13 มิ.ย. 62

ภาษี e-Payment ที่แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

​​​​​​​​​​​​​​ภาษี e-Payment ที่แม่ค้าออนไลน์ต้องรู้


          กฎหมายภาษี e-Payment (ภาษีอีเพย์เมนต์) หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ.2562 ได้มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2562 เป็นต้นไป ซึ่งทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจมากขึ้นโดยฉพาะคนที่ขายของออนไลน์หรือแม้กระทั่งคนที่ทำธุรกรรมการเงินเป็นประจำ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะถูกรายงานข้อมูลให้กรมสรรพากร เรามาดูกันว่าพรบ.นี้มีรายละเอียดอย่างไร และส่งผลกระทบอะไรบ้าง


          หน่วยงานหรือสถาบันการเงินใด (ที่เราใช้บริการ) มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลบ้าง?
          หน่วยงานที่ว่า ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมไปถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ เช่น e-Wallet เป็นต้น  หน่วยงานเหล่านี้มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขให้กรมสรรพากรทราบ โดยธุรกรรมที่ว่าคือรายการ “ฝากหรือรับโอน” ที่ในแต่ละปีเข้าเงื่อนไขว่า  

          - ฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 3,000 ครั้งขึ้นไป หรือ

          - ฝากหรือรับโอนตั้งแต่ 400 ครั้งขึ้นไป โดยมียอดรวมทั้งปี 2 ล้านบาทขึ้นไป

          โดยธุรกรรมที่ว่าไม่ใช่แค่เพียงการ ฝาก-รับโอนเงิน เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการรับเงินปันผลหรือดอกเบี้ยอีกด้วย ดังนั้น ยอดเงินที่หน่วยงานต่างๆ ส่งไปนั้นเป็นเพียงเพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบข้อมูลเท่านั้น ไม่ใช่ว่า การฝากหรือรับโอน ทุกรายการจะถือว่าเป็นรายได้ของผู้ที่มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีนั้นเสมอไป โดยหน่วยงานที่ว่านั้นจะเริ่มส่งข้อมูลครั้งแรกจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 21 มีนาคม – 31 ธันวาคม 2562 ให้กรมสรรพากรภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563

          เจ้าของบัญชี ได้รับผลกระทบอย่างไร?
          หลายๆ คนมองว่า กฎหมายฉบับนี้ส่งผลให้ผู้มีรายได้ที่รับเงินผ่านธุรกรรมการโอนเงินต้องเสียภาษีมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้วกฎหมายฉบับนี้เป็นเพียงการจัดส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรเท่านั้น หากเดิมทีผู้มีรายได้มีการยื่นภาษีได้ถูกต้องอยู่แล้วกฎหมายฉบับนี้ก็แทบจะไม่ส่งผลกระทบใดๆ เลย แต่หากเดิมเป็นผู้ที่หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี ทั้งๆ ที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าควรยื่นภาษีแต่ไม่ยื่น กฎหมายฉบับนี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้กรมสรรพากรตรวจสอบข้อมูลได้ง่ายขึ้น ซึ่งแม้ไม่มีกฎหมายฉบับนี้กรมสรรพากรก็อาจมีเครื่องมืออื่นในการตรวจสอบข้อมูลได้เช่นกัน

          ดังนั้น คนที่มีรายได้จากการขายของออนไลน์หรือรับจ้างทั่วไป ทั้งที่ทำอาชีพหลักหรืออาชีพเสริมนอกเหนือจากงานประจำ การศึกษาหาความรู้เรื่องภาษีและเริ่มต้นยื่นภาษีให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่ควรรีบดำเนินการ ไม่ว่าบัญชีธนาคารของตนเองจะมีธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขต้องถูกส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรหรือไม่ก็ตาม เพราะแม้วันนี้อาจไม่เข้าเงื่อนไข แต่เมื่ออาชีพหรือธุรกิจที่ทำอยู่ได้เติบโตขึ้น สักวันหนึ่งก็ต้องถึงวันที่ข้อมูลนั้นต้องถูกส่งให้กรมสรรพากรอยู่ดี

          เตรียมตัวอย่างไร?
          เมื่อรู้ตัวแล้วว่าต้องยื่นภาษี สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการยื่นภาษี ได้แก่

          1. ต้องรู้ว่ายื่นภาษีตอนไหน
          คนทั่วไปโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือนมักคุ้นเคยกับการยื่นภาษีสิ้นปีในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ด้วยแบบ ภ.ง.ด.91 อยู่แล้ว แต่เมื่อมีรายได้อื่นๆ เพิ่มมา เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ซึ่งถือเป็นรายได้ 40(8) จะมีการยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องปีละ 2 ครั้งด้วยได้แก่ (1) ยื่นภาษีสิ้นปีด้วยแบบ ภ.ง.ด.90 ในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค. ถัดจากปีที่มีรายได้ แทนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 แบบเดิม โดยการยื่นสิ้นปีนี้ต้องนำรายได้ทั้งหมดที่ได้รับตลอดปี ไม่ว่าจะเป็น เงินเดือน โบนัส และรายได้จากการขายของออนไลน์ ไปยื่นพร้อมกัน และ (2) ยื่นภาษีกลางปีด้วยแบบ ภ.ง.ด.94 ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ในปีเดียวกับที่มีรายได้ โดยเป็นการนำรายได้ที่เกิดขึ้นเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกไปยื่นภาษีก่อน (สิ้นปีต้องยื่นรวมกับรายได้ทั้งปีอีกครั้งด้วยแบบ ภ.ง.ด.90) แต่จะยื่นเฉพาะรายได้ 40(5) – 40(8) เช่น รายได้จากการขายของออนไลน์ ฯลฯ โดยไม่ต้องนำรายได้ 40(1) – 40(4) เช่น เงินเดือนหรือโบนัสที่ถือเป็นรายได้ 40(1) มายื่นภาษีกลางปี
          2. ต้องเก็บเอกสารการค้าและธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้อง 
          เพราะการนำรายได้จากการขายของออนไลน์ไปยื่นภาษีสามารถเลือก (1) หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ได้โดยไม่ต้องแสดงหลักฐานค่าใช้จ่ายใดๆ หรือ (2) หักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง โดยต้องแสดงหลักฐานเอกสารค่าใช้จ่ายที่เป็นค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการขายของออนไลน์นั้นๆ ดังนั้น หากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสูงกว่า 60% ของรายได้ และมีหลักฐานประกอบ ก็สามารถรวบรวมเอกสารดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงตอนยื่นภาษีได้

          หากใครมีรายได้สูงจนเริ่มมีภาระเอกสารตามมา การใช้บริการสำนักงานบัญชีหรือจ้างคนทำบัญชี ที่อาจมีค่าใช้จ่ายบ้างก็อาจเป็นตัวช่วยที่ดีหากบริการนั้นคุ้มค่ากับเงินที่ต้องจ่ายเพิ่ม

          การเลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาหรือตามจริงที่ว่า นอกจากใช้กับรายได้จากการขายของออนไลน์แล้ว ยังใช้ได้กับรายได้อื่นที่เป็น 40(5) – 40(8) ด้วย

          3. ต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้ชัดเจน
          เพราะรายได้หรือค่าใช้จ่ายบางอย่าง ก็ไม่ได้เอกสารในทันที บางรายการอาจต้องรอสิ้นปีถึงได้เอกสารรวมทีเดียว หรือบางรายการก็ไม่มีเอกสารให้ ดังนั้น นอกจากต้องรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังต้องจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ที่เกิดขึ้นจริงทุกครั้ง เพื่ออย่างน้อยจะได้ทราบสถานะการเงินที่แท้จริงของตนเอง รวมไปถึงการนำรายได้ไปยื่นภาษีนั้นไม่ใช่การยื่นเฉพาะรายได้ที่มีหลักฐานเท่านั้น แต่ต้องนำรายได้ทั้งหมดที่ได้รับ ไม่ว่าจะมีหลักฐานหรือไม่ก็ตามไปยื่นภาษีกลางปีและสิ้นปีด้วย
          
          การจดรายรับ-รายจ่าย อาจเลือกจดเฉพาะรายการที่เป็นเงินสดก็ได้ ส่วนรายการที่เป็นการทำธุรกิจอาจใช้วิธีการเรียกดูรายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลังแล้วจึงค่อยบันทึกว่า แต่ละยอดเงินในแต่ละวันและเวลานั้น เป็นยอดรายรับ-รายจ่าย อะไรบ้าง และเพื่อให้การทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย เป็นเรื่องที่ง่ายยิ่งขึ้น ควรแยกบัญชีธนาคารเพื่อใช้ส่วนตัวและเพื่อทำธุรกิจออนไลน์ออกจากกัน

          กฎหมายภาษี e-Payment (ภาษีอีเพย์เมนต์) นั้นไม่ใช่เรื่องน่าตกใจหรือยุ่งยากอีกต่อไป ถ้าเรามีการทำบัญชีรับจ่ายเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในส่วนของคนที่ทำการค้าออนไลน์เป็นอาชีพเสริม อาจจะต้องกลับมาศึกษาเงื่อนไขของภาษีและการยื่นภาษีที่ต้องทำเพิ่มขึ้นจากเดิมเพื่อการยื่นภาษีให้ถูกต้อง เพื่อให้การจัดการรายรับ-รายจ่าย รวมไปถึงต้นทุนต่างๆ อย่างต้นทุนภาษีมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง


ให้คะแนนบทความ

ปณิดา ถีนานนท์

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย