12 มิ.ย. 62

3 ข้อต้องคิด ก่อนให้เงินปลิวออกจากกระเป๋า

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน

​​3 ข้อต้องคิด ก่อนให้เงินปลิวออกจากกระเป๋า​


          เคยไหม อยู่ดีๆ ก็เกิดคิดขึ้นมาได้ว่า “ไม่น่าซื้อของชิ้นนี้มาเลย” หรือ “รู้อย่างนี้ ซื้ออีกรุ่นดีกว่า” แล้วเคยย้อนกลับมาทบทวนไหมว่า ที่ผ่านมาความคิดแบบนี้ผุดขึ้นมาแล้วกี่ครั้ง และทำไมถึงได้ผุดขึ้นมา... K-Expert บอกได้เลยว่าเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความคิดนี้เกิดขึ้นคือ การตัดสินใจควักเงินจากกระเป๋าของคนส่วนใหญ่แต่ละครั้งมักเกิดจาก “ความอยากได้” บ่อยกว่า “ความจำเป็น” 


          ยกตัวอย่างเช่น การซื้อรถยนต์สักคันหนึ่ง ตอนเริ่มวางแผนซื้อก็มักมีโจทย์แค่ว่าใช้เดินทางไปทำงาน มีผู้โดยสาร 2-3 คน ถ้าประหยัดน้ำมันด้วยก็ดี แต่พอหาข้อมูลรถรุ่นต่างๆ ไปได้สักพัก ก็เริ่มทยอยมีโจทย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สีรถต้องเด็ด เบาะรถต้องหนัง กล้องมองหลังต้องใช้ เซ็นเซอร์เตือนการชนต้องมี เป็นต้น ทั้งที่ของเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในโจทย์ก่อนหน้านี้เลย


          เพื่อให้เงินทุกบาทที่กำลังจะปลิวออกจากกระเป๋าถูกนำไปใช้อย่างคุ้มค่า และไม่ให้เกิดความเสียดายภายหลัง ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ ควรตั้งคำถามและตอบตนเองให้ได้อย่างน้อย 3 คำถาม ได้แก่ 



1. จำเป็นไหม?  
          • นี่เป็นคำถามแรกที่ต้องตอบให้ได้ เพราะถือเป็นด่านแรกที่จะช่วยคัดกรองว่าควรซื้อสินค้านี้หรือไม่ ซึ่งคำถามที่ว่าควรถามตนเองมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าควรซื้อสินค้านั้นจริงๆ เช่น
               • หากไม่ซื้อ กระทบการใช้ชีวิตแค่ไหน? >> เพื่อให้เห็นภาพ ลองยกตัวอย่างการซื้อรถยนต์สักคัน แน่นอนว่าการมีรถย่อมทำให้ชีวิตการเดินทางไปทำงานหรือไปเที่ยววันหยุดมีความสะดวกสบาย แต่ก็ต้องถามตนเองกลับด้วยว่า การไม่มีรถคันนี้ทำให้ชีวิตลำบากถึงขั้นไปทำงานไม่ได้หรือขาดความปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่ ถ้าคำตอบคือ ลำบากแต่ไม่มาก เช่น แค่ตื่นนอนเร็วขึ้น เสียเวลารอรถไฟฟ้าหรือรถเมล์บ้าง ฯลฯ รถยนต์ก็อาจยังไม่ใช่สิ่งจำเป็น ณ ตอนนี้ 
               • ก่อนหน้านี้ก็ไม่มี แล้วใช้ชีวิตอย่างไร? >> อาจเป็นคำถามที่ดูดุดันไปสักหน่อย แต่ถือว่าเป็นคำถามที่ดึงสติของเราได้ดี เช่น ถ้าการไม่ได้ขับรถไปทำงานชีวิตจะลำบาก แล้วก่อนหน้านี้ทำไมถึงยังไปทำงานได้ ตกลงความลำบากที่ว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงข้ออ้างให้ตนเองรู้สึกดี เมื่อจ่ายเงินซื้อรถกันแน่
               • มีแล้ว ชีวิตดีขึ้นอย่างไร? >> ถ้ารถยนต์มีความจำเป็นจริง อย่างน้อยที่สุดก็ต้องทำให้ชีวิตเราดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ตอนนี้ คำถามคือ การมีรถคันนี้ทำให้ชีวิตประจำวันดีขึ้นจริงๆ หรือเป็นแค่อารมณ์อยากได้ชั่ววูบ เพราะเพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่ขับรถไปทำงานกันแน่ 


