22 ม.ค. 62

เทคนิคควบคุมรายจ่ายแบบไม่ตกยุค

คะแนนเฉลี่ย

ออมและลงทุน
​​​​เทคนิคควบคุมรายจ่ายแบบไม่ตกยุค

 
​          ทุกวันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สังคมเราได้เริ่มก้าวเข้าสู่ยุคสังคมไร้เงินสดกันแล้ว เพราะไม่ว่าจะไปไหน ใช้จ่ายเรื่องอะไรก็แทบจะไม่ต้องควักกระเป๋าหยิบเงินสดขึ้นมาจ่ายกันเลย แค่หยิบสมาร์ทโฟนรู้ใจขึ้นมาก็สามารถสแกน QR Code โอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน หรือหยิบบัตรขึ้นมาก็สามารถติ๊ดบัตร หรือรูดบัตรจ่ายได้อย่างง่ายดาย ทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายมากขึ้น แต่เมื่อจ่ายง่าย ชอปเพลิน เงินก็เลยหมดไว หลายคนจึงไม่รู้เลยว่า จริงๆ แล้ว วันๆ หนึ่งเราใช้เงินไปมากมายเท่าไร แล้วจะมีวิธีป้องกันอย่างไร K-Expert มีเทคนิคควบคุมรายจ่ายแบบไม่ตกยุคมาฝากกัน

 
​          ก่อนจะนำเงินไปใช้จ่ายอะไร เมื่อมีรายได้เข้ามา สิ่งแรกที่อยากแนะนำให้ทำก่อนเลยคือ “การออมเงินก่อนใช้” โดยแนะนำให้ ออมเงินก่อนใช้อย่างน้อย 20% ของรายได้ต่อเดือน เช่น รายได้เดือนละ 50,000 บาท ให้กันเงินมาออมก่อน 10,000 บาท โดยโอนเงินส่วนนี้แยกไปออมไว้ในอีกบัญชีหนึ่งเพื่อป้องกันการนำไปใช้ ส่วนที่เหลือค่อยนำมาใช้จ่ายตามปกติ โดยมีเทคนิคควบคุมรายจ่ายดังนี้
 
ตั้งงบประมาณการใช้จ่าย
          เงินส่วนที่จะนำมาใช้จ่ายนี้ให้เริ่มจากการ ตั้งงบประมาณการใช้จ่ายไว้ล่วงหน้า โดยรายจ่ายที่ว่านี้มีทั้งรายจ่ายคงที่และรายจ่ายผันแปร ซึ่งรายจ่ายแต่ละประเภทจะมีวิธีการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน
          • สำหรับรายจ่ายคงที่ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เป็นค่าใช้จ่ายที่เรารู้แน่นอนอยู่แล้วว่าแต่ละเดือนต้องจ่ายเท่าไร ก็ให้กันเงินส่วนนี้ออกมาเพื่อเตรียมจ่ายในแต่ละเดือน
          • นส่วนของรายจ่ายผันแปรต่างๆ เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ขนมขบเคี้ยวต่างๆ หรือค่าเครื่องดื่ม พวกชา กาแฟ แม้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ควบคุมได้ยาก แต่ใช่ว่าเราจะตั้งงบประมาณไม่ได้เลย เพราะหากใครเป็นสมาชิกร้านค้าหรือใช้บัตร   เติมเงินเป็นประจำอยู่แล้ว ก็สามารถกำหนดงบประมาณการใช้จ่ายได้ โดยแนะนำให้ เติมเงินเดือนละครั้งตามงบที่กำหนดไว้ในแต่ละเดือน และพยายามใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้งบประมาณนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้จ่ายเกิน เช่น ปกติดื่มกาแฟวันละแก้ว ราคาแก้วละ 50 บาท ก็กำหนดค่ากาแฟไว้อยู่ที่เดือนละ 1,500 บาท โดยเติมเงินในช่วงต้นเดือนเพียงครั้งเดียวจำนวน 1,500 บาท และต้องไม่เติมเงินอีกจนกว่าจะถึงต้นเดือนหน้า สำหรับค่าใช้จ่ายในเรื่องอื่นๆ ก
็สามารถตั้งงบไว้ได้เช่นเดียวกัน

 
          ทั้งนี้ หากใครใช้แอปพลิเคชันโอน/จ่ายเงินบ่อยๆ ก็สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ได้ โดยการเข้าไป ตั้งค่าวงเงินการทำรายการโอน/เติม/จ่ายต่อวันในแอปพลิเคชันทางการเงิน เพื่อช่วยจำกัดการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอีกชั้นหนึ่ง เช่น ตั้งค่ารายการโอนเงินต่อวันไว้ไม่เกิน 10,000 บาท

ตั้งค่าการแจ้งเตือนเงินเข้า/ออกบัญชี การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิ
ต หรือสมัครบริการแจ้งเตือน
          ​การตั้งงบประมาณใช้จ่ายและตั้งค่าวงเงินการทำรายการโอน/เติม/จ่ายต่อวัน อาจไม่เพียงพอในการควบคุมรายจ่ายเพราะกว่าเราจะรู้ตัวอีกทีว่าหมดเงินไปเท่าไรก็อาจจะสายเกินไป ดังนั้น ขอแนะนำให้ตั้งค่าการแจ้งเตือนเงินเข้า/ออกบัญชี และการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือสมัครบริการแจ้งเตือนต่างๆ เช่น SMS Alert, Email Alert ร่วมด้วย ซึ่งเปรียบเหมือนเลขาส่วนตัวที่จะคอยแจ้งให้เรารู้ทุกความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ของเงินในบัญชี คือรู้ว่าเงินออกจากบัญชีไปวันไหน เวลาไหน จำนวนเท่าไร และปัจจุบันเหลือเงินอยู่ในบัญชีเท่าไร เป็นการเตือนใจเราอีกครั้งว่ามีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นแล้ว
 
ตรวจสอบสรุปยอดใช้จ่ายรายเดือน​​ ​
          เทคนิคสุดท้ายคือ การตรวจสอบสรุปยอดใช้จ่ายรายเดือน ทั้งในบัญชีเงินฝากและบัตรเครดิตผ่านแอปพลิเคชัน หรือใครที่จดบันทึกรับจ่ายเป็นประจำอยู่แล้วจะตรวจสอบยอดใช้จ่ายรายเดือนผ่านบันทึกรับจ่ายของตัวเองก็ไม่ว่ากัน โดยอาจจะทำทุกๆ 10 วัน หรือทุกๆ ครึ่งเดือนก็ได้ เพื่อให้เรารู้ทุกยอดใช้จ่ายของตัวเองในแต่ละหมวดว่าอยู่ที่เท่าไร รวมทุกหมวดแล้วอยู่ที่เท่าไร และเมื่อเปรียบเทียบกับยอดใช้จ่ายเดือนก่อนหน้าแล้วพบว่ามีแนวโน้มจะมากกว่าหรือน้อยกว่า ซึ่งหากมีแนวโน้มว่าจะมากกว่าก็ให้ปรับลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง เช่น ลดค่าใช้จ่ายในการชอปปิง สังสรรค์ หรือท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดลง เพียงเท่านี้ เราก็สามารถควบคุมรายจ่ายที่จะเกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่ง

 
สรุปเทคนิคควบคุมรายจ่ายในยุคสังคมไร้เงินสด ด้วยเทคนิค 3 ต.​
1. ตั้ง งบประมาณการใช้จ่าย
2. เตือน เงินเข้า/ออกบัญชี​
3. ตรวจสอบ สรุปยอดใช้จ่ายรายเดือน

 
         สุดท้ายแล้ว เราจะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายรายเดือนได้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับวินัยการใช้เงินของแต่ละคน หากเราคิดพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจใช้จ่าย รู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็น อะไรคือสิ่งที่เราอยากได้ และสามารถยับยั้งชั่งใจ ไม่ใช้จ่ายเกินรายได้หรือเกินความสามารถในการชำระ เราก็จะสามารถบริหารจัดการเงินได้อย่างลงตัวและควบคุมรายจ่ายได้อย่างอยู่หมัด

ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง:
- เก็บก่อนใช้ ได้ดอกเบี้ยสูง มีเงินก้อนโตเมื่อครบ 24 เดือน >> บัญชีเงินฝากทวีทรัพย์ 
​- เก็บเพิ่มได้ทุกวัน(ทำการ) ผลตอบแทนมักสูงกว่าออมทรัพย์ เป็นกองทุนแรกที่น่ามี >> กองทุน K-SFPLUS​ ​

ให้คะแนนบทความ

สุวิมล ยิ่งเจริญรุ่งโรจน์ AFPT

ฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย