K WEALTH / บทความ / Wealth Management / เช็กลิสต์วางแผนภาษีกลางปี ที่ร้านค้าออนไลน์ต้องรู้!
24 มิถุนายน 2565
4 นาที

เช็กลิสต์วางแผนภาษีกลางปี ที่ร้านค้าออนไลน์ต้องรู้!


​​​“

● แม่ค้าขายของออนไลน์ และ Youtuber ที่มีรายได้จากการโฆษณา เป็นเงินได้ประเภท 40(8) ส่วนการโชว์ตัว หรือการรีวิวสินค้า จะต้องมีต้นทุนที่สูงกว่า เช่น ทีมงานที่เป็นลูกจ้าง มีการจัดตั้งสำนักงาน เป็นต้น จึงจะเข้าข่ายเงินได้ประเภท 40(8) และต้องยื่นเงินได้กลางปี (เงินได้ที่เกิดตั้งแต่ 1 ม.ค.- 30 มิ.ย.) ภายใน 30 ก.ย. ของทุกปี


● 3 เทคนิควางแผนภาษี เรียงจากความยากไปง่าย คือ 1) การเปลี่ยนประเภทเงินได้ ซึ่งต้องให้เข้าข่ายตามคำจำกัดความของประเภทเงินได้ 2) แบ่งเงินได้ตามปีภาษี แทนที่จะรับเงินครั้งเดียวเมื่องานเสร็จ และ 3) วางแผนเพิ่มค่าลดหย่อนการออมการลงทุน เช่น กองทุนลดหย่อนภาษี (SSF / RMF) ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบำนาญ เป็นต้น


● วางแผนภาษีกลางปีด้วยค่าลดหย่อนการออมและการลงทุน สามารถใช้สิทธิได้ตามจริง แต่สิทธิสูงสุดไม่เกินสิทธิทั้งปีภาษี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีกลางปี



ก่อนหน้านี้ในช่วงปี 2562 มีการออกกฎหมายเรื่อง e-Payment ทำให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ตื่นตัวในเรื่องของภาษีเป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าต้องเข้าระบบภาษีโดยตรง ไม่ว่าจะในรูปแบบบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล โดยในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ ถือเป็นเดือนสุดท้ายของการวางแผนภาษีกลางปี สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา บทความนี้จะช่วยให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ เข้าใจการวางแผนและยื่นภาษีกลางปี สำหรับเงินได้ประเภท 40(5)-(8) ได้มากขึ้น



ขายของออนไลน์มีหลายแบบ ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีกลางปี

ประเภทเงินได้พึงประเมินที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์ที่มีรายได้ในนามบุคคลธรรมดา ส่วนใหญ่มักเป็นเงินได้ 40(8) ซึ่งเป็นภาษาของกรมสรรพากร โดยแบ่งได้ 3 ลักษณะหลัก ดังนี้


1) ขายของออนไลน์ในลักษณะซื้อมาขายไป

ในนามบุคคลธรรมดา เงินได้จากการขายของดังกล่าว จะถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ที่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ 2 รูปแบบ คือ แบบเหมาจ่าย (60% จากเงินได้) ไม่ต้องเตรียมหลักฐานเพื่อหักค่าใช้จ่าย หรือแบบตามจริง โดยต้องเตรียมหลักฐานว่าเป็นต้นทุนในขายของออนไลน์อย่างไร ซึ่งอาจจะมากหรือน้อยกว่า 60% ของเงินได้ก็ได้


2) รายได้จากโฆษณา

มักจะเป็นรายได้มาจากการเป็น Youtuber หรือ Content Creator ผ่าน YouTube ที่ได้รับรายได้จากโฆษณาก่อนดู Content หรือ Youtuber ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก จะมีรายได้จากยอด View และยอดผู้ติดตาม (Follower) จะถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) เช่นกัน เพียงแต่หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่านั้น จึงต้องเตรียมหลักฐานต้นทุนในการสร้าง Content ประกอบการหักค่าใช้จ่ายด้วย


3) การรีวิวสินค้า

รวมไปถึงการโชว์ตัว ที่มีต้นทุนสูง เช่น อุปกรณ์ในการรีวิว หรือการโชว์ตัว เป็นต้น มีสำนักงาน เสมือนเป็นการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา รวมไปถึง มีลูกจ้าง เช่น มีการจ่ายเงินเดือน จ่ายเงินสมทบประกันสังคมให้ลูกจ้าง เป็นต้น จะถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ที่หักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่านั้น โดยต้องเตรียมหลักฐานค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนในการทำงานไว้ด้วย


รายได้ทั้ง 3 ลักษณะ ถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ที่นอกจากต้องยืนภาษีสิ้นปีแล้ว ยังต้องมีการยื่นภาษีกลางปีด้วย โดยเป็นการยื่นรายการเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่ 1 ม.ค. – 30 มิ.ย. มีกำหนดยื่นแบบกลางปี (แบบ ภ.ง.ด. 94) ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.- 30 ก.ย. ของปีเดียวกัน



วางแผนภาษีแล้ว จะได้อะไร

สำหรับการวางแผนภาษีครึ่งปี จะมี 3 แนวทาง เรียงจากทำได้ยากไปหาง่าย ดังนี้ 1. เปลี่ยนประเภทเงินได้ เสียภาษีต่างกันเท่าไหร่ เปรียบเทียบระหว่างการรีวิวสินค้า ที่ใช้แรงงานตัวเองต้นทุนไม่สูง หรือเรียกว่าจ้างให้รีวิวงานแบบง่ายๆ ถือเป็นเงินได้ประเภท 40(2) ที่หักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50%ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท กับการรีวิวสินค้า แบบที่มีทีมงานช่วยและจัดตั้งเป็นสำนักงาน ที่ถือเป็นเงินได้ประเภท 40(8) ที่สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง

จะเห็นว่า เงินได้เท่ากัน แต่ประเภทเงินได้ มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายได้ไม่เหมือนกัน เนื่องจากต้นทุนงานและวิธีในการหักค่าใช้จ่ายที่ต่างกัน เป็นสาเหตุให้เสียภาษีไม่เท่ากัน ซึ่งการเปลี่ยนประเภทเงินได้ต้องวางแผนตั้งแต่ต้นปี และมีองค์ประกอบเข้าคำจำกัดความของประเภทเงินได้ 


2. แบ่งเงินตามปีภาษี เสียภาษีต่างกันเท่าไหร่

เปรียบเทียบระหว่างการรีวิวสินค้า มีสัญญา 2 ปี แล้วรับเงินครั้งเดียวเมื่อหมดสัญญา กับการกระจายรับเงินทั้ง 2 ปีภาษี จะมีการเสียภาษี(เต็มปีภาษี)ตามตารางดังนี้

จะเห็นว่า การกระจายรับเงินได้ 2 ปีภาษี จะช่วยให้เสียภาษีน้อยลง ซึ่งรวมเป็นเงิน 43,000 บาท เทียบกับ รับรายได้ปีเดียว ที่ต้องเสียภาษี 103,000 บาท แต่ต้องบอกว่าการปรับเปลี่ยนการรับเงินได้เพื่อยื่นภาษีครึ่งปีนี้คงปรับเปลี่ยนได้ยาก แต่อาจเลือกปรับเปลี่ยนการรับเงินได้ในช่วงครึ่งปีหลังได้ เพราะโอกาสในการรับเงินในครึ่งปีแรก จะเหลืออีกไม่กี่วัน กลยุทธ์นี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่ต้องวางแผนล่วงหน้าสักนิดนึง


3. เลือกใช้สิทธิเพิ่มเติมด้วยค่าลดหย่อนการออมและการลงทุน เสียภาษีต่างกันเท่าไหร่

เปรียบเทียบระหว่าง ใช้ VS ไม่ใช้ค่าลดหย่อน เสียภาษีต่างกันเท่าไหร่ เพื่อให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจน ขอเปรียบเทียบระหว่างกรณีไม่วางแผน เทียบกับวางแผน แบบเงินได้เต็มปีภาษีก่อน

