryptocurrency เพื่อชำระสินค้าราคาเงินบาท ย่อมมีความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนหรือมูลค่าของเหรียญที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุด ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพิจารณาได้จากกราฟจำนวนเหรียญ Cryptocurrency ที่ในแต่ละชั่วโมงตลอด 24 ชั่วโมง ของวันที่ 9 ธ.ค. 64 หากต้องการซื้อสินค้า 

​          สำหรับชาวต่างชาติที่ต้องการนำเงินเข้ามาซื้อสินค้าในไทย โดยเฉพาะสินค้าราคาสูงอย่างคอนโดสักห้อง การโอนเงินสกุลต่างประเทศไปเป็น Cryptocurrency และโอนเข้า Crypto Wallet ที่ใช้ในไทยเพื่อซื้อคอนโดที่รองรับ Cryptocurrency ก็ถือว่าได้ประโยชน์ในแง่ต้นทุนค่าธรรมเนียมการโอนเงิน แต่ก็ยังคงมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ ส่วนจะมากน้อยก็ขึ้นกับช่วงเวลาที่พักเงินไว้ใน Cryptocurrency


อยู่กับความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน Cryptocurrency อย่างไร​​​​​​​

​​​​​​​​​​​​​​

          เราจะไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเลยหาก (1) เงินเก็บ (2) รายจ่าย และ (3) รายได้ ของเราอยู่ในสกุลเงินเดียวกัน ซึ่งรายได้จากการทำงานของคนทั่วไปมักเป็นสกุลเงินบาท แต่หากเลือกเก็บเงินใน Crypto Wallet หรือชำระค่าสินค้าด้วย Cryptocurrency ก็ต้องรู้ว่ากำลังนำเงินของเราไปเผชิญกับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน 

          ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานและพักอาศัยอยู่ในไทย ซื้อคอนโด​สักห้องราคา 5 ล้านบาท ไม่ว่าจะซื้อวันนี้หรือรอหาข้อมูลอีกสัก 1-2 วัน ราคาก็คงไม่ต่างกัน และถือว่าไม่ช้าจนเกินไป หากไม่มีคนอื่นมาตัดหน้าซื้อห้องที่อยากได้ไปเสียก่อน 

          แต่หากตั้งใจใช้ Bitcoin ซื้อคอนโดนี้ การซื้อวันที่ 9 พ.ย. 64 ซึ่งมูลค่า Bitcoin อยู่ที่เหรียญละ 2.236 ล้านบาท ต้องใช้ 2.24 เหรียญ แต่หากปล่อยเวลาล่วงเลยไปแล้วตัดสินใจซื้อวันที่ 9 ธ.ค. 64 ซึ่งมูลค่า Bitcoin ต่ำลงอยู่ที่เหรียญละ 1.655 ล้านบาท ทำให้ต้องใช้ 3.02 เหรียญ หรือใช้จำนวนเหรียญมากขึ้น 35.11% เท่ากับว่าต้องซื้อคอนโดในราคาที่แพงขึ้น ทั้งที่หากชำระด้วยสกุลเงินบาทราคาก็ยังคงอยู่ที่ 5 ล้านบาทเท่าเดิม ​​​​

ใช้ Cryptocurrency ในชีวิตประจำวันอย่างไรให้มีความสุข ​​​

​​​​​​​​​​​​​​

          ต้องยอมรับว่าการใช้ Cryptocurrency ได้รับความนิยมมากขึ้น การเรียนรู้ เพื่อเพิ่มความพร้อมในการใช้งานไปพร้อมๆ กับการเติบโตของ Cryptocurrency จึงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเริ่มจากสร้างความสมดุลของ Cryptocurrency ทั้ง 3 องค์ประกอบ ได้แก่ เงินเก็บ รายจ่าย และรายได้ 

          • เงินเก็บ เป็นองค์ประกอบที่เริ่มได้ง่ายที่สุด เพราะปัจจุบันมี Crypto Wallet และ Platform ให้เลือกอยู่หลายที่ ซึ่งควรเลือกใช้ Platform ที่น่าเชื่อถือหรืออย่างน้อยอยู่ในรายชื่อที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น การลงทุนหรือซื้อขาย ที่แม้ไม่เกี่ยวข้องกับการชำระหรือโอนเงินโดยตรงก็ตาม เช่น BITKUB, Satang Pro, Zipmex, Bitazza เป็นต้น ที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และ/หรือ ใบอนุญาตนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล จาก ก.ล.ต. 

          • รายจ่าย ที่มีร้านค้าและผู้ให้บริการหลายที่ เริ่มรับชำระด้วย Cryptocurrency แล้ว เช่น เดอะมอลล์ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ อินทนิลคอฟฟี่ โรงภาพยนตร์เมเจอร์ บ้าน/คอนโดของ แสนสิริ อนันดา เป็นต้น โดยมีแนวโน้มการใช้เพิ่มมากขึ้น เหมือนการชำระค่าสินค้าด้วย QR Code ที่ช่วงแรกๆ คนยังไม่คุ้นชินและยังมีร้านค้าไม่มาก แต่ปัจจุบันแทบทุกร้านค้าแม้แต่ร้านเล็กๆ ตามแหล่งชุมชนก็รับ QR Code แล้ว ซึ่งอนาคตของ Cryptocurrency ก็อาจไม่ต่างกัน 

           • รายได้ ถือเป็นองค์ประกอบที่เปลี่ยนยากที่สุด เช่น พนักงานประจำการรับรายได้ด้วย Cryptocurrency ต้องขึ้นกับนโยบายนายจ้างซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้ สำหรับคนทำธุรกิจส่วนตัวหรืออาชีพอิสระก็ต้องขึ้นกับคู่สัญญา ซึ่งปัจจุบันมีดารานักแสดงบางคน ประกาศรับค่าจ้างด้วย Cryptocurrency บ้างแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมหรือความสมัครใจของผู้จ้างด้วยเช่นกัน 

          เมื่อการใช้จ่ายในประเทศที่เราอาศัยอยู่ยังคงใช้สกุลเงินบาทเป็นหลัก การจะนำ Cryptocurrency มาใช้จึงต้องแบ่งสัดส่วนให้ดี โดยควรมีเงินใน Crypto Wallet สักหลักพันบาท เพื่อแค่ให้เพียงพอกับการชำระค่าสินค้าในชีวิตประจำวัน หรือหากต้องการทำกำไรจาก Cryptocurrency ซึ่งเป็นทางเลือกที่ให้กำไรสูงในบางช่วงเวลา แต่ก็ขาดทุนมหาศาลได้ชั่วข้ามคืน การแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนให้เหมาะสมจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อโอกาสรับผลตอบแทนที่หลากหลายแม้ในช่วงที่บางสินทรัพย์ อย่าง Cryptocurrency จะขาดทุนก็ตาม ​​​​​
​​


บทความโดย K WEALTH GURU ราชันย์ ตันติจินดา (CFP®)
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

YouTrip กระเป๋าเงินดิจิทัลรองรับหลายสกุลเงินต่างประเทศเพื่อการเดินทาง​

ดูเพิ่มเติม

​เปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์​

ดูเพิ่มเติม