11 ก.ค. 59

ภาษีครึ่งปีลดได้ แค่รู้จักวางแผน

คะแนนเฉลี่ย

ภาษี

ภาษีครึ่งปีลดได้ แค่รู้จักวางแผน 


“วางแผนภาษีครึ่งปีตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยลดภาระภาษีจ่ายลง” 
– K-Expert -

          เผลอแป๊บเดียวก็ผ่านพ้นไปแล้วครึ่งปี เพื่อนๆ คนไหนมีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีก็อย่าทำงานเพลินจนลืมนึกถึงเรื่องนี้ไปนะคะ เพราะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปีเป็นช่วงที่เราต้องยื่นแบบภ.ง.ด.94 หรือแบบแสดงรายได้ช่วงครึ่งปีนั่นเองค่ะ หลายคนสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายต้องยื่นภาษีครึ่งปีกับเขาด้วยไหม ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี รวมถึงการลดหย่อนภาษีครึ่งปีต่างจากแบบเต็มปีหรือไม่ และเราจะวางแผนอย่างไรเพื่อลดภาษีครึ่งปี K-Expert มีคำตอบในเรื่องนี้มาฝากค่ะ

ใครบ้างที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปี
          คนที่มีหน้าที่ยื่นภาษีครึ่งปีก็คือ คนที่มีรายได้ตามมาตรา 40(5)-(8) ซึ่งรายได้ในแต่ละมาตรามีรายละเอียดดังนี้ค่ะ 
               • รายได้มาตรา 40(5) เป็นรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สินต่างๆ เช่น บ้าน ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น
               • รายได้มาตรา 40(6) เป็นรายได้จากวิชาชีพอิสระ เช่น รายได้จากการรับทำบัญชี ค่าว่าความของทนายความ รายได้จากการรักษาคนไข้ของคุณหมอ 
          ค่าออกแบบของสถาปนิก ค่าที่ปรึกษาของวิศวกร เป็นต้น
               • รายได้มาตรา 40(7) เป็นรายได้จากการรับเหมาที่เราต้องจัดหาสัมภาระที่สำคัญนอกเหนือจากเครื่องมือมาเอง
               • รายได้มาตรา 40(8) เป็นรายได้ที่นอกเหนือจากรายได้มาตรา 40(1)-(7) เช่น รายได้จากการเป็นนักแสดง ดารา รายได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ รายได้จากการทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา เป็นต้น

          รายได้ตามมาตรา 40(5)-(8) ที่เราได้รับมาในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนนั้น จะต้องนำมายื่นแบบภ.ง.ด.94 โดยจะยื่นกันในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนของทุกปี ทั้งนี้ หากใครเบี้ยวไม่จ่ายภาษีก็จะมีบทลงโทษเป็นเงินส่วนเพิ่ม 1.5% ของภาษีที่ค้างจ่าย โดยคิดเป็นรายเดือน และยังมีโทษปรับอีกไม่เกิน 2,000 บาทด้วยล่ะค่ะ

ลดหย่อนครึ่งปีต่างจากเต็มปีหรือไม่ อย่างไร
          การใช้สิทธิลดหย่อนภาษีในช่วงครึ่งปีต่างจากการใช้สิทธิแบบเต็มปีอย่างแน่นอนค่ะ ซึ่งสามารถแบ่งรูปแบบการลดหย่อนภาษีได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ
          1. ลดหย่อนได้ครึ่งเดียวจากการใช้สิทธิแบบเต็มปี โดยค่าลดหย่อนในกลุ่มนี้เป็นค่าลดหย่อนที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองและครอบครัว ได้แก่
               • ลดหย่อนส่วนตัวผู้มีรายได้หรือคู่สมรสที่ไม่มีรายได้ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)
               • ลดหย่อนบุตร คนละ 7,500 บาท (เต็มปี 15,000 บาท) หากลูกศึกษาในประเทศ ไม่เกิน 3 คน คนละ 8,500 บาท (เต็มปี 17,000 บาท)
               • ลดหย่อนบิดามารดา ท่านละ 15,000 บาท (เต็มปี 30,000 บาท)

          2. ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยอดลดหย่อนสูงสุดจะน้อยกว่าแบบเต็มปี ซึ่งเราจะเจอการลดหย่อนแบบนี้จากการใช้ค่าเบี้ยประกันชีวิตและดอกเบี้ยบ้านมาลดหย่อนภาษี โดยสามารถใช้สิทธิได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 95,000 บาท ซึ่งจะน้อยกว่าแบบเต็มปีที่สามารถใช้สิทธิได้สูงสุดที่ 100,000 บาทค่ะ 

          3. ลดหย่อนได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก และยอดลดหย่อนสูงสุดเท่ากับแบบเต็มปี ซึ่งค่าลดหย่อนที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้ได้แก่
               • ค่าซื้อกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท
               • ค่าซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท
               • ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 15% ของรายได้ในช่วงครึ่งปีแรกที่ต้องเสียภาษี และไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ
              • สำหรับปีภาษี 2559 นี้ ยังสามารถนำค่าอาหารและเครื่องดื่มที่จ่ายให้กับร้านอาหาร ค่าแพ็คเกจทัวร์ และค่าที่พักโรงแรมในไทยที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มในช่วงวันที่ 9-17 เมษายน 2559 มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท รวมถึงนำค่าซื้อแพ็คเกจทัวร์หรือค่าที่พักโรงแรมในไทย
ซึ่งต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่เกิดขึ้นจริงในช่วงครึ่งปีแรกมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทค่ะ 

วางแผนอย่างไรเพื่อลดภาษีครึ่งปี
          การวางแผนเพื่อลดภาษีครึ่งปี เราสามารถใช้กองทุน LTF และ RMF มาเป็นตัวช่วยลดหย่อนภาษีได้ค่ะ โดยยอดเงินลงทุนที่เราไปซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนกลุ่มนี้ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงกลางปีสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดตามที่จ่ายจริงในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งจะช่วยลดภาระภาษีของเราไปได้พอสมควรเลยค่ะ แต่หากเรายังไม่ได้ลงทุนซื้อกองทุน LTF และ RMF เพราะมัวแต่รอลงทุนในช่วงปลายปี แบบนี้ก็จะไม่สามารถนำมาช่วยลดหย่อนภาษีครึ่งปีได้เลยล่ะค่ะ
 
 
ยื่นภาษีครึ่งปีแล้ว ภาษีแบบเต็มปีต้องยื่นอย่างไร
          เรื่องนี้ไม่ได้ยุ่งยากเลยค่ะ สำหรับการยื่นภาษีแบบเต็มปีในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคมนั้น ให้นำรายได้ ค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนของทั้งปีมายื่นในแบบภ.ง.ด.90 โดยรายได้ที่นำมายื่นจะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นทั้งหมด 40(1)-(8) ซึ่งรวมถึงรายได้ที่เราได้ยื่นไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรกด้วย ในส่วนของภาษีที่เราได้จ่ายไปในช่วงครึ่งปีก็ให้นำมาแสดงในแบบภ.ง.ด.90 ด้วย เพื่อให้กรมสรรพากรรู้ว่า เราเสียภาษีไปแล้วเป็นเงินเท่าไรนั่นเองค่ะ
 ​
          หากรู้แล้วว่า เราเป็นคนหนึ่งที่ต้องยื่นภาษีครึ่งปีก็อย่าลืมทำหน้าที่ของตัวเองภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้นะคะ และที่สำคัญคือ ควรวางแผนภาษีครึ่งปีตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อช่วยลดภาระภาษีจ่าย และทำให้เรามีเงินเหลือมากขึ้นนั่นเองค่ะ


ให้คะแนนบทความ

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า

ธนาคารกสิกรไทย