จะเห็นว่าการวางแผนภาษีด้วยเพิ่มค่าลดหย่อนการออมและการลงทุนจะช่วยให้ประหยัดภาษีได้ แต่ที่ง่ายกว่านั้น ในการยื่นภาษีกลางปี (Column ขวาสุด) ค่าลดหย่อนต่างๆ จะแปรผันตามสัดส่วนเวลา 50% ในขณะที่ค่าลดหย่อนจากการออมและการลงทุน มีสิทธิหักค่าลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินสิทธิซื้อสูงสุดทั้งปี เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีที่จะต้องชำระกลางปี อย่างไรก็ตาม เมื่อครบปีภาษี จะต้องยื่นภาษีจากเงินได้ทั้งปีอีกครั้ง ซึ่งจะสามารถนำภาษีที่ยื่นครึ่งปีมาเป็นภาษีที่จ่ายล่วงหน้าได้ เมื่อหักลบแล้วตอนสิ้นปีอาจมีการจ่ายภาษีเพิ่มหรือขอภาษีคืนก็ได้ เป็นต้น



คำแนะนำสำหรับการเพิ่มค่าลดหย่อนการออมและการลงทุน


1. เช็กค่าลดหย่อนส่วนตัว และสถานภาพ

เช่น ค่าลดหย่อนคู่สมรส ค่าเลี้ยงดูบุพการี ค่าลดหย่อนบุตร เพื่อประเมินภาษีที่ต้องชำระ หากยังไม่เพียงพอจึงมาสำรวจข้อถัดไป


2. เช็กค่าลดหย่อนการออมการลงทุน

กรณีที่เคยลดหย่อนการออมการลงทุนมาก่อน ให้เริ่มเช็กจากที่มีเงื่อนไขซื้อต่อเนื่องและจำนวนเงินที่คงที่ อย่างเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันบำนาญ และต่อด้วยเงื่อนไขที่ต้องซื้อต่อเนื่อง แต่ไม่ระบุจำนวนเงิน เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และ ไม่มีเงื่อนไขต้องซื้อต่อเนื่อง อย่าง กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF)


กรณีไม่เคยลดหย่อนภาษีจากการออมการลงทุนมาก่อนหรือมีรายได้ไม่แน่นอน แนะนำเริ่มจากค่าลดหย่อนที่ยืดหยุ่น เช่น กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และเลือกกองทุนตามระดับความเสี่ยงของการลงทุน หรือค่าลดหย่อนที่เน้นความคุ้มครอง และได้เงินคืนตามแบบกรมธรรม์ อย่างประกันชีวิต หรือค่าลดหย่อนเน้นค่ารักษาพยาบาล อย่างประกันสุขภาพของตัวเอง เป็นต้น


นอกจากการลดหย่อนภาษีด้วยการบรรเทาภาระภาษีกลางปี ในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย. นี้ การใช้ประโยชน์จากการออมการลงทุนหรือสภาพคล่องที่จะมีสิทธิขายได้ตามเงื่อนไขทางภาษีเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเพื่อให้ค่าลดหย่อนเหมาะสมกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ หรือ Youtuber เพื่อให้ได้ประโยชน์ 2 ต่อ ทั้งเรื่องลดหย่อนภาษีและใช้เงินเพื่อลงทุนหรือประกัน ซึ่งไม่เพียงแต่ลดหย่อนภาษี แต่การเข้าระบบภาษีและเสียภาษีให้ถูกต้อง นอกจากไม่ได้เสียภาษีสูงอย่างที่คิดแล้วยังสามารถนำรายได้ที่ยื่นภาษีมาเป็นส่วนหนึ่งของการอ้างอิงรายได้ตนเองเพื่อใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ในอนาคตได้ด้วย 


Disclaimer: “ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน”




บทความโดย K WEALTH TRAINER สุนิติ ถนัดวณิชย์ CFP®
KBank LIVE
 

ติดตามข่าวสารการเงินจาก
K WEALTH ฟรี!

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

ผลิตภัณฑ์ที่แนะนำ

​ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ​​

ดูเพิ่มเติม