K WEALTH / บทความ / Market Update / ประเด็นร้อน : ส่องปัจจัยที่ทำให้ "กองทุนตปท." แตะบวกช่วงนี้
19 กรกฎาคม 2565
2 นาที

ประเด็นร้อน : ส่องปัจจัยที่ทำให้ "กองทุนตปท." แตะบวกช่วงนี้


​​​“

18 ก.ค. 65 กองทุนต่างประเทศหลายกองทุนปรับตัวบวก จากหลากหลายข่าวในภูมิภาคต่างๆ โดยกองทุนต่างประเทศที่ปรับตัวบวก ซึ่งคาดว่าจะสะท้อนใน NAV ของกองทุนต่างๆ ณ 18 ก.ค. 65 (ประกาศคืนวันที่ 19 ก.ค.) เช่น



• กองทุนหลักของ K-USA (US Advantage) ปรับตัวขึ้น +6.05%เทียบกับวันก่อนหน้า และ +13.62%เทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า ส่วนกองทุนหลักของ K-CHANGE​ (Baill​​ie Gifford Positive Change) ปรับตัวขึ้น +10.15%เทียบกับช่วงเดียวกันของเดือนก่อนหน้า 

• กองทุนหลักของ K-EUROPE (Allianz Europe Equity Growth) ปรับตัวขึ้น +3.07%เทียบกับวันก่อนหน้า 

• กองทุนหลักของ K-OIL (Invesco DB Oil) ปรับตัวขึ้น +3.85%เทียบกับวันก่อนหน้า 

• สำหรับกลุ่มหุ้นจีนและเอเชีย ดัชนี HSCEI ของจีนปรับตัวขึ้น +3.03%เทียบกับวันก่อนหน้า ส่วนกองทุน Morgan Stanley Investment Funds Asia Opportunity ซึ่งกองทุน K-ASIACV มีการลงทุนในสัดส่วน 66.9% (ณ 31 พ.ค. 65) ปรับตัวขึ้น +3.61%เทียบกับวันก่อนหน้า



ทำไมกองทุนถึงปรับตัวบวก


1) กองทุนหลักของ K-USA

     ​• ราคา NAV ของกองทุน US Advantage วันที่ 18 ก.ค. ปรับตัวขึ้น +6.05%เทียบกับวันก่อนหน้า ซึ่งโดดเด่นกว่ากองทุนต่างประเทศอื่นๆ ในวันเดียวกัน และสวนทางกับดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงประมาณ -0.6% ถึง -0.8% จากการประกาศผลประกอบการของ Bank of America ที่ออกมาดีกว่าคาด ช่วยทำให้ภาพรวมของตลาดและความเชื่อมั่นของนักลงทุนดีขึ้น ประกอบกับตลาดหุ้นได้ตอบรับข่าวแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ไปมากพอสมควรแล้ว 

     • จึงเกิดแรงเก็งกำไรระยะสั้นในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ราคาปรับตัวลงมาลึกมาก โดยหุ้นในพอร์ตกองทุนหลักที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่น ได้แก่ Coinbase +9.07%, Cloudflare +4.79%, Unity Software +4.66%, Uber +4.2%, Shopify +4.06% เทียบกับวันก่อนหน้า 

     • FED อาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.75% จากเดิมที่ตลาดคาดไว้ที่ 1% โดยรายงาน CME Fed Watch ล่าสุดสะท้อนนักลงทุนที่ประเมินว่า FED มีโอกาส 69% ที่จะตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมวันที่ 27 ก.ค. นี้ ซึ่งลดลงจากก่อนหน้านี้ที่นักลงทุนส่วนใหญ่เกินกว่า 80% เชื่อว่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% เพื่อสกัดเงินเฟ้อ โดยในช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ FED ได้ออกมาชี้แจงว่า FED มีแนวโน้มขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.75% เท่านั้น


2) กองทุนหลักของ K-EUROPE

     • ยุโรปและอาเซอร์ไบจาน มีการลงนาม MOU ทำให้อาเซอร์ไบจานจะมีการเพิ่มการส่งออกก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปมากขึ้นกว่า 2 เท่า ช่วยลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ยุโรป • โดยหุ้นกลุ่มเหมืองแร่ปรับตัวขึ้น +3% ตามมาด้วยหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซปรับตัวขึ้น +2.8% และกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้น +2.1% ตามลำดับ

     • ประกอบกับที่ตลาดคลายความกังวลเรื่องที่ FED อาจไม่ได้ขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1% จึงส่งผลดีต่อตลาดหุ้นยุโรปเช่นกัน


3) กองทุนหลักของ K-OIL

     • สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ส่งมอบเดือน ส.ค. ปรับตัวสูงขึ้น 5.01 ดอลลาร์ หรือ 5.1% ปิดที่ 102.60 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งเป็นระดับปิดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. จากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์ รวมทั้งการคาดการณ์ที่ว่า FED จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ 

     • ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือน ก.ย. ปรับตัวสูงขึ้น 5.11 ดอลลาร์ หรือ 5.1% เช่นกัน


4) หุ้นกลุ่มจีนและเอเชีย

     • จากการที่คณะกรรมการกำกับดูแลการธนาคารและประกันภัยของจีน (CBIRC) เรียกร้องให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน สนับสนุนด้านการกู้ยืมเงินแก่บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ที่มีคุณภาพ เพื่อให้ดำเนินการโครงการอสังหาฯ ให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ผู้ซื้อพากันหยุดจ่ายสินเชื่อบ้านกว่า 100 โครงการ ในกว่า 50 เมือง อีกทั้งธนาคารกลางจีนยังได้มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 สัปดาห์ด้วย



ปัจจัยที่ต้องติดตามและระมัดระวัง


ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

     • แม้หุ้นกลุ่มธนาคารรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ทั้งในด้านรายได้และกำไร แต่กำไรในไตรมาส 2 ปรับตัว -32%เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากมีการตั้งสำรองเพิ่มมากขึ้น ส่วนรายได้ขยายตัวได้ +5.6% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ 

      • ในสัปดาห์นี้จะเริ่มเห็นการรายงานผลประกอบการจากหลายบริษัทที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุน เช่น Johnson & Johnson, Netflix, Tesla, United Airlines, Snap, Twitter หรือ Verizon ซึ่งหากการรายงานผลประกอบการออกมาดีกว่าคาด ก็จะช่วยทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจต่อภาวะตลาดมากขึ้น ในทางกลับกันหากผลประกอบการออกมาไม่ดีก็จะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เผชิญกับแรงกดดันเพิ่มเติมก่อนหน้าการประชุม FED สัปดาห์หน้า 

     • อีกทั้งนักวิเคราะห์ในตลาดเชื่อว่าสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นในระยะ 12-24 เดือนข้างหน้า ซึ่งนักลงทุนควรติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด


ตลาดหุ้นจีน

     • อาจมีความเสี่ยงที่จีนกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ก.ค. ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 510 ราย หลังเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ก.ค. มีตัวเลขที่ 580 ราย สูงที่สุดตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.



คำแนะนำการลงทุน

     ● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นจีน อยู่ แนะนำถือลงทุนต่อ ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มสามารถทยอยลงทุนเพิ่มได้ แต่ควรเป็นเงินที่สามารถลงทุนระยะยาวได้ เนื่องจากตลาดหุ้นจีนยังคงมีความผันผวนจากมาตรการล็อกดาวน์และสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ 

     ● ผู้ที่ถือกองทุนหุ้นสหรัฐฯ อยู่ แนะนำให้ถือต่อและประเมินสถานการณ์ตลาดอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่มยังไม่แนะนำให้ลงทุนตอนนี้ ควรรอประเมินสถานการณ์ก่อน แม้ราคากองทุนหุ้นสหรัฐฯ จะปรับตัวลงทุนมากเมื่อเทียบกับต้นปีก็ตาม 

     ● ผู้ที่ถือกองทุนน้ำมัน อยู่ ไม่แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม โดยอาจพิจารณาขายคืนหากมีกำไร ส่วนผู้ที่ต้องการลงทุนเพิ่ม ไม่แนะนำให้ลงทุน

     ● สำหรับผู้ที่ยังกังวลกับความผันผวนของตลาดหุ้น แนะนำพักเงินในกองทุน K-CASH เพื่อรอจังหวะเข้าลงทุนอีกครั้ง 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก KAsset, Infoquest 


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”




บทความโดย K WEALTH TRAINER
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง สะเทือนสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก
ประเด็นร้อน : ไตรมาส 2 ปี 65 เศรษฐกิจจีนเติบโตต่ำกว่าคาด
ตลาดผันผวน ปัจจัยเสี่ยง เทคนิค Rebalance ช่วยได้