2. ทดแทนได้หรือไม่?  
          • จริงอยู่ว่าของที่กำลังตัดสินใจซื้ออาจมีความจำเป็น แต่ก็ใช่ว่าไม่มีทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่าหรือทดแทนได้ ตัวอย่างรถยนต์ข้างต้น
               • มีของอย่างอื่นที่มีลักษณะใกล้เคียงกันไหม? >> รถยนต์นั้นมีหลายยี่ห้อ หลายรุ่น ไม่จำเป็นต้องเป็นรุ่นที่เรากำลังดูอยู่เสมอไป การเลือกรถรุ่นต่ำลงมาหน่อย หรือยี่ห้ออื่นที่มีสเปกใกล้เคียงกัน แต่ราคาถูกกว่า ก็ช่วยให้เงินปลิวออกจากกระเป๋าน้อยลงได้
               • มีของประเภทอื่นที่ตอบความต้องการได้ไหม? >> รถยนต์เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์เรื่องการเดินทางเป็นหลัก ซึ่งยังมีสินค้าประเภทอื่น เช่น รถมอเตอร์ไซค์ ที่มีราคาถูกกว่ามาก และยังคงตอบโจทย์การเดินทางได้เช่นกัน แต่ก็ใช่ว่ามอเตอร์ไซค์สามารถทดแทนโจทย์หรือความต้องการได้เสมอไป ต้องพิจาณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย เช่น หากแต่ละวันใช้รถเพื่อเดินทางสั้นๆ โดยสารกันแค่ 1-2 คน รถมอเตอร์ไซค์ก็อาจพอเป็นสินค้าทดแทนรถยนต์ได้ แต่หากในแต่ละวันเดินทางหลายสิบกิโลเมตร ต้องเดินทางข้ามจังหวัด หรือโดยสารกันเป็นครอบครัว รถยนต์ก็ยังคงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า  
               • มีของหรือบริการอื่นที่ตอบความต้องการได้อีกไหม? >> หากความต้องการหลักคือการเดินทาง การพิจารณาบริการหรือสินค้าอื่นที่ตอบโจทย์ได้ ก็สามารถนำมาทดแทนการซื้อรถยนต์ได้ เช่น บริการรถ Taxi ในกรณีที่เน้นใช้เดินทางไปทำงานที่อยู่ไม่ไกลจากที่พัก หากลองคำนวณรวมค่ารถ Taxi ทั้งเดือนแล้วอาจพบว่า ถูกกว่าค่าผ่อนรถยนต์และไม่มีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอีกด้วย หรือการใช้บริการเช่ารถยนต์ไปสักระยะเวลาหนึ่งเพื่อทดสอบว่า หากเราต้องซื้อและขับรถอย่างนี้ทุกวัน จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นจริงหรือไม่ เช่น อาจรู้สึกเดินทางสะดวกขึ้น แต่ต้องแลกกับการตื่นเช้าเพื่อมาให้ทันที่จอดรถของที่ทำงาน รวมไปถึงมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่อาจคาดไม่ถึง เช่น ค่าที่จอดรถ ค่าทางด่วน เป็นต้น


3. รออีกหน่อยได้หรือเปล่า?
          • จำเป็นกับเร่งด่วนนั้นต่างกัน อย่างเช่น อาหารและน้ำดื่มที่คนเราต้องกินดื่มทุกวันนั้น คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิต แต่อาหารและน้ำสำหรับวันพรุ่งนี้ก็ไม่ได้ต้องรีบซื้อตั้งแต่วันนี้เสมอไป สินค้าอื่นๆ ก็เช่นกัน
          • รถยนต์ แม้ประเมินตนเองอย่างถี่ถ้วนแล้วว่ามีความจำเป็นและไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้ดีพอ การตั้งคำถามกับตนเองว่า ถ้ารออีกหน่อยจะได้ไหม รอจนกว่าเก็บเงินได้สักก้อนหรือรอโบนัสก้อนโตที่จะได้ในอีกไม่กี่เดือน มาเป็นเงินดาวน์เพื่อจะได้ขอวงเงินกู้หรือผ่อนน้อยลง โดยต้องแลกกับความลำบากในการเดินทางเหมือนอย่างที่ผ่านมา จะคุ้มค่ากับการรอคอยที่ว่าหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่ต้องตอบตนเองให้ได้ก่อนตัดสินใจซื้อเช่นกัน
          • สำหรับสินค้าอื่นๆ เช่น ของใช้ส่วนตัวที่มักมีการจัดโปรโมชัน “ลด แลก แจก แถม” กันเป็นช่วงๆ การรออีกสักหน่อย โดยของที่มีอยู่ก็ยังใช้งานได้ ก็เป็นคำถามที่ควรถามกับตนเองก่อนซื้อเช่นกัน

          คำถามทั้ง 3 ข้อ ล้วนใช้เพื่อคัดกรองความคิดว่าสิ่งที่กำลังตัดสินใจซื้อนั้นเป็นสิ่งที่เกิดจาก need (ความจำเป็น) ที่ต้องมีเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตต่อไปได้ หรือเป็นสิ่งที่เกิดจาก want (ความอยากได้) ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน ความอยากได้นั้นก็หายไป โดยไม่ได้กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันเท่าไรนัก ดังนั้น ก่อนที่จะให้เงินปลิวออกจากกระเป๋า ควรหยุดคิดและตั้งคำถามกับตนเองทุกครั้ง เพื่อให้รู้ตัวอยู่เสมอว่าเงินที่กำลังจะปลิวออกไปนั้น ถูกนำไปใช้เพื่อตอบโจทย์ need หรือ want ของตนเองกันแน่

ให้คะแนนบทความ

ราชันย์ ตันติจินดา CFP®

